ตอนที่ 2/2 ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน
Charles Darwin
1.
ในช่วงที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เติบโตมา เรื่องของวิวัฒนาการเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันในหมู่นักคิดนักปรัชญาทั่วไปอยู่แล้ว
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาธรรมชาติก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะไม่สนใจตั้งคำถามว่าสัตว์ และพืชมาจากไหนเพราะเชื่อว่าพระเจ้าสร้างขึ้นมา แต่จะเน้นไปในแง่การศึกษาเพื่อจัดประเภทของสิ่งมีชีวิต หรือศึกษากลไกการทำงานของร่างกายมากกว่า
ก่อนช่วงต้นของศตวรรษที่ 18 มีคนที่เสนอสมมติฐานการเกิดของโลกที่แตกต่างไปจากศาสนาคริสต์บ้างแต่ไม่มากนัก ทว่าหลังจากยุคของ เดอมาเยต์ บุฟง และคูวิเอร์ ไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์เริ่มคิดเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังและกล้าที่จะเสนอสมมติฐานต่างๆ ออกมามากขึ้น
2.
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นชาวอังกฤษ เกิดมาในครอบครัวหมอที่มีชื่อเสียงและร่ำรวย เขาเติบโตมาโดยรับอิทธิพลทางความคิดจากสามทาง
ทางแรกเราคุยกันไปแล้ว คือปู่ของเขาเองซึ่งเชื่อในเรื่องของวิวัฒนาการ
ทางที่สอง คือพ่อของเขา ว่ากันว่า (ใครว่าก็ไม่รู้) พ่อของดาร์วินตลอดชั่วชีวิตไปโบสถ์เพียงสองครั้ง และทั้งสองครั้งนั้นก็ไม่ได้เดินไปเอง ครั้งแรกมีคนอุ้มไป (ตอนเป็นทารก) อีกครั้งมีคนแบกไป (นอนอยู่ในโลงศพ) พ่อของดาร์วินไม่นับถือศาสนาและไม่เชื่อคำสอนของศาสนาคริสต์
อิทธิพลทางความคิดทางสุดท้าย คือจากแม่ของเขาซึ่งศรัทธาศาสนาอย่างมากและเชื่อว่าโลกถูกสร้างโดยพระเจ้า
ดาร์วินรักธรรมชาติมากมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เนื่องจากพ่อกับปู่เป็นหมอ ก็เลยเลือกเรียนหมอด้วย เขาเดินทางไปเรียนหมอที่มหาวิทยาลัยเอดินบระ (Edinburgh) ในสก็อตแลนด์ ซึ่งในเวลานั้นถือได้ว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดในคาบสมุทรอังกฤษ
มหาวิทยาลัย Edinburgh
แต่ดาร์วินพบว่าตัวเองแพ้เลือดและเห็นการผ่าตัดไม่ได้ เนื่องจากในยุคนั้นการผ่าตัดยังไม่มีการดมยาสลบ ดังนั้นก่อนการผ่าตัดหมอและพยาบาลจะช่วยกันผูกแขนขาคนไข้ไว้กับเตียงและนำไม้พันด้วยผ้ามาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้กัดลิ้นหรือกัดปากตัวเอง เวลาที่หมอลงมีดไปหนึ่งครั้งก็จะต้องหยุด เพื่อให้คนไข้ดิ้นจนหมดแรง ถึงจะลงมีดครั้งต่อไปได้ การผ่าตัดจึงดำเนินไปได้ช้า เพราะต้องผ่าไปหยุดไป
ดาร์วินในวัย 16 ปีเมื่อได้เห็นการผ่าตัดอย่างนี้แล้วรับไม่ไหวจึงเลิกเรียนแล้วกลับมาอยู่บ้าน แต่พ่อของชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็กลัวว่าลูกชายคนนี้จะไม่ทำอะไร จึงคิดว่าถ้าลูกชายชอบธรรมชาติมากและไม่อยากเรียนหมอก็ให้ไปเป็นนักบวชก็แล้วกัน
ในปี ค.ศ.1828 ดาร์วินจึงเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อเรียนที่จะเป็นนักบวช การเป็นนักบวชในกรณีนี้ไม่ใช่การละทางโลกเหมือนที่เราคุ้นเคยกันครับ นักบวชในยุคนั้นถือเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งในสังคม ซึ่งในยุควิคตอเรียนของอังกฤษนักบวชเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก จัดอยู่ในระดับเดียวกับหมอและทนายเลยทีเดียว
การเรียนเพื่อที่จะเป็นนักบวชจะต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ธรณีวิทยา สัตว์และต้นไม้ เพราะเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น การที่จะเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้า ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นด้วย นั่นก็คือเข้าใจธรรมชาติ และที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นี้เองที่เป็นจุดสำคัญที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตของดาร์วินในเวลาต่อมา
3.
ปี ค.ศ. 1831 จอห์น สตีเวน เฮนส์โลว์ (John Stevens Henslow) นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของพืชและเป็นอาจารย์คนสนิทของดาร์วิน ได้รับเชิญให้เดินทางไปกับเรือของราชนาวีอังกฤษ HMS Beagle ในฐานะเพื่อนของกัปตันและนักธรรมชาติวิทยาประจำเรือ เพื่อเก็บสะสมตัวอย่างทางธรรมชาติจากดินแดนที่เรือแล่นผ่าน
ภาพวาดเรือ HMS Beagle
สมัยนั้นการเดินเรือแต่ละครั้งจะกินเวลานานเป็นปีๆ ขณะที่ลูกเรือส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานคนจน ไม่มีการศึกษาและถูกมองว่าเป็นชนชั้นล่างของสังคม กัปตันเรือจึงมักเชิญชนชั้นสูงให้เป็นเพื่อนร่วมทางไปด้วย
แต่ตัวเฮนส์โลว์เองไม่อยากไปเท่าไรนัก เพราะเพิ่งแต่งงานใหม่ๆ เขาเลยแนะนำให้ลูกศิษย์คนโปรดอย่าง ชาร์ลส์ ดาร์วิน ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 22 ปี เดินทางไปแทน
ก่อนที่ดาร์วินจะออกเดินทาง กัปตันเรือ HMS Beagle ชื่อโรเบิรต์ ฟิทซ์รอย (Robert Fitzroy) มอบหนังสือให้ดาร์วินนำไปอ่านระหว่างเดินทางหนึ่งเล่ม หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ชาร์ลส์ ไลเอล (Charles Lyell) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพื่อสนิทของดาร์วิน
ชาร์ลส์ ไลเอล
ไลเอลเสนอแนวคิดและหลักฐานใหม่ๆว่าโลกมีอายุเก่าแก่กว่าที่เคยเชื่อกันมากแผ่นดิน และผืนน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ อยู่ตลอดเวลา อิทธิพลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นแรงที่กระทำต่อเนื่องมานานจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันและจะมีต่อไปในอนาคตด้วย
ทางวิทยาศาสตร์เรียกทฤษฎีนี้ว่า Uniformitarianism หมายถึง แรงที่กระทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ และต่อเนื่องทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเป็นแรงอันเดียวกัน (Uniform)
เมื่อเป็นเช่นนั้นการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเป็นกุญแจที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต (ประโยคคลาสสิคที่เขาใช้กล่าวไว้ว่า the present is the key to the past)
ทฤษฎีของไลเอลจะต่างจากอีกทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับทั่วไปในยุคนั้นคือ Catastrophism ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกจะมาเป็นระลอก และไม่ต่อเนื่อง โดยมีแรงที่มาทำให้เกิดความหายนะครั้งหนึ่งแล้วก็หายไป วันดีคืนดีความหายนะก็กลับมาใหม่ ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ น้ำท่วมโลกในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ เป็นต้น
หนังสือของไลเอลเล่มนี้มีส่วนช่วยต่อยอดทางความคิดให้ดาร์วินสามารถอธิบายธรรมชาติหรือปรากฎการณ์ที่ไปพบเจอได้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงช้าๆ และต่อเนื่อง สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนโลกก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
นอกจากนี้การที่โลกดำรงอยู่มานานมากกว่าที่เคยเชื่อ คือหลายร้อยล้านปี ทำให้ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินเป็นไปได้มากขึ้น เพราะหากโลกมีอายุไม่นานพอ เช่น ไม่กี่พันปีตามที่เชื่อกัน เวลาจะไม่เพียงพอสำหรับกระบวนการวิวัฒนาการ
4.
ดาร์วินเดินทางไปกับเรือ HMS Beagle นานทั้งหมด 5 ปี ลัดเลาะผ่านชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เกาะกาลาปากอส และยังเดินทางผ่านไปแถวทวีปออสเตรเลียอีกด้วย
เส้นทางการเดินเรือของ HMS Beagle
เมื่อไหร่ที่มีโอกาส ดาร์วินจะลงจากเรือและเข้าไปศึกษาธรรมชาติ จดบันทึก รวมถึงวาดภาพอย่างละเอียด เก็บทุกอย่างที่แปลกตา บุกเข้าไปในป่า พูดคุยและเรียนรู้เรื่องสัตว์และต้นไม้กับคนท้องถิ่น
ในวันที่ดาร์วินออกเดินทางไปกับเรือ HMS Beagle เขายังไม่ได้สนใจเรื่องของวิวัฒนาการ สนใจแต่เพียงธรรมชาติในแง่ที่มันน่าทึ่ง และศึกษาเพื่อพยายามเข้าใจเหตุผลของพระเจ้าที่สร้างสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติขึ้นมา
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ดาร์วินเริ่มสงสัยในสิ่งที่เคยเชื่อนั้น เกิดขึ้นช่วงท้ายๆ ของการเดินทาง หลังจากที่เขาเห็นธรรมชาติมามากถึงจุดหนึ่งเขาเริ่มเห็นว่าหลายสิ่งในธรรมชาติไม่สามารถอธิบายที่มาได้โดยอาศัยกรอบความเชื่อเดิมๆ ที่เคยเรียนรู้มา โดยเฉพาะเมื่อเขาเดินทางไปถึงเกาะกาลาปากอส ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งของทวีป อเมริกาใต้ หลายสิ่งหลายอย่างในธรรมชาติมันดูไม่สมเหตุสมผล
 
ความเชื่อหลักในยุคนั้นคือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดถูกออกแบบและสร้างให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมในแต่ละแห่งตั้งแต่แรก และสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างโลก จากนั้นสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกนำไปวางตามที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม
แต่สิ่งที่เขาพบกลับไม่สนับสนุนความเชื่อที่ว่านั้นเลย เช่น เขาเจอนกมีปีกแต่บินไม่ได้ ซึ่งนกในอังกฤษที่เคยเห็นทุกชนิดบินได้
คำถามคือทำไมนกถึงถูกสร้างมาให้มีปีกทั้งๆ ที่ไม่ได้มีไว้บิน จริงอยู่ว่าส่วนของปีกในนกบางชนิดมีไว้ช่วยในการว่ายน้ำ ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมไม่สร้างเป็นครีบเลยตั้งแต่แรก เพราะอย่างไรปีกที่ว่ายน้ำได้ก็ทำงานได้ไม่ดีเท่ากับครีบแน่นอน
นกกาน้ำมีปีที่บินไม่ได้แต่ช่วยในการว่ายน้ำ
หรืออย่างที่เขาเจอซากฟอสซิลของสัตว์ใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้วที่ชื่อว่า สล็อธยักษ์ หรือ Giant Ground Sloth แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัตว์ที่หน้าตาคล้ายกันมากแต่ตัวเล็กกว่าเรียกว่า สล็อธ หากินอยู่บนต้นไม้ ในเมื่อสัตว์ที่มีขนาดต่างกันนี้ต้องใช้ชีวิตแตกต่างกันอยู่แล้ว ทำไมไม่สร้างให้ต่างกันและเหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตของมันไปเลย?
ภาพวาดจำลอง Giant Ground Sloth
เมื่อดาร์วินเห็นซากฟอสซิลของหอยที่ควรอยู่ใต้ท้องทะเล แต่ลอยขึ้นไปฝังอยู่บนหน้าผาที่สูงกว่า 400 เมตรจากระดับน้ำทะเล เขาก็รู้สึกว่าสิ่งที่พบนั้นมันไม่ตรงกับความรู้ที่สอนกันมาว่าสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อกลับมาถึงอังกฤษดาร์วินใช้เวลาศึกษาตัวอย่างที่เก็บสะสมมาอีกประมาณ 5 ปี ยิ่งศึกษามากขึ้นก็พบว่าเกือบทุกอย่างขัดกับความเชื่อเดิม และหลักฐานต่างๆ ที่ศึกษา นำไปสู่ข้อสรุปเดียวที่เขาไม่มีทางปฏิเสธได้เลยคือ สิ่งมีชีวิตต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงมาจากสิ่งมีชีวิตอื่น
การวิวัฒนาการต้องเป็นจริงจึงจะอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เขาเห็นได้อย่างมีเหตุมีผล
กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ดาร์วินยังตอบไม่ได้คือ อะไรเป็น “กลไก” ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตเปลี่ยนจากสปีชีส์หนึ่งไปเป็นอีกสปีชีส์หนึ่งได้? อะไรที่ทำให้สิ่งมีชีวิตรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป? 

ในขณะที่เขาพยายามหาคำอธิบายนี้ ดาร์วินไม่รู้เลยว่าคำอธิบายที่เขาต้องการ ถูกเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งมานานกว่า 40 ปีแล้ว
5.
ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ผู้คนจากชนบทมีการย้ายถิ่นฐานเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความแออัด สกปรก และความอดอยาก ในยุคนั้นมีการถกเถียงกันระหว่างนักวิชาการว่าควรจะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ หนึ่งในคนที่เขียนถึงปัญหานี้คือ โธมัส มัลธัส (Thomas Malthus)
Thomas Robert Malthus
เขาได้เขียนไว้ในหนังสือ An Essay on the Principles of Population โดยในตอนหนึ่งเขาพูดถึงปัญหาของประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นเร็วเกินกว่าที่ทรัพยากรของโลกจะรองรับได้ และเมื่อถึงจุดนั้นอาหารจะมีไม่พอสำหรับทุกคน ทำให้เกิดการแก่งแย่งทรัพยากรต่างๆ เมื่อคนมากขึ้นที่อยู่อาศัยก็ไม่เพียงพอทำให้คนอยู่กันอย่างแออัดเองและสุดท้ายกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค มีการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ผู้คนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและตามมาด้วยหายนะครั้งใหญ่ที่ทำให้ผู้คนล้มตายไปจำนวนมาก
ในช่วงที่ดาร์วินพยายามหาคำอธิบายว่าอะไรคือกลไกที่ทำให้สัตว์มีการเปลี่ยนแปลง เขาได้มีโอกาสอ่านหนังสือของมัลธัส และจุดนี้เองได้ทำให้ทฤษฎีที่เคยมีช่องโหว่ของเขากลับมาต่อกันสนิทเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจน หนังสือของมัลธัสทำให้ดาร์วินเข้าใจว่าอะไรเป็นแรงผลักให้มีสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่เกิดขึ้น
ทั้งหมดมันเริ่มจากความจริงที่ว่าโลกเรามีทรัพยากรที่จำกัด มีที่อยู่อาศัยและอาหารในปริมาณอันจำกัด สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมาะกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะมีโอกาสหาอาหารได้ดีกว่า ดำรงชีวิตได้ดีกว่า มีโอกาสสืบพันธุ์มากกว่าและมีลูกหลานมากกว่า ทำให้ลักษณะดังกล่าวถูกคัดเลือกให้ดำรงอยู่ต่อไปในธรรมชาติ ส่วนสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้นก็จะน้อยลงจนอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด
และนี่คือข้อความสำคัญที่เป็นหัวใจของทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ส ดาร์วิน ที่ต่างไปจากทฤษฏีวิวัฒนาการอื่นๆที่มีมาก่อนหน้า
6.
หลังจากนั้นมาดาร์วินก็ทำงานศึกษาวิจัยในรายละเอียดมาอย่างต่อเนื่องอีกเป็นเวลา 20 ปี ก่อนที่จะนำหลักฐานต่างๆที่ศึกษามาตลอด มาสรุปไว้ในหนังสือ
ในเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 1859 หนังสือ On the Origin of Species ก็ได้รับการตีพิมพ์สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก
นับจากวันที่หนังสือ On the origin of species ตีพิมพ์ครั้งแรกก็ผ่านมาแล้วประมาณ 160 ปี ในช่วงปีแรกๆที่หนังสือออกมานั้น แม้ว่าหนังสือและทฤษฎีของดาร์วินจะโด่งดัง เป็นที่พูดถึงและถกเถียงกันมากมายในยุโรป แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังก็พบว่าทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกตามธรรมชาติของดาร์วินนั้น สำคัญและมีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์มากกว่าที่คิดไว้มากมาย
1
ทฤษฏีวิวัฒนาการช่วยอธิบาย แม้กระทั่งพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ เช่น ทำไมผู้ชายมีแนวโน้มจะเจ้าชู้มากกว่าผู้หญิง ทำไมคนเราชอบกินอาหารที่ไม่ดีกับสุขภาพ ทฤษฎีวิวัฒนาการยังช่วยอธิบายปรากฎทางการแพทย์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เชื้อดื้อยา การเกิดเซลล์มะเร็ง การเกิดโรคทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อต่างๆทฤษฎีวิวัฒนาการยังมีส่วนช่วยอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น อธิบายทำไมวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จึงเกิดขึ้นผ่านวิชา Behavioral Economics และอื่นๆอีกมากมาย
ดังคำที่ ธีโอดอร์ ดอปแชนสกี (Theodore Dobzhansky) นักชีววิทยาที่ยิ่งใหญชาวยูเครนเคยกล่าวไว้ว่า Nothing in Biology Makes Sense except in the Light of Evolution ไม่มีอะไรในวิชาชีววิทยาที่ดูสมเหตุสมผลยกเว้นเสียแต่จะเข้าใจผ่านกระบวนการวิวัฒนาการ
1
(Ads)
ชอบประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์แบบนี้ แนะนำอ่านหนังสือ "เรื่องเล่าจากร่างกาย" สามารถสั่งซื้อได้จาก
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา