19 พ.ย. 2019 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
วันนี้แฉลบออกนอกเส้นเรื่องหลักกันนิดหน่อยครับ เพราะอยากพูดถึงเรือสำเภาเป็นพิเศษ ตอนเด็กๆ ผมเป็นเด็กที่ฝันอยากจะนั่งเรือสำเภาสักครั้งในชีวิต เนื่องด้วยมองเห็นพ่อตัวเองเป็นเหมือนไอดอล อยากสัมผัสประสบการณ์คล้ายๆ แบบที่พ่อเราเคยเจอ โดยเฉพาะการนั่งเรือสำเภา
ย้อนกลับไปสมัยก่อน คนจีนเริ่มเข้ามาเมืองไทยแบบจริงจังหลั่งไหลดั่งสายน้ำหลาก ก็คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณช่วงปี 2490 เป็นต้นมา ซึ่งพ่อผมเองก็ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาอยู่เมืองไทยประมาณปี พ.ศ.2491-2492 แกเล่าว่าแกมาถึงเมืองไทยตอนอายุย่าง 5-6 ขวบ
ให้ทายครับว่าอย่างแรกที่พ่อผมทำงานคือตอนอายุเท่าไหร่...
อายุเท่านั้นแหละครับ 555 พ่อผมทำหลายอย่างมาก แต่ตอนเด็กๆ อาม่าผมเอาแกไปฝากไว้กับร้านขายของชำ เพื่อให้มีรายได้เล็กๆน้อยๆ รวมถึงได้อยู่กินนอนประจำที่ร้าน แกต้องตื่นแต่เช้ามืดคือตีสามตีสี่ เพื่อเปิดช่วยเถ้าแก่เปิดร้าน รวมถึงทำความสะอาดร้าน จัดข้าวของให้เรียบร้อย ตระเตรียมน้ำร้อนน้ำชา อีกทั้งช่วยเถ้าแก่เนี้ยเตรียมสำรับอาหารอีกด้วย
ส่วนอาม่าผม ก็รับจ้างเย็บปะชุนผ้า รับจ้างทั่วไปรายวัน เช่นเดียวกันกับอายี่แปะ(ลุงคนรองของผม) สมัยก่อนค่าแรงรายวันเขาจ่ายกันเป็นหลักสตางค์กันอยู่เลย ก็ไม่รู้ว่าเขาเก็บหอมรอมริบกันลำบากขนาดไหนกว่าจะได้เงินส่งกลับไปซื้อตั๋วเรือให้อากงกับตั่วแปะผมอีกที
พ่อเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่าพวกผมโชคดีขนาดไหนที่มีสำรับอาหารพร้อมสรรพ ทั้งเนื้อสัตว์ ผัดผัก น้ำแกงน้ำซุป ครบทุกมื้อ สมัยแกมาเมืองไทยใหม่ๆ เมนูประจำบ้านเราคือ ข้าวต้ม(ซึ่งเป็นปลายข้าวสารชั้นเลวเอามาต้มน้ำเยอะๆ เข้าว่าเพื่อให้อิ่ม) ส่วนกับข้าวก็เป็นจำพวกผักกาดดอง หรือวันไหนโชคดีจับปลาในคลองได้ วันนั้นก็จะได้กินปลานึ่งกัน ซึ่งแกบอกว่าส่วนมากปลาที่ได้มาก็เป็นพวกปลาเล็กปลาน้อย นานทีปีหนถึงจะโชคดีได้ปลาสักขนาดหกเจ็ดขีดติดมือกลับบ้านมากินกัน
ช่วงฤดูแล้งจะลำบากหน่อย พ่อเล่าว่าหลังจากอากงกับกับอาตั่วแปะพี่ชายพ่อ มาถึงเมืองไทยแล้ว ก็เริ่มลำบากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่การป้องกันเรื่องการตั้งครรภ์ยังไม่เกิด ถุงยางไม่มี อะไรคือสาเหตุการตั้งท้อง คนสมัยนั้นบางคนยังไม่รู้เลยว่าเพราะเหตุใด จึงทำให้สมาชิกในบ้านขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น น้องชายพ่อตามมาอีก 3 คน น้องสาวอีก 2 คน
อย่างว่าแหละครับ วิทยุไม่มี ทีวียังไม่เกิด 555 ตกหัวค่ำก็เข้านอนกันไว จะไปมีอะไรเหลือ เด็กน้อยก็คลานตามกันออกมาวิ่งยั้วเยี้ยเลยทีนี้ ด้วยความที่อาม่ามีลูกเยอะ บางครั้งบางคราวกับข้าวที่บ้านในยามยาก จึงมีเพียงน้ำข้าวต้มปลายข้าว กินแกล้มกับกรวดก้อนใหญ่ๆ ขนาดประมาณข้อนิ้วหัวแม่มือ ต้มในน้ำเกลือ!!!
อ่า อันนี้ผมยืนยันว่าจริงนะครับ ซีเรียสเลย เพราะพ่อเล่าว่าทุกคนจะรับแจกคนละก้อนพร้อมน้ำเกลือต้มในชาม เชิญรับประทานใครรับประทานมันกันเองได้เลย ถึงแม้ละแวกบ้านจะอุดมด้วยสวนผัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปขอผักเขากินได้ฟรีๆ ครับ เขาก็ปลูกขายเหมือนกัน เงินจะซื้อกับข้าวนี่อย่าหวังให้ยากครับ ขนาดแค่ข้าวที่ใช้ต้ม พ่อผมยังต้องโกยเก็บจากพื้นมาจากที่ร้านชำที่แกทำงานอยู่เลย ซึ่งสมัยเด็กแกขี้อาย เป็นคนเก็บอารมณ์เก่ง แอบเก็บเรื่องนี้ไม่ให้เถ้าแก่รู้ ซึ่งในภายหลัง เถ้าแก่เนี้ยผู้เป็นภรรยาแกรู้เข้า ก็มักจะเจียดข้าวสารให้พ่อเอากลับบ้านอยู่บ่อยๆ แล้วหักเงินจากเงินเดือนเอาทีหลัง
ซึ่งเงินเดือนพ่อผมสมัยนั้นคือเดือนละ 10 บาท ก๋วยเตี๋ยวยุคนู้นชามละ 5-10 สตางค์อยู่เลย หน้าที่หลักๆ ก็อย่างที่ได้เล่าไป ส่วนที่เพิ่มเติมเมื่อแกเริ่มโตขึ้นประมาณอายุ 10-13 ปี แกได้รับหน้าที่เพิ่มคือ เดินไปส่งข้าวสารตามบ้านครับ เห็นไม๊ละ ดิลิเวอรี่บ้านเรามีมาตั้งแต่สมัยปีพ.ศ. 2500 แล้ว
ซึ่งคำว่าเดินส่งคือ แกต้องแบกถุงข้าวสารครั้งละ 5-10 กิโลกรัม แบกบนบ่าแล้วเดินทางระยะประมาณตั้งแต่ใกล้ๆ ไปจนถึงไกลสุดร่วม 4-5 กิโลเมตรก็เคยมี วันนึงก็เดินส่งกันทั้งวันครับ แทบไม่มีเวลาให้พักหายใจ
แกยังเล่าให้ฟังอีกว่า อาม่าไปรับจ้างทำสวนผลไม้ (ตระกูลผมอาศัยย่านตรอกจันทน์ เขตสาทรปัจจุบันครับ) เมื่อก่อนนี้บริเวณถนนจันทน์ ไปจนถึงถนนนางลิ้นจี่ เขาเรียกแบ่งละแวกเป็นสะพาน เนื่องด้วยแถวนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสวนผลไม้ หรือสวนผักนั่นเอง จึงอาศัยเดินทางสัญจรกันด้วยเรือแจวเป็นส่วนใหญ่
โดยมีตั้งแต่
1.สะพานหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้คือย่านปากตรอกจันทน์ ไปจรดประมาณทางด่วนศรีรัช
2.สะพานสอง ปัจจุบันนี้คือย่านประมาณ ซอยจันทน์ 43 ไปจนถึงประมาณ ถ.เย็นจิต
3.สะพานสาม ปัจจุบันนี้คือย่านประมาณ ถ.เย็นจิต ไปจนถึง สามแยก ถ.สาธุประดิษฐ์ (ย่านนี้ของอร่อยเต็มไปหมดจริงๆ)
4.สะพานสี่ ปัจจุบันนี้คือย่านประมาณ จาก ถ.สาธุประดิษฐ์ ไปจนถึง แยกตัด ถ.นราธิวาสราชนครินทร์
5.สะพานห้า ปัจจุบันนี้คือย่านประมาณ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ไปจนถึง ถ.นางลิ้นจี่
ละแวกถนนจันทน์นี่ไม่บอกไม่รู้นะครับว่า สมัยก่อนนี้โด่งดังขึ้นชื่อมากเรื่องผลไม้ ทั้งฝรั่ง ส้ม ส้มโอ ลำไย เป็นอะไรที่ขึ้นชื่อมาก แต่อย่าคิดว่าปลูกลิ้นจี่ได้ เลยมีชื่อว่าถ.นางลิ้นจี่นะครับ นางลิ้นจี่นี่ชื่อคนครับ 555
ละแวกบ้านผมตอนเด็กๆ มีซอยคุณหญิงสร้อย ปัจจุบันเป็นซอยจันทน์ 41 มีนิกเนมว่า ซอยคุณนายล้างแบงก์
อะฮ้า มีงงกันใช่ไหมครับ เอาตามนั้นแหละ จริงๆ แล้ว คุณหญิงสร้อยเป็นเศรษฐีนีอยู่ละแวกนั้น ที่บริเวณนั้นแต่เดิมเป็นเขตที่ดินของเธอ ซึ่งเธอมีนิสัยอยู่อย่างนึงคือ
เงินที่เธอได้รับมาไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหรือเหรียญต่างๆ แต่จะไม่จับด้วยมือเปล่า โดยเธอจะนำเงินที่ได้ไปล้างน้ำก่อนเก็บทุกครั้ง ส่วนธนบัตรจะใช้วิธีแช่น้ำถูเบาๆ แล้วรีดด้วยเตารีดโบราณให้เรียบและดูใหม่เอี่ยม
ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ทราบว่าจะมีคนนิสัยแบบคุณหญิงสร้อยหลงเหลืออยู่บ้างไหม
กลับมาที่เรือสำเภาก่อน 555 ในวัยเด็กของผมเรือสำเภานี่ไม่มีเหลือแล้วนะครับ ลำสุดท้ายที่สามารถไปดูได้คือที่วัดยานนาวา (ชื่อเดิม “วัดคอกกระบือ”)
ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรือจริงเสียทีเดียว แต่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยอิงแบบเรือสำเภาใหญ่แบบฮกเอี้ยน ที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ฯ ต้นตระกูลกัลยาณมิตร ถวายตั้งแต่ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก่อนขึ้นครองราชย์
เพื่อเป็นอนุสรณในการที่พระองค์ทรงใช้เรือสำเภาขนสินค้าไปทำมาค้าขายถึงเมืองจีนและประเทศต่างๆ
โดยทรงมีพระราชดำริว่า ต่อไปในภายหน้า รูปลักษณ์เรือสำเภาอาจจะเปลี่ยนไป คนรุ่นหลังอาจจะจำรูปลักษณ์สำเภาจีนที่พระองค์ทรงใช้เป็นพาหนะไม่ได้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นและจำรูปแบบเรือสำเภาจีนที่พระองค์ทรงใช้เป็นพาหนะได้ กับทรงรำลึกถึงพระธรรมในเวสสันดรชาดกด้วยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระสถูป เจดีย์เป็นแบบอย่างใหม่ขึ้น เป็นสำเภาจีนโดยสำเภาลำนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ คล้ายกับกำลังจะบ่ายหน้าออกไปทางปากอ่าว บนเรือสำเภาสร้างพระเจดีย์ 2 องค์ในตำแหน่งที่เป็นเสากระโดงเรือ เรียกขานนามว่า “พระสำเภาเจดีย์”
โดยจัดให้มีการสมโภชเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2390
พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม วัดคอกกระบือ ว่า “วัดญานนาวาราม” ตามพระสำเภาพระเจดีย์ที่ทรงสร้างถวายไว้ ซึ่งแปลว่า “ญาณอันเป็นพาหนะดุจดั่งสำเภาข้ามโอฆะสงสาร” ซึ่งสืบเนื่องมาจากมหาชาติคำหลวงเรื่องพระเวสสันดรชาดก ตอนพระเวสสันดร ทรงตรัสเรียกกัณหาและชาลี ให้อุทิศตนร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศลอันเป็นเสมือนสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆะสงสารไปสู่พระนิพพาน กับทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างรูปหล่อสำริดพระเวสสันดรกัณหาและชาลีไว้บน พระสำเภาพระเจดีย์นี้อีกด้วย
สำหรับชื่อ “วัดญานนาวาราม” นี้ต่อมาได้เลื่อนมาเป็น “วัดยานนาวา” ที่มีความหมายใกล้เคียงกับชื่อเดิม คือ “วัดอันมีพาหนะดุจสำเภาในการที่จะนำพาเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นโอฆะสงสาร”
สมัยตอนเป็นเด็กผมจำได้แม่นว่า งานวัดละแวกอำเภอยานนาวาที่ใหญ่ที่สุด คืองานประจำปีวัดยานนาวา เปิดให้ผู้คนขึ้นไปกราบไหว้สักการะบนเรือ พร้อมมหรสพสมโภชน์กันเจ็ดวันเจ็ดคืน ลิเก ลำตัด หมอลำ หนังกลางแปลง มากันครบ
มีขนมนมเนย ของกินของใช้ มาออกร้านให้เป็นที่เพลิดเพลินจำเริญใจยิ่งนัก ลองนึกภาพดูว่าเมื่อสักสมัยสามสิบปีก่อน รถติดตั้งแต่ปากตรอกจันทน์ไปยัน หัวถนนสีลมกันเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์สำหรับสมัยนั้น
แถมเกร็ดอีกนิดครับ สมัยก่อนเราเรียกเป็นอำเภอ ยังไม่มีคำว่าเขต ส่วนสาทร (ชื่อเดิม “สาธร”) ก็เป็นชื่อถนนที่สร้างขึ้นภายหลังอีกทีเช่นกัน ลองนึกภาพดูครับว่า ถนนสาธร ในกาลก่อนนี่เป็นคลอง มีทางเกวียนแคบๆ ขนาบยาวไปตามลำคลอง ตัวถนนขรุขระตะปุ่มตะป่ำ ไม่เป็นที่นิยมสัญจรเท่ากับถนนจันทน์ในสมัยนั้นเท่าไหร่นัก
ปล. ตอนต่อไปจะพาไปพบกับจุดหักเหครั้งยิ่งใหญ่ของตระกูลผมกันครับ ว่าอเมซิ่งไทยแลนด์กันขนาดไหน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา