20 พ.ย. 2019 เวลา 03:52
ว่างงาน แต่ไม่ว่างเงิน
ห่างหายไปนานเลย กว่าจะปลุกใจตัวเองให้ลุกขึ้นมาเขียน ช่างยากเย็น เพราะมีคนมาคอมเม้นต์ในโพสต์ล่าสุด เป็นเหมือนแรงผลักดันให้กลับมาเขียนโพสต์อีกครั้ง ^_^
สำหรับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ช่วยแนะนำแนวทางการบาลานซ์เรื่องงาน-เงิน-ชีวิต สำหรับฟรีแลนซ์มืออาชีพ ให้สามารถหาเงินใช้ได้ไปตลอดได้อย่างมีความสุขค่ะ
“น่าสนใจดีนิ” ฉันคิดในใจ ไหนๆก็ก้าวออกจาก comfort zone แล้ว ถ้ารู้วิธีใช้ชีวิตโดยควบคุมสภาพอันไม่มั่นคงได้ ย่อมดีแน่นอน
เค้าแนะนำว่า ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยน mind set ตัวเองเสียก่อน ทิ้งความคิดแบบพนักงานกินเงินเดือนซะ ไม่ควรเอาแต่ก้มหน้าก้มตารับงานงกๆ โดยเน้นปริมาณงานเยอะๆ หรือ ไม่กล้าปฏิเสธงานที่ตัวเองไม่อยากทำ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพงานก็ไม่ดี กินพลังงานชีวิตไปเรื่อยๆ สุดท้ายการออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย ให้ตั้งมั่นที่จะเลือกรับงานที่ตรงจริต หรือเป็นงานที่ได้พัฒนาตัวเอง นั่นถือเป็นอุดมคติขั้นสูงของชาวฟรีแลนซ์
จากนั้น ก็กำหนดเป้าหมายการทำงานและกิจการให้ชัดเจน เป้าหมายการทำงาน คือ อยากใช้เวลากับงานเท่าไหร่ อยากทำงานแบบไหน หรือ อยากทำงานกับคนแบบไหน ส่วนเป้าหมายในกิจการ หมายถึง คุณค่าอะไรที่กิจการคุณอยากจะส่งมอบให้ผู้คนหรือสังคม
และสุดท้ายแต่สำคัญมาก เราต้องสร้างพลังจำเป็นสำหรับฟรีแลนซ์ 3 อย่างติดตัวไว้ ดังนี้ค่ะ
พลังที่ 1 : พลังสร้างงาน
จงสร้างงานที่มีเพียงคุณเท่านั้นที่ทำได้ขึ้นมาเยอะๆ โดยผสานจากจุดแข็งต่างๆที่คุณมี
ดังนั้น แรกสุดคุณต้องรู้จุดแข็งที่คุณมีแล้วเขียนลิสต์ออกมาเป็นข้อย่อยๆ จะเป็นเรื่องเล็กน้อยยังไงก็ได้ ทั้งเรื่องที่ถนัด เรื่องที่ชอบ เรื่องที่คนชอบมาปรึกษาด้วย ให้ได้สักร้อยข้อ ตัวอย่างความชอบและความถนัดของฉัน แบ่งย่อยได้เป็น “ชอบเขียนแคปชั่นและคำโฆษณา” “ชอบพูดคุยกับคน” “ชอบวิเคราะห์ข้อมูลและตัวเลข” “ทำพรีเซนเตชั่นได้สวยและเข้าใจง่าย” “ใช้ไมโครซอฟต์ออฟฟิศได้คล่องแคล่ว” “ชอบทำขนม” เป็นต้น หลังจากนั้นก็ลองนำจุดแข็งมากกว่าสองข้อประกอบรวมกัน เพื่อสร้างงานเฉพาะที่เราเท่านั้นที่ทำได้ดีที่สุด
หัวใจสำคัญของหัวข้อนี้ คือ ไม่ควรพึ่งพาแค่กิจการเดียว ต้องสร้างกิจการย่อยๆที่ต่อยอดจากกิจการหลัก เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ
ที่มา : https://www.moneycontrol.com/news/india/job-hopping-a-common-trend-among-indian-employees-survey-3425391.html
พลังที่ 2 : พลังในการบอกเล่าเรื่องของตัวเอง
การมีสื่อของตัวเอง เพื่อให้คนรู้จักและอยากเลือกเราให้ทำงานให้ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ให้คุณทำโฆษณาหรือแค่โปรโมตกิจการของคุณ แต่คือให้คุณสร้างและขยายอิทธิพลตัวคุณเอง เช่น การเขียนบล็อก การไลฟ์ การเขียนเพจ โดยนำเสนอวิธีคิดและตัวตนคุณผ่านทางโลกออนไลน์ ซึ่งเมื่อคุณเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับ คุณจะสามารถโปรโมตกิจการของคุณไปด้วยได้ และอาจต่อ ยอดไปสู่กิจการใหม่ๆได้อีก โดยที่คนจะเต็มใจซื้อสินค้าหรือบริการคุณด้วยความเชื่อถือ
หัวใจสำคัญของหัวข้อนี้ คือ การนำเสนอวิธีคิดหรือเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อคนอ่านอย่างแท้จริง รวมถึงความสม่ำเสมอในการนำเสนอเนื้อหา แม้จะมีคนอ่านน้อย ก็ต้องไม่ท้อถอย (ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ T_T)
ที่มา : google
พลังที่ 3 : พลังในการหมุนเงิน
ในฐานะฟรีแลนซ์ คุณต้องรู้จักวิธีใช้เงินให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด กฎหลัก คือ สร้างรายได้ > ลงทุนกับตัวเอง > ลดค่าใช้จ่ายทั้งที่ใช้ในกิจการและค่าใช้จ่ายส่วนตัว > ลดภาษีที่ไม่จำเป็น
การลงทุนกับตัวเอง คือ ลงทุนด้านความรู้หรือทักษะที่ทำให้เราสามารถสร้างกิจการย่อยๆต่อไปได้อีก เช่น การลงคอร์สเรียน การร่วมงานสัมมนา การซื้อหนังสือดีๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรลงทุนกับ IT ด้วย เช่น อุปกรณ์ โปรแกรม หรือ เทคโลยีต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมาข้างต้นนำไปสู่การขยายกิจการในอนาคตได้
ส่วนการลดค่าใช้จ่ายและการลดภาษีที่ไม่จำเป็นนั้น คุณต้องมีความเข้าใจเรื่องการเงิน พื้นฐานด้านบัญชี และภาษีประเภทต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีแหล่งให้ความรู้ด้านนี้มากมายทั้งทางอินเตอร์เนต หนังสือ หรือ การลงคอร์สเรียน ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
การมีโปรแกรมบัญชีใช้ในกิจการคุณถือเป็นเรื่องจำเป็นมาก จะทำให้คุณเห็นจุดอ่อนของกิจการโดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย และสามารถแก้ไขได้ถูกจุดทันท่วงที
หัวใจสำคัญของหัวข้อนี้ คือ การวางแผนการเงินที่ดี และแทนที่จะสะสมเงิน ควรทำให้กระแสเงินสดในระยะยาวดีขึ้นดีกว่า โดยการใช้เงินที่ได้มาอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ตัวเองเติบโตขึ้น สร้างงานใหม่ได้
ที่มา : https://happyspectacular.com/2017/07/what-makes-a-good-mentor/
จริงๆ ฉันไม่คิดว่าตัวเองจะออกมาเป็นฟรีแลนซ์ แต่อยากเปิดร้านขนมอร่อยๆคุณภาพดี นอกจากความอิสระแล้ว ฉันรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้เห็นคนชอบและมีความสุขกับขนมที่ฉันตั้งใจทำ แต่หลังจากอ่านเล่มนี้ ฉันน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการทำขนมแล้วแหละ ...
หากได้อ่านบทความนี้ ช่วยกดไลค์เป็นกำลังใจด้วยนะคะ น้อมรับทุกคอมเม้นท์และทุกคำแนะนำ ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านมากค่ะ
โฆษณา