11 ม.ค. 2020 เวลา 00:19 • สุขภาพ
การเลี้ยงไส้เดือน การผลิตปุ๋ยและน้ำหมักจากมูลไส้เดือน (ใจเกษตร EP12)
ปุ๋ยมูลไส้เดือน เป็นที่ต้องการของตลาดสายเกษตรอินทรีย์มาก เพราะมีธาตุอาหารหลายชนิดที่รากพืชสามารถดูดซึมใช้ได้ทันที และเป็นปุ๋ยไร้สารเคมี (Organics)
ไส้เดือนโตเต็มวัย
อีกทั้งมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์หลายพวก เช่น พวกสังเคราะห์แสง พวกที่ใช้ในการหมักปุ๋ย พวกตรึงไนโตรเจนในอากาศ เป็นต้น
อย่างปุ๋ยขี้วัว รากพืชยังไม่สามารถดูดธาตุอาหารได้ทันที ต้องรอให้จุลินทรีย์ในธรรมชาติ ย่อยสลายปุ๋ยขี้วัวก่อน ซึ่งกระบวนการนี้ สร้างความร้อนทำลายรากพืช อาจทำให้ต้นไม้ตายได้
ปุ๋ยมูลไส้เดือน ขายปลีกราคาอยู่ราวๆ 35 บาท/kg จึงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีราคาแพงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยขี้ไก่ เป็นต้น
เริ่มจากการเตรียมอาหารของไส้เดือน
ไส้เดือนเป็นสัตว์กินซากพืช เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ จึงใช้ปุ๋ยขี้วัวเป็นหลัก ผสมกับอินทรีย์วัตถุ ที่ท่านสะดวกจัดหาได้ง่าย มีหลายอย่าง เช่น
1. ขุยมะพร้าว
2. ก้อนเชื้อเห็ดใช้แล้ว
3. ซากพืช เช่น ใบไม้ ผัก ฟาง หญ้า ฯลฯ
ควรต้องป่นละเอียด เพื่อในการแยกมูลไส้เดือนออกจากไส้เดือน ได้โดยง่าย
ใช้ปุ๋ยขี้วัว 2 ส่วน และอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วหมักในที่ร่ม ให้มีความชื้นเล็กน้อย ทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน จนมั่นใจว่าเกิดการหมักสมบูรณ์ ปุ๋ยหมักเย็นตัวลงแล้ว
การหมักจะสร้างความร้อน ถ้าปล่อยไส้เดือนลงไปทันที ไส้เดือนจะร้อนตาย
หรือจะใช้ปุ๋ยขี้วัว 100% ไม่ผสมอินทรีย์วัตถุเลยก็ได้ แต่ที่สำคัญ ต้องหมักให้หายร้อนก่อน
ภาชนะที่ใช้เลี้ยงไส้เดือน
ภาชนะที่ใช้เลี้ยงไส้เดือน
ที่ XL Farm (ใจเกษตร EP8) จะใช้ภาชนะเก่าทิ้งแล้วเป็นส่วนใหญ่ หรือจะเลี้ยงในรองปูนก็ได้ แต่ควรมีการระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้มีน้ำขัง
วงจรชีวิตไส้เดือน
ไส้เดือนออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกหุ้ม เรียกว่า ไข่โคคูน ไข่ไส้เดือนมักจะป่นไปกับปุ๋ยมูลไส้เดือน หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เข่น เกิดความแห้งแล้ง ไข่ไส้เดือนจะรอฟักตัวได้หลายปี
วงจรชีวิตไส้เดือนจากเวป มูลจันทร์ฟาร์ม
ขอขอบคุณภาพวงจรชีวิตไส้เดือนจากเวป มูลจันทร์ฟาร์ม
เราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากไข่ หนทางที่ง่ายกว่านั้น เราควรนำพ่อแม่พันธุ์ชุดแรก เลี้ยงในภาชนะใส่อาหารใส่เดือนที่เตรียมไว้ประมาณ 2 - 5 เดือน ขึ้นกับสัดส่วน พ่อแม่พันธุ์ กับ อาหาร
ถ้าพ่อแม่พันธุ์มาก ก็เลี้ยงไม่นาน 2-3 เดือน
ถ้าพ่อแม่พันธุ์น้อย ก็เลี้ยงนานขึ้น 4-5 เดือน
ดูที่อาหารไส้เดือน ถ้าเปลี่ยนเป็นมูลไส้เดือน คือเปลี่ยนเป็นเม็ดกลมๆเล็กๆ เกือบทั้งหมดแล้ว ให้แยกไส้เดือนออกจากมูลไส้เดือนด้วยการร่อนตระแกรง
แล้วเริ่มรอบการเลี้ยงไส้เดือนชุดต่อไป ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ได้หลายๆรอบ
ไม่ต้องกังวลเรื่องเพศของพ่อแม่พันธุ์ ตัวไหนตัวผู้ ตัวไหนตัวเมีย
ไส้เดือนเป็นสัตว์สองเพศ ขอให้มีไส้เดือนแค่ 2 ตัวขึ้นไป ก็จับคู่ผสมพันธุ์ได้
ร่อนตระแกรง เพื่อแยกไส้เดือนออกจากมูลไส้เดือน
กระบวนการแยกไส้เดือน ออกจากมูลไส้เดือน เราจะได้
1. พ่อแม่พันธุ์ชุดต่อๆไป ใช้ขยายการเลี้ยงเพิ่มเติมได้
2. ปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อนำไปใช้เอง หรือเพื่อนำไปขาย
เทคนิคการแยกไส้เดือนออกจากมูลไส้เดือน ของ XL Farm
หากนำมูลไส้เดือนและไส้เดือน มาร่อนในตระแกรงทั้งภาชนะที่เลี้ยงไส้เดือน พ่อแม่พันธุ์จะบอบชำมากเกินไป จากการถูกร่อนในตระแกรง
XL Farm ใช้เทคนิคที่รู้ว่าไส้เดือน ชอบความชื้น จึงแยกมูลไส้เดือนเป็นสองด้าน ด้านแรกยกให้สูง และไม่ให้น้ำด้านนี้(ปล่อยให้แห้ง) และอีกด้าน(ด้านต่ำ) ก็ให้น้ำเป็นปรกติ
ไส้เดือนจะย้ายมาอยู่ด้านต่ำ ที่มีการให้น้ำแบบปรกติเกือบทุกตัว
จากนั้นให้โกยมูลไส้เดือนด้านสูงที่ปล่อยให้แห้ง ซึ่งแทบไม่เหลือไส้เดือนอยู่แล้ว นำไปร่อนในตระแกรงต่อไป
4 ปัจจัยชีวิตไส้เดือน
1. อาหารไส้เดือน ตามที่อธิบายไว้แล้ว
2. ความชื้น ภาชนะเลี้ยงจะต้องมีความชื้น แต่ไม่แฉะจนเกินไป
3. อุณหภูมิห้อง ดังนั้น โรงเลี้ยงต้องหลีกเลี่ยงการโดนแดดส่องโดยตรง
4. ป้องกันศัตรูไส้เดือน เช่น มด หนู ตุ๊กแก ควรต้องคอยสอดส่อง หรือทำมุ้งเขียวป้องกันศัตรูไส้เดือน
พันธุ์ไส้เดือน
ควรซื้อจากฟาร์มที่น่าเชื่อถือ ราคาประมาณ 1,000 บาท/kg ซื้อแค่ 1 ขีดหรือ 2 ขีดก็พอ ถ้าเราเลี้ยงตามปัจจัยที่ไส้เดือนต้องการ ไส้เดือนจะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนเอง แต่ที่สำคัญ จะต้องเป็นพันธุ์แท้
การทำน้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน
โดยทั้วไป น้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน จะเกิดจากกระบวนการเลี้ยงไส้เดือน คือการให้น้ำที่ภาชนะเลี้ยงไส้เดือน แล้วถ้าน้ำมากเกินไป น้ำจะไหลซึมผ่านปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ละนิด
1
รองปูนเพื่อแยกน้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน
ขอขอบคุณภาพจาก ฟาร์มไส้เดือนเดช
ดั้งนั้น การที่จะได้น้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน จะต้องออกแบบภาชนะเลี้ยง หรืออาจต้องสร้างบ่อปูน ที่รองรับการไหลซึมและเก็บกักน้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน
การสร้างบ่อปูน ช่วยให้ทำงานง่าย แต่มีข้อเสีย ที่จะเลี้ยงไส้เดือนแบบคอนโดไม่ได้ (เลี้ยงในภาชนะเป็นชั้นๆ)
คือ ต้องใช้พื้นที่เยอะ ไม่เหมาะกับเกษตรที่มีพื้นที่จำกัด
1
เทคนิคการทำน้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน ของ XL Farm
เพื่อแก้ปัญหานี้ ด้วยการนำปุ๋ยมูลไส้เดือน นำมาหมักโดยตั้งใจจะเพิ่มปริมาณกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ แทนการเก็บน้ำซึมไหลผ่านปุ๋ยมูลไส้เดือน
วิธีนี้ เป็นการปรับสูตรการทำน้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือนจากสูตรของ สวทช
มีส่วนผสม ดังนี้
1. ปุ๋ยมูลไส้เดือน จำนวน 20kg (หัวเชื้อจุลินทรีย์)
2. กากน้ำตาล จำนวน 20kg
3. พด.2 จำนวน 1 ซอง (หัวเชื้อจุลินทรีย์)
4. นมจืด จำนวน 1 ลิตร
5. ผสมน้ำสะอาด เกือบเต็มถังพลาสติก 200 ลิตร
การทำน้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน
เก็บไว้ที่หลบแสดแดด ใช้ปัมป์ให้ออกซิเจนตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 เดือน ก็จะได้น้ำหมักปุ๋ยมูลไส้เดือน ที่มีกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากมาย หลายๆกลุ่มที่พืชต้องการ และใช้กำจัดกลิ่นน้ำเสีย น้ำเน่า ได้ดีมาก
ทั้งหมดที่กล่าวมา ตั้งแต่การเลี้ยงไส้เดือน การแยกปุ๋ยมูลไส้เดือน และการทำน้ำหมักจากมูลไส้เดือน มีหลายๆแบบ เพื่อให้ผู้สนใจเปรียบเทียบ แล้วนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม หวังว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย นะครับ
สนใจการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม
โปรดติดตาม ใจเกษตร EP ต่อไป
ได้ที่ Blockdit: www.blockdit.com/worklifewinwin

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา