26 พ.ย. 2019 เวลา 10:37 • ประวัติศาสตร์
2 มีนาคม ค.ศ. 1935 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ฉายพระรูปที่ที่ประทับในเซอร์เรย์ อังกฤษ (ภาพจาก: https://www.gettyimages.com/detail/news-photo/former-king-prajadhipok-and-queen-sri-sangwan-in-the-garden-news-photo/106506364)
วันที่ 2 มีนาคม นับว่าเป็นวันหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยครับ โดยวันนี้ในปีค.ศ. 1935 หรือ พ.ศ. 2477 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) รัชกาลภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญของพระองค์เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับคณะราษฎร นับตั้งแต่พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดย นายปรีดี พนมยงค์ พระองค์ทรงมองว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี เป็น "อันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซีย (โซเวียต) ใช้อยู่" ที่มีข้อเสนอหลักชักชวนให้นำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นของชาติโดยสมัครใจ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในกลุ่มนิยมเจ้าที่คณะราษฎรตั้งขึ้นมา ได้ปฏิเสธเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ จึงเกิดความขัดแย้งกับคณะราษฎร พระยามโนปกรณ์จึงรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกายุบสภาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ผ่านพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์แทบจะทันที เพื่อเป็นการนิยามผู้คนที่มีแนวคิดแบบเค้าโครงเศรษฐกิจว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" ปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ถูกรัฐประหารซ้อนในเดือนมิถุนายน โดยนายทหารหนุ่มฝ่ายคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่สอง นายปรีดีได้เดินทางกลับประเทศ
หนังสือพิมพ์ New York Times ลงข่าว "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม สละราชสมบัติ เนื่องจาก ระบอบประชาธิปไตยถูกปฏิเสธ" (ภาพจาก: http://www.rarenewspapers.com/view/638612)
กบฏบวรเดชได้เกิดขึ้นในช่วงต้นของรัฐบาลพระยาพหลฯ นำโดยฝ่ายนิยมเจ้าของพระองค์เจ้าบวรเดช แต่ก็ถูกปราบปรามโดยคณะราษฎร คณะราษฎรเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การสนับสนุนกบฏบวรเดช และมีหลักฐานว่าทรงให้เงินและกำลังใจ และความขัดแย้งได้มีมากยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จไปประทับที่ยุโรปเพื่อรักษาพระเนตร ทรงปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายบางฉบับ และทรงเรียกร้องให้เปลี่ยนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ให้พระองค์ทรงมีอำนาจยับยั้งกฎหมายได้ แต่คณะราษฎรปฏิเสธ พระองค์จึงทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477
"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร... ...บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เปนต้นไป" — ประชาธิปก ปร. ข้อความในพระราชหัตถเลขา
คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป
หนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ลงข่าว "พระมหากษัตริย์สยามสละราชบัลลังก์ 'ทุกอย่างจบแล้ว' " (ภาพจาก:http://www.alainbernardenthailande.com/2015/07/193-le-roi-rama-vi-de-son-abdication-a-sa-mort-et-au-retour-de-ses-cendres-en-thailande.html)
อ้างอิง
- "ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย" โดย คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร
- "2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ" โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
โฆษณา