22 พ.ย. 2019 เวลา 11:00 • กีฬา
"เจ้าพ่อแห่งสนามฟุตบอล"
ฟุตบอลยุคใหม่เริ่มต้นขึ้นปลายศตวรรษที่ 20 ในยุควิคตอเรี่ยน ความนิยมต่อเกมชนิดใหม่นี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ความนิยมกวดไล่และแซงคริกเก็ต คนเดินทางมาชมการแข่งขันฟุตบอลมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาก็คือ สังเวียนการแข่งขันต้องปรับปรุงพัฒนาขึ้น ไม่ใช่แค่สนามหญ้า ที่มีอัฒจรรย์ไม้ รองรับคนแค่ 2-3 พันคน หรือยืมสนามคริกเก็ตใช้แข่งอีกต่อไปแล้ว
เรนเจอร์ส เปิดไอบร็อกซ์ พาร์ค ในปี 1887 ประเดิมด้วยการแพ้เปรสตัน นอร์ธเอนด์ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพีค 8-1 ตามมาด้วย เซลติก พาร์ค กับ กูดิสัน พาร์ค ก็เปิดพร้อมๆ กันในปี 1892
กระทั่งอีกไม่กี่ปีต่อมา กำลังจะเปลี่ยนศตวรรษ ไอบร็อกซ์ มีการรีโนเวท และอัฒจรรย์ต้องได้รับการออกแบบใหม่ นั่นคือก้าวแรกในเส้นทางอาชีพการเป็นนักออกแบบสนามฟุตบอลของ อาร์ชิบัลด์ ลีทช์ สถาปนิกซึ่งโดยส่วนตัวก็เป็นแฟนเรนเจอร์สอยู่แล้ว
ลีทช์ เกิดที่ คัมลัคคี่, กลาสโกว์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 1865 ตั้งชื่อตามพ่อของตัวเอง ซึ่ง อาร์ชี่ ซีเนียร์ มีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก
เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นช่างเขียนแบบ และสายงานทำให้ต้องไปถึงอินเดีย และซีลอน (ศรีลังกา - แต่เดิมชาซีลอน หรือ เซล้อง ในภาษาใต้ หมายถึงชาจากศรีลังกา) เขาออกแบบโรงงานอบใบชาในเดลโตต้า
ไอบร็อกซ์ พาร์ค รับใช้เรนเจอร์สมาตั้งแต่ปี 1887 และเป็นเจ้าภาพจัดแข่งเกมทีมชาติ 2 นัด รวมถึงนัดชิงชนะเลิศ สก็อตติช เอฟเอ คัพ 5 ปีแรก แต่มีแนวโน้มที่จะต้องปรับปรุงขนานใหญ่ พวกเขาเลยย้ายข้ามฝั่งสวนมายังสนามในปัจจุบัน โดยจ้าง ลีทช์ มาเป็นคนออกแบบ
ผลของการออกแบบคือสนามความจุ 40,000 คน เปิดใช้เมื่อ 30 ธันวาคม 1899 ซึ่งหลังจากใช้งานไปได้ 3 ปีก็มีการขยายความจุอีกรอบเป็น 80,000 คน
จุดหักเหในชีวิตของ อาร์ชี่ ลีทช์ มาถึงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 1902 ไอบร็อกซ์ ที่เขาออกแบบเป็นรังเหย้าจัดแข่งเกมกับทีมชาติอังกฤษ
ตอนแรกเกมนี้จะแข่งที่ พาร์คเฮดของเซลติก แต่เรนเจอร์ส อ้างว่าสนามของพวกเขาจุได้มากกว่าถึง 2 หมื่นคน ท่ามกลางฝนตกหนัก ยังมีแฟนบอลเลือดข้นถึง 68,114 คนที่เดินทางมาเชียร์สก็อตแลนด์ฉะกับอังกฤษ น่าเสียใจอย่างยิ่งที่ 25 คนไม่ได้กลับบ้าน
การออกแบบสแตนด์ฝั่งตะวันตกของ ลีทช์ นั้นเป็นพื้นไม้ โดยมีโครงเหล็กรับแรง ด้านล่างเป็นฐานคอนกรีต ซึ่งมันพังลง เกิดเป็นช่องขนาดใหญ่ 125 คนตกลงไปในช่องนี้ที่สูงถึง 50 ฟุต หลายคนรอด ก็เพราะพวกเขาตกลงไปทับคนที่ร่วงลงไปก่อน มีผู้เสียชีวิต 25 คน และรวมแล้วมีผู้บาดเจ็บถึง 517 คนจากเหตุการณ์นี้
เกมนี้จบ 1-1 โดยแฟนบอลที่อยู่อัฒจรรย์ฝั่งอื่นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น หนึ่งเดือนให้หลัง เกมนี้มีเตะรีเพลย์ที่วิลล่า พาร์ค ได้เงิน 1,000 ปอนด์ มาช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์ดังกล่าว
จอห์น กอร์ดอน สถาปนิกอาวุโสของกลาสโกว์ถูกเรียกตัวมาสืบสวนสาเหตุ เขาพบว่าฝนที่ตกหนักทำให้ไม้เสียหายง่ายขึ้น นอกจากนั้น ข้อต่อไม้ 17 ชิ้น ทำจากไม้สนเหลือง ซึ่งมีความทนทานแข็งแรงไม่เท่าไม้สนแดง ซึ่งเป็นมาตรฐานของการก่อสร้าง โดยรายงานระบุว่า อาร์ชิบัลด์ ลีทช์ ได้รับไม้มาจากซัพพลายเออร์ ที่ยืนยันว่าไม้นั้นได้มาตรฐาน
ซัพพลายเออร์รายนี้โดยตั้งข้อหา และเหตุการณ์นี้ซึ่งควรจะเป็นจุดจบในชีวิตสถาปนิกนักออกแบบสนามฟุตบอลของ ลีทช์ จบลง แต่แทนที่จะปล่อยให้เป็นอย่างนั้น อาร์ชิบัล ลีทช์ กลับทำในสิ่งที่สถาปนิกควรทำ นั่นคือกลับไปยังโต๊ะออกแบบของเขาอีกครั้ง
เขามีบทเรียน และในที่สุดก็ออกแบบโครงสร้างมาตรฐานของอัฒจรรย์ซึ่งเรายังเห็นอยู่ในสนามฟุตบอลส่วนใหญ่ในทุกวันนี้
เขาแก้ตัว แก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง ด้วยการออกแบบ และปรับปรุงสนามในบ้านเกิดสก็อตแลนด์มากมายทั้ง แฮมป์เดน พาร์ค และ เซลติก พาร์ค ก่อนลงใต้มาปรับปรุง บรามอลล์ เลน สนามประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลของ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด
ตามด้วย คราเว่น ค็อตเทจของฟูแล่ม และสแตมฟอร์ด บริดจ์ ในลอนดอน ซึ่งขณะนั้น เชลซี เพิ่งตั้งสโมสรไม่นาน
จากข้อมูลพบว่า ในช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดของ อาร์ชิบัลด์ ลีทช์ ในทศวรรษที่ 1920s นั้น 16 จาก 22 สโมสรบนดิวิชั่น 1 อังกฤษ เคยใช้บริการเขาในการออกแบบหรือ รีโนเวท สนามไม่มากก็น้อย
สนามที่ถือเป็นไอค่อนของวงการฟุตบอลอังกฤษไม่ว่าจะเป็น ไฮบิวรี่, โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด, วิลล่า พาร์ค, แฟร็ตตัน พาร์ค, แอนฟิลด์, กูดิสัน พาร์ค ต่างผ่านการออกแบบ และสร้างโดย อาร์ชี่ ลีทช์ ทั้งสิ้น
หลักฐานการออกแบบสนามต่างๆของเขา สูญหายไปเยอะในปัจจุบัน เพราะสนามต่างๆ ผ่านการรีโนเวท และขยายขนาดกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ "เครื่องหมายการค้า" ของเขาก็ยังมีให้เห็น คือการใช้อิฐแดง อย่างเช่น จอห์นนี่ เฮย์ส สแตนด์ ที่คราเว่น ค็อตเทจ และที่ชัดเจนที่สุดก็คือจุดกำเนิดของเขา ไอบร็อกซ์ พาร์ค เมื่อ เมน สแตนด์ ของที่นี่ยังคงเป็นของดั้งเดิม สูงใหญ่แข็งแกร่งด้วยอิฐแดง เปี่ยมด้วยประวัติศาสตร์
น่าเสียดายที่ในยุคก่อนน้อยคนจะทราบถึงความสำคัญของ อาร์ชิบัลด์ ลีทช์ เมื่อเขาเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1939 เพียง 2 วันก่อนวันเกิดครบ 74 ปีของเขา ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดลงข่าวนี้เลย
ทั้งที่ในความเป็นจริง สนามฟุตบอลชื่อดังครึ่งค่อนสก็อตแลนด์และอังกฤษ คือผลงานของ อาร์ชิบัลด์ ลีทช์ ที่ยังยืนยงเป็นตัวแทนของผู้ออกแบบ แม้ว่าตัวเขาเองจะอำลาโลกนี้ไปนานนักแล้วก็ตาม
- รายชื่อสนามที่ถูกออกแบบหรือปรับปรุงโดย อาร์ชิบัลด์ ลีทช์ -
แอนฟิลด์, ลิเวอร์พูล
ไฮบิวี่, อาร์เซน่อล
อายร์ซัม พาร์ค, มิดเดิลสโบรช์
บรามอลล์ เลน, เชฟฯ ยูฯ
คาร์ดิฟฟ์ อาร์มส์ พาร์ค, คาร์ดิฟฟ์
คราเว่น ค็อตเทจ, ฟูแล่ม
เดลี่เมาท์ พาร์ค, โบฮีเมี่ยน ดับลิน
ดีพเดล, เปรสตัน
ดิ โอลด์ เด็น, มิลวอลล์
เดนส์ พาร์ค, ดันดี
เดอะ เดลล์, เซาธ์แฮมป์ตัน
อีวูด พาร์ค, แบล็คเบิร์น
ฟิลเบิร์ต สตรีท, เลสเตอร์
แฟร็ตตัน พาร์ค, พอร์ทสมัธ
กูดิสัน พาร์ค, เอฟเวอร์ตัน
แฮมป์เดน พาร์ค, กลาสโกว์
โฮมพาร์ค, พลีมัธ
ไอบร็อกซ์ พาร์ค, เรนเจอร์ส
ฮิลส์โบโร่ห์, เชฟฯเว้นส์ฯ
แลนส์ดาวน์ โร้ด, ดับลิน
ลีดส์ โร้ด, ฮัดเดอร์สฟิลด์
โมลินิวซ์ กราวน์ด, วูล์ฟส์
โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด, แมนฯ ยูไนเต็ด
พาร์ค อเวนิว, แบรดฟอร์ด
พิทโทดรี้ พาร์ค, อเบอร์ดีน
โรเคอร์ พาร์ค, ซันเดอร์แลนด์
รักบี้ พาร์ค, คิลมาร์น็อค
ซัลเทอร์เกต, เชสเตอร์ฟิลด์
เซลเฮิร์สท์ พาร์ค, คริสตัล พาเลซ
ซอมเมอร์เซ็ต พาร์ค, อายร์ ยูไนเต็ด
สแตมฟอร์ด บริดจ์, เชลซี
สตาร์คส์ พาร์ค, เรธ โรเวอร์ส
ทวิคเคนแน่ม สเดเตเดี้ยม, ลอนดอน
ไทน์แคสเซิ่ล พาร์ค, ฮาร์ทส์
วัลลี่ พาเหรด, แบรดฟอร์ด
วิลล่า พาร์ค, แอสตัน วิลล่า
ไวท์ ฮาร์ท เลน, สเปอร์ส
วินด์เซอร์ พาร์ค, เบลฟาสต์
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา