18 พ.ย. 2019 เวลา 23:06 • ประวัติศาสตร์
"ม้าเฉียว" ยอดนายทหารเสือแห่งสามก๊กที่ถูกวิจารณ์ในแง่ลบมากที่สุด ที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยได้เขียนบันทึกไว้"
1
วันนี้เราจะมาพูดเกี่ยวกับเรื่องสามก๊กกันบ้าง วรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์สามก๊กนั้นมักจะเป็นวรรณกรรมที่ใครหลายท่านรู้จักกันเป็นอย่างดีและในตำแหน่งห้าทหารเสือนั้นก็มีนายทหารนายนึงมีนามว่า "ม้าเฉียว" ยอดนายทหารรูปงามหน้าหยกแห่งเมืองเสเหลียง จนต่อมาได้มาอยู่กับเล่าปี่แห่งจ๊กก๊ก ในกลุ่มห้าทหารเสือของพระเจ้าเล่าปี่ อันประกอบด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ฮองตง และม้าเฉียวนั้น หากว่ากันตามฝีมือการรบแล้ว ค่อนข้างจะสูสีคู่คี่ กินกันไม่ลง แต่ในจดหมายเหตุสามก๊กของตันชิ่ว (เฉินโซว่) ได้มีการวิจารณ์ห้าทหารเสือตามอุปนิสัยใจคอ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีเพียง จูล่ง และฮองตงเท่านั้น ที่สอบผ่าน เพราะกวนอูซื่อสัตย์แต่ก็เย่อหยิ่ง เตียวหุยโผงผางอารมณ์ร้อนขาดความเมตตา ส่วนม้าเฉียวนั้นไม่ภักดีและไร้คุณธรรม
ประวัติโดยย่อ "ม้าเฉียว"
ม้าเฉียว เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ที่มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ เชี่ยวชาญในการขี่ม้ามาก เป็น 1 ใน 5 ขุนพลพยัคฆ์แห่งจ๊กก๊ก ชื่อรองว่า เหมิงฉี เกิดที่มณฑลซานซี เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของม้าเท้ง เจ้าเมืองเสเหลียง มีความแค้นต่อโจโฉมาก เนื่องจากม้าเท้งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมลงชื่อกำจัดโจโฉตามหนังสือเลือดของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งเป็นบุคคลที่โจโฉระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าจะตลบหลังตีเมืองลกเอี๋ยง ตอนตนออกไปทำศึกตามหัวเมืองต่าง ๆ จึงทำอุบายขอโองการฮ่องเต้แต่งตั้งตำแหน่งแม่ทัพปราบทักษิณ ให้ม้าเท้งเข้ามาเมืองฮูโต๋รับตำแหน่งแล้วจะจับฆ่า แต่ม้าเท้งซ้อนแผนไว้ ผลสุดท้ายแผนแตกจึงถูกโจโฉจับฆ่าตายทั้งตัวและน้องชาย
ม้าเฉียวเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ขณะตามขงเบ้งลงใต้ปราบเบ้งเฮ็กด้วยวัยเพียง 45 ปี (แต่ตามประวัติศาตร์จริง ม้าเฉียวตายด้วยโรคภัยก่อนขงเบ้ง1ปี)
และในประกอบกับเท่าที่อ่านจากบันทึกของตันชิ่ว ในส่วนของชีวประวัติบุคคลต่าง ๆ ที่ได้มีการกล่าวอ้างถึงกันนั้น ดูเหมือนว่าตันชิ่วจะยกให้ “ม้าเฉียว” เป็นคนที่ดูแย่ และเลวร้ายที่สุดในกลุ่มห้าทหารเสือนี้
ประวัติของม้าเฉียว
ม้าเฉียว (Ma Chao, 馬超) เป็นบุตรคนโตของม้าเท้ง เกิดที่เม้าหลิง (Maoling) ในเขตอิ้งฝุฟง (Fufeng) มณฑลส่านซี (Shaanxi) มีชื่อรองว่า เหมิ่งฉี่ (Mengqi, 孟起) มารดาเป็นสาวชาวเจี๋ยง ในวรรณกรรมสามก๊กนั้น ยกให้ม้าเฉียวเป็นนายทหารหนุ่มรูปงามมีเสน่ห์ และมีฝีมือการรบรวดเร็วรุนแรง แต่เนื้อหาในวรรณกรรมกับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาของม้าเฉียวนั้นค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก เพราะในประวัติศาสตร์นั้น ตัวตนของม้าเฉียวถูกดูแคลนจากผู้คนว่าเป็นเพียงคนหยาบช้าโดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก็คือการเนรคุณบิดา และก่อกบฏต่อราชสำนัก จนเป็นเหตุให้ครอบครัวของเขาถูกประหารชีวิตจนหมดสิ้น
ม้าเฉียวในวรรณกรรม-ประวัติศาสตร์
ในวรรณกรรม ม้าเฉียวก่อกบฏ เพราะต้องการล้างแค้นให้ม้าเท้ง ผู้บิดา ที่ถูกโจโฉลวงไปสังหาร ณ เมืองหลวง แต่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น เรื่องกลับตาลปัตรกัน เพราะ ม้าเท้งเป็นเจ้าเมืองเสเหลียงที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปรับราชการอยู่ในเมืองหลวงในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ม้าเท้งพร้อมกับครอบครัว จึงย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองหลวง เหลือเพียงม้าเฉียว ที่รับเป็นเจ้าเมืองเสเหลียงต่อจากบิดา
1
ต่อมาโจโฉได้มอบหมายให้ จงฮิว และ แฮหัวเอี๋ยน ยกทัพไปตีเตียวฬ่อเจ้าเมืองฮันต๋ง แต่ทั้งนี้จะต้องยกทัพผ่านเขตแดนเมืองเสเหลียง ม้าเฉียวจึงระแวงว่าโจโฉอาจจะลอบตีเมืองเสเหลียงของเขาก่อน ดังนั้นม้าเฉียวจึงหันไปสบคบคิดกับหันซุยศัตรูของบิดา โดยพูดกับหันซุยว่า “ก่อนหน้านั้น จงฮิวเคยแนะนำให้ข้าพเจ้าทำร้ายท่าน แต่บัดนี้ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าคนแดนกวนตงนั้นไว้ใจมิได้ ข้าพเจ้าเองจะขอตัดพ่อตัดลูกกับบิดา แล้วมาสมัครเป็นบุตรของท่าน ท่านโปรดจงรับข้าพเจ้าเป็นบุตรด้วย” (ม้าเฉียวเคยร่วมรบมากับจงฮิว ส่วนม้าเท้งแม้จะเคยเป็นมิตรกับหันซุยมาก่อน แต่ต่อมาได้ผืดใจและกลายมาเป็นศัตรูกัน) หันซุยจึงรับม้าเฉียวเป็นบุตรบุญธรรม แม้จะมีผู้ทักท้วงไม่ให้เชื่อใจม้าเฉียวแล้วก็ตาม
ม้าเฉียวและหันซุยสามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกและไพร่พลได้ถึง 100,000 นาย ยกทัพเข้าประชันกับโจโฉที่ด่านตงก๋วน โดยที่ตัวม้าเฉียวไม่ได้สนใจเลยว่าครอบครัวที่อยู่ในเมืองหลวง จะต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบากเพราะการกระทำเยี่ยงกบฏของเขา ในเวลานั้นเล่าเจี้ยงเอง ก็กริ่งเกรงม้าเฉียวอยู่ และต้องการจะผูกสัมพันธ์กับม้าเฉียว โดยการยกลูกสาวให้ แต่ทว่าถูกทัดทานว่า ม้าเฉียวนั้นไร้มนุษยธรรมและไว้ใจไม่ได้ เล่าเจี้ยงจึงยกเลิกแผนผูกสัมพันธ์นั้นไป
ก่อนการปะทะที่ด่านตงก๋วน โจโฉขี่ม้านำหน้าทหารออกมาเจรจาความกับม้าเฉียวและหันซุย ม้าเฉียวเห็นดังนั้นจึงคิดจะจับตัวโจโฉ แต่ทว่าเกรงฝีมือเคาทูทหารองครักษ์จึงไม่กล้าทำตามแผน ต่อมาโจโฉได้ใช้อุบายของกาเซี่ยง ยุยงให้หันซุยและม้าเฉียวแคลงใจกัน จนต้องแตกทัพพ่ายแพ้แก่โจโฉในที่สุด ตัวม้าเฉียวต้องหลบหนีไปอยู่ ณ เมืองอันติ้ง และหลังจากเหตุการณ์กบฏ 1 ปี พระเจ้าเหี้ยนเต้จึงทรงรับสั่งให้โจโฉประหารชีวิตครอบครัวของม้าเฉียวทั้งหมด
หลังจากหลบหนีและรวบรวมพรรคพวกขึ้นมาใหม่ ม้าเฉียวได้ตีเมืองลกเสและกิจิ๋วของอุยของ ตลอดจนดินแดนภาคตะวันตกเกือบทั้งหมด แล้วจึงเหิมเกริมตั้งตนเป็นขุนพลผู้พิชิตตะวันตก แต่ก็ถูกกลุ่มลูกน้องของอุยของต่อต้าน และยึดเมืองกิจิ๋วคืน ในขณะที่ม้าเฉียวไม่อยู่ ความโกลาหลครั้งนี้ม้าเฉียวได้สูญเสียบุตร ภรรยาที่อยู่ในเมือง ต่อมาเขาจึงแก้แค้นด้วยการสังหารมารดาของเกียงขิมที่ไร้ทางสู้ และสังหารเตียวเอี๊ย นายทหารในสังกัด แต่เป็นลูกชายของเตียวกั๋งหนึ่งในผู้ก่อการ เมื่อไม่มีที่อยู่อาศัยและไร้ครอบครัวแล้ว ม้าเฉียวจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหนีไปสวามิภักดิ์กับเตียวฬ่อเจ้าเมืองฮันต๋ง
ม้าเฉียวก็คือม้าเฉียว เมื่อไปอยู่กับเตียวฬ่อก็แสดงอาการไม่พอใจ ที่เตียวฬ่อขาดความทะเยอทะยาน เขายุให้เตียวฬ่อยกทัพไปตีเมืองเจี๋ยงหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนเตียวฬ่อเองก็เคยคิดยกลูกสาวให้ม้าเฉียวเช่นกัน (ม้าเฉียวคงหน้าตาดีมากจริง ๆ ถึง มีแต่คนจะยกลูกสาวให้) แต่เหล่าขุนนางไม่เห็นด้วย เพราะม้าเฉียวไม่เคยรักใครจริง เตียวฬ่อจึงล้มเลิก และระแวงในตัวม้าเฉียวมากยิ่งขึ้น พอม้าเฉียวรู้ว่าเตียวฬ่อระแวงตน จึงหลบหนีไปอยู่กับชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนจะไปอยู่กับเล่าปี่ในที่สุด
คำวิจารณ์ในแง่ลบ
ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ ได้ปรากฎว่ามีความคิดเห็นจากบุคคลต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความหยาบช้าของม้าเฉียวดังนี้
ตันชิ่ว (เฉินโซว่) บันทึกไว้ในประวัติม้าเฉียวว่า “ม้าเฉียวหยิ่งทะนง และประเมินขีดความสามารถของตนเองสูงเกินไป จนเป็นเหตุให้ตระกูลของเขาล่มสลาย ช่างน่าละอายยิ่งนัก นั่นเป็นเพราะเขาแสวงหาเกียรติยศ รั้งจะชิงดีชิงเด่นกับผู้อื่น จนตัวเองยังแทบเอาตัวไม่รอด”
"ม้าเฉียวเก่งกล้า แต่ไร้มนุษยธรรม เป็นที่รู้กันว่าเขาไม่มีความจงรักภักดี จึงไม่อาจเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าความสัมพันธ์นี้จะสามารถพึ่งพาอาศัยเขาได้” อองซาง กล่าวเตือนสติเล่าเจี้ยง ที่คิดจะยกลูกสาวให้แต่งงานกับม้าเฉียว
"ม้าเฉียวมีฝีมือกล้าแข็งก็จริง แต่ไร้สติปัญญา ไม่มีทำนองคลองธรรม เขาจึงถูกล่อลวงจากกลอุบายได้โดยง่าย” เอียวหู นายทหารรองในสังกัดของอุยของเจ้าเมืองกิจิ๋ว กล่าวเพื่อแนะนำให้เกียงขิมกำจัดม้าเฉียว
"ไอ้ลูกชั่วทรยศบิดา ไอ้ทหารเลวฆ่านาย” มารดาของเกียงขิมด่าม้าเฉียว ก่อนที่ม้าเฉียวจะเอากระบี่ฟันจนตาย
"คนที่แม้แต่ครอบครัวยังไม่รักไม่ห่วงใย แล้วคนเช่นนี้จะรักใครได้อีกเล่า?" เตียวฬ่อเปรียบเปรยถึงม้าเฉียว เนื่องจากกรณีเขาทำการกบฏต่อราชวงศ์ฮั่น จนทำให้ครอบครัวของเขาถูกตัดสินประหารชีวิต
" ม้าเฉียว ก่อการ และสร้างอำนาจในดินแดนจิ๋นสามแห่ง (เขตกวนจง) ยึดครองอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำและด่านตงก๋วน กระทำการอุกอาจต่อต้านราชสำนัก โดยไม่สนใจใยดีต่อความคิดเห็นของสมัครพรรคพวก จนเกิดความขัดแย้ง เป็นผลให้ครอบครัวและกองทัพของเขาต้องพินาศย่อยยับ เพราะไม่รู้ผิดแลชอบ สุดท้ายจึงหันไปพึ่งบารมีของมังกรและหงส์ (หมายถึงผู้มีอำนาจและความมั่นคง)” เอียวยี่
มีตัวอย่างของความล้มเหลวอยู่สองสามเรื่อง นั่นคือเรื่อง ความสัมพันธ์ทางการทูตของโจว และเจิ้ง (แลกเปลี่ยนสมาชิกในครอบครัวกัน แต่สุดท้ายต้องมาทำสงครามกัน), ฮั่นเกาจูขอน้ำแกงฉันท์พี่น้อง (เซียงอวี่จับบิดาของเล่าปัง(ฮั่นเกาจู่) ได้และขู่ว่าหากเล่าปังไม่ยอมแพ้ จะสังหารบิดาเล่าปังโดยการนำไปต้มยำทำแกงทั้งเป็น แต่เล่าปังกลับตอบว่า “เราทั้งคู่เป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน บิดาข้าจึงเป็นเหมือนบิดาท่าน หากท่านนำบิดาไปทำเป็นอาหาร ก็ได้โปรดแบ่งน้ำแกงนั้นให้ข้าพเจ้าด้วย”) และขุยเสี่ยวส่งลูกชายเป็นตัวประกัน (เรื่องสมัยฮั่นตะวันออก) และม้าเฉียวเนรคุณบิดา” ซุนเซง
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของความหยาบช้าของม้าเฉียว ที่บันทึกอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะปักใจเชื่อได้ทั้งหมด เพราะบันทึกจากปลายปากกาของมนุษย์ ล้วนแฝงด้วยข้อคิดเห็นส่วนตัวและอคติ หากใครเคยอ่านเรื่องของ ตันซิ่วผู้บันทึกจดหมายเหตุสามก๊ก (อ่านได้จาก สามก๊กจี่ และสามก๊กเอี้ยนหงี) ก็จะรู้ว่าเขาไม่ชอบขงเบ้ง ไม่ชอบจ๊กก๊ก และต่อมาก็เข้ารับราชการกับวุยและจิ้นก๊ก
เรื่องที่เขาเขียนแต่เดิมก็ไม่รับการยอมรับนัก แต่ได้พวกขุนนางของจิ้นก๊กมาคัดลอกอีกทีหนึ่ง ซึ่งกว่าจะผ่านการตรวจทานและรับรองได้นั้น คาดว่าน่าจะถูกดัดแปลงไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้หากเราดูจากวิธีการเลือกใช้คนของเล่าปี่ ที่นิยมชมชอบคนที่มีคุณธรรมเป็นหลัก แล้วก็น่าคิดว่า ถ้าม้าเฉียวหยาบช้าจริง เล่าปี่จะตั้งให้เป็นทหารเสือซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญได้หรือ ? จริงมั้ยล่ะครับ
"จุดจบของม้าเฉียว"
ในเกร็ดประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาก็คือ “นอกจากจูล่งแล้ว ทหารเสืออีกคนที่ตายบนเตียงก็คือม้าเฉียว” จากเดิมที่ในวรรณกรรมเขียนว่าม้าเฉียวตายเพราะตามขงเบ้งไปรบกับเบ้งเฮ็กนั้นไม่จริง เพราะตามประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่าม้าเฉียวตายในปี ค.ศ.222 ด้วยวัย 47 ปี (ตายก่อนเล่าปี่ 1 ปี) โดยเขาได้เขียนจดหมายลาเล่าปี่ว่า
“เดิมทีนั้นข้าพเจ้ามีครอบครัวมากมายร่วม 200 ชีวิต แต่ก็ถูกโจโฉสังหารหมดสิ้น มาจนบัดนี้คงเหลือแต่เพียงญาติผู้น้อง ม้าต้าย เท่านั้นที่พอจะสืบวงศ์ตระกูลต่อไป ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอความเมตตาจากท่านเป็นครั้งสุดท้าย ได้โปรดจงชุบเลี้ยงเขาด้วย“
จึงพอสรุปว่า ทหารเสือทั้งห้าคนนั้น มีจูล่งกับม้าเฉียวที่ตายตามอายุขัย ไม่ได้ตายด้วยคมอาวุธ
เรื่องม้าเฉียวในประวัติศาสตร์นี้ ผมก็ขอฝากไว้เป็นเกร็ดประดับความรู้ แม้จะไม่สำคัญหรือมีผลกระทบอะไรกับโครงเรื่องสามก๊กมากนัก แต่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกดี และไม่มีให้อ่านจากในวรรณกรรม ทั้งที่ใจจริงแล้ว ผมไม่อยากเขียนอะไรแนวนี้สักเท่าไหร่ เพราะแฟน ๆ จ๊กก๊กและม้าเฉียวหน้าหยก อาจจะไม่พอใจและขัดเคืองกันได้
ประกอบกับตัวผมเองนั้น โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องสามก๊กในประวัติศาสตร์มากนัก และชอบเสพย์รสวรรณกรรม โดยเฉพาะกับสำนวนแปลงแบบไทย ๆ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มากกว่า เพราะอ่านแล้วมีความสุข สนุกกว่าอ่านสามก๊กแบบประวัติศาสตร์มากโข ...
ประวัติศาสตร์ .... ที่อ่านไป อ่านมาแล้ว แทบจะไม่เหลือคนดีอยู่เลย ..... เฮ้ออ..ชั่งเศร้าใจเสียนี่กระไร
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง : Wikipedia
ภาพประกอบ : Google
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
โฆษณา