27 พ.ย. 2019 เวลา 01:29 • ความคิดเห็น
ด้วยลักษณะงานต้องเกี่ยวพันกับเทือกสวนไร่นา ป่าสวนหรือธรรมชาติ
ดังนั้นในการดำเนินงานจึงต้องกระทบกับชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้
และต่อกรณีที่ตอนนี้มีข่าวนักการเมืองคนดังของพรรคหนึ่งโดนร้องเรียนว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจนเป็นกระแสดัง
ในเมื่องานของแมวเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ก็เลยอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมาสะท้อนว่าข้อเท็จจริงตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างไร
แต่มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้อ่านที่มีเกียรติทุกท่านทราบก่อนว่า
๑ บทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยสิ้นเชิง
๒ ไม่มีเจตนาโจมตีหรือให้ร้ายใคร
๓ บทความมีการสอดแทรกเนื้อหาทางวิชาการด้านกฎหมายเข้ามาบ้าง โดยอาศัยพื้นฐานจากที่เคยเรียนด้านกฎหมายจากรามฯ จึงริอาจสามารถเขียนบทความทางด้านกฎหมายได้สักธุลีนึง
มาเข้าเรื่องกันเลย
ดังที่ข้างต้นได้เกริ่นนำไว้ว่าลักษณะงานของแมวที่ต้องเกี่ยวพันธ์กับเทือกสวน ไร่นา ป่าเขาหรือธรรมชาติ
หน้าที่หลักของแมวนอกจากดูแลด้านการก่อสร้างแล้วยังงมีอีกหน้าที่คือ การชี้แจงทำความเข้าใจหรืออธิบายถึงเหตุผลของการเกิดขึ้นของโครงการที่ต้องกระทบกับทรัพย์สินของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่อยู่ในแนวก่อสร้าง
ซึ่งในการอธิบายนอกจากต้องใช้ทักษะในด้านการเจรจาแล้วต้องใช้องค์ความรู้ด้านกฎหมายควบคู่กันไป
เขียนมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแมวทำงานอะไร แต่ต้องขออภัยที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ บอกได้แค่ว่าเป็นหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น
ทีนี้ต่อกรณีที่แมวต้องรุกพื้นที่ของชาวบ้านเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการนั้น มันต้องรุกเข้าไปในพื้นที่
๑ มีเอกสารสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย และ..
๒ พื้นที่ที่ชาวบ้านครอบครองหรือใช้ประโยชน์แต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือในทางกฎหมายเรียกที่ดินประเภทนี้ว่า ที่ดินที่ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายที่ดิน นั่นเอง
ซึ่งพื้นที่ที่ใช้ดำเนินการก่อสร้างโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภูเขา หรือชายเขา หรือในเขตป่าที่อยู่ในบังคับของ พรบ กรมป่าไม้ หรือ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหลัก
ถามว่าในเมื่อพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างเป็นของหลวงจะดำเนินการก่อสร้างได้อย่างไร
กรณีนี้ไม่ยากครับ เพราะกรณีหน่วยงานรัฐหากจะดำเนินการก่อสร้างโครงการใดๆที่เป็นการบริการสาธารณะหรือเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
หน่วยงานรัฐนั้นๆก็แค่ทำหนังสือขอนุญาตถึงกันเท่านั้น ก็จะเข้าใจกันสามารถดำเนินโครงการได้โดยอาศัยกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วร่างออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกาเป็นเหตุผลประกอบการก่อสร้าง
ฟังดูเหมือนง่ายในการก่อสร้าง เพราะหลวงกับหลวงน่าจะคุยกันด้วยสำเนียงภาษาเดียวกัน
ใช่ครับ หลวงกับหลวงคุยกันง่ายอย่างว่า หรือหากจะมีปัญหาอะไร ก็อาจมีบ้างที่จะงัดกันเพื่อโชว์พาวเวอร์ประมาณว่า มึงต้องให้เกียรติกุนะ กุเป็นเจ้าของพื้นที่นะ แต่ก็แก้ปัญหาง่ายๆโดยใช้ของเซ่นไหว้เล็กๆน้อยบวกกับกับแกล้มพอให้อ้อมแอ้มหอมปากหอมคอ
แต่ที่มันไม่ง่ายก็คือ การที่จะก่อสร้างรุกเข้าไปในพื้นที่ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน
ไม่ง่ายอย่างไร ดังได้เรียนไปว่าพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งระหว่างรัฐกับรัฐสามารถคุยกันได้
แต่ปัญหามันมีอยู่ว่าพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ เช่นกรมป่าไม้ ที่ต้องขออนุญาตในการก่อสร้าง
มันมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าครอบครองเพื่อทำประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นใช้ตั้งถิ่นฐาน ใช้สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดทางด้านการเกษตรหรือด้านการปสุสัตว์ หรือใช้ทำมาหากินหรือประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรม
โดยชาวบ้านอาศัยการผ่อนปรนจากกรมป่าไม้ที่ให้สิทธิใช้พื้นที่เพื่อตั้งบ้านเรือนหรือทำกินได้ชั่วคราว
แต่ๆๆ
พื้นที่นั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์เต็มของกรมป่าไม้ ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองได้ในทางกฎหมายไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น
1
โดยมี พรบ กรมป่าไม้และประมวลกฎหมายที่ดินปกป้องทรัพย์สินของหลวงไว้
ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดนี้เรียกว่า ที่ ภ.บ.ท.๕ หรือ เอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า) ไม่อยู่ในบทบัญญัติของประมวลกฎหมายที่ดินหรือบทบัญญัติของประมวลกฎหมายใดที่ประชาชนจะมีสิทธิ์ครอบครองได้
ดังนั้นที่ ภ.บ.ท.๕ นี้จึงเป็นของหลวงเต็ม ๑oo %
คือไม่ว่าประชาชนชนหน้าไหนก็ไม่มีสิทธิ์จับจองเป็นเจ้าของ
แต่กรณี ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ประชาชนครอบครองเพื่อตั้งที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบอาชีพทำมาหากินนั้นเป็นเพียงการผ่อนปรนเท่านั้น
ถามว่าชาวบ้านเข้าใจหลักกฎหมายนี้ไหม ตอบได้เลยว่า เข้าใจและรู้ดี
 
ถามว่าชาวบ้านยินดีไหมหากหน่วยงานซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะทวงคืน ตอบได้เลยว่า ไม่
โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมองค์ใดทั้งสิ้น
โดยไม่สนว่าทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน
ขอแค่ได้สิทธิ์ครอบครอง
โดยไม่สนว่า..
จะโดยประมวลกฎหมายหรือประมวลกฎหมู่
 
รู้หน่ะรู้..
แต่ดื้อแพ่งอย่างเดียวคือ กูก็จะเอาใครจะทำไม
หากหลวงหรือหน่วยงานรัฐใด จะใช้อำนาจแห่งประมวลกฎหมายเข้ายึดคืนก็พร้อมจะจับกลุ่มรวมตัวต่อรองด้วยความน่าสงสารเห็นใจ
ประมาณว่าก็แค่ชาวบ้านตาดำๆขอใช้สิทธิ์ทำกินเพียงเพราะความยากจนมันบังคับ
หรือหากหาข้ออ้างสาระพัดยังไม่ได้ผล ก็พร้อมปะทะโดยการประท้วงหรือพร้อมจะต่อสู้ทางชั้นศาล
คือจะสู้ ทั้งที่รู้ สู้ไปก็มีแต่แพ้
และต่อกรณีหน้าที่ของแมวเอง ก็เจอกับข้ออ้างสาระพัดดังที่ว่ามา ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานต้องยอมจ่ายค่าเวรคืนให้ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ได้
แต่ถ้าได้เงินค่าชดเชยน้อย ก็คือไม่ยอม
มันจึงเป็นงานที่ค่อนข้างปวดหัวและสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจโดนทำร้ายเพราะหลวงให้ไม่ได้ หรือไม่ยอมให้ ในบางเงื่อนไขที่เกินกว่าจะเจรจา
ซึ่งบอกตรงๆ เลย แมวเคยโดนขู่เอาชีวิตมา ๑ - ๒ ครั้ง เพียงเพราะไม่อาจสามารถหาทางออกให้เจ้าถิ่นตามคำเรียกร้องได้
กรณีที่ ภ.บ.ท.๕ นี้จึงเป็นอุปสรรคปัญหาสำคัญ ที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่แมวต้องหาทางออกให้ได้ ที่จะทำอย่างไรก็ได้ ที่หลวงจะสามารถดำเนินงานได้ และในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องได้รับค่าเยียวยาในราคาที่เหมาะสม
ืีทั้งที่ถ้าว่าตามกฎหมาย หลวงจะไม่จ่ายก็ได้แม้สักสตางค์เดียว พร้อมกันนั้นหากมีใครคนใดหัวแข็ง ก็ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าบังคับให้ออกจากและคืนพื้นที่ให้แก่หลวงได้
แต่นั้นมันเป็นไม้แข็ง ที่แม้หลวงมีความชอบธรรมจะใช้จัดการขั้นเด็ดขาดได้
แต่หลวงทำไม่ได้เพราะคุณธรรมและจริยธรรมที่ต้องคิดถึงสุขหรือทุกข์ของประชาชนที่ต้องมาก่อนเป็นประการแรก
เพราะต่อกรณีประชาชนธรรมดาชนชั้นรากหญ้า ต่อให้เขามีความโลภอยากได้สักแค่ไหน แต่นั้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะมองข้ามความเป็นอยู่กับวิถีดินของพวกเขา
ดังนั้นหากพอจะมีทางไหนก็แล้วแต่ ที่จะเป็นทางออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการถอยคนละก้าว เพื่อเจอกันคนละครึ่งทาง เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินไปได้ และให้ประชาชนได้รับการเยียวยา หากถอยได้หลวงก็จะทำ
แต่กรณีนี้ หากนำไปเทียบเคียงกับปัญหาครอบครองของนักการเมืองใด
เพราะมองมุมไหน ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดจะเปิดเป็นอภิสิทธิ์ยกเว้นให้กับนักการเมืองที่มีฐานะทางด้านชื่อเสียง เงินทองหรืออำนาจได้
กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ถ้าไม่ใช่ราษฎรที่ได้รับอนุญาตให้ได้สิทธิ์ทำกินแล้ว กรณีที่ดิน สปก. สำหรับผู้มีอันจะกิน ไม่สามารถใช้สิทธิใดๆได้ทั้งนั้น
และกรณีที่ดิน สปก.เดิมทีก็เป็นที่ดินที่ถูกยกสถานะมาจากที่ ภ.บ.ท.ซะส่วนใหญ่
คือจากที่ดิน ภ.บ.ท.ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของหลวงเต็มร้อยเปอร์เซ็น ประชาชนไม่มีสิทธิ์ครอบครองด้วยกรณีใดๆทั้งสิ้น
แต่เมื่อมีการยกสถานะเป็นที่ สปก.ก็หาใช่ว่าผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์จะมีกรรมสิทธิ์เต็มไม่ต่างจากที่ ภ.บ.ท.๕
คือเป็นการยกสถานะเพื่อเปิดช่องให้เข้าข้อกฎหมายที่รัฐจะสามารถจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน ให้มีที่ทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
ซึ่งต่อกรณีของนักการเมืองชื่อดัง หากพิจารณาถึงหลักเกณฑ์เข้าครอบครองรวมถึงใช้เงื่อนไขในการเข้าใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่ดิน ส.ป.ก.และ ภ.บ.ท.๕ ก็ยังหาเหตุผลที่จะมารองรับความถูกต้องชอบธรรมไม่ได้
ซึ่งก็ต้องรอดูหากมีการฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ศาลจะพิพากษาออกมาเป็นประการใด
ปิดท้ายด้วยข้อกฎหมายเล็กๆน้อยๆ แต่สำคัญมาก เพราะเป็นข้อกฎหมายที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับเราท่านที่มีที่ดินในครอบครอง
และซึ่งข้อกฎหมายนี้ นักการเมืองชื่อดังคนดังกล่าวก็ได้ออกมาสัมภาษณ์โดยใช้คำพูดตามหลักกฎหมายทุกอย่างว่า เป็นการได้มาและครอบครองซึ่งมีเจตนาจะเป็นเจ้าของ โดยสงบและเปิดเผยมากว่าสิบปี
คือตรงกับหลัก ครอบครองโดยปรปักษ์ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ที่บัญญัติว่า " บุคคลใด ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้ กรรมสิทธิ์ "
ซึ่งแม้ที่ดินที่มีปัญหา ที่นักการเมืองชื่อดังจะครอบครองโดยมีคนรู้เห็นหรือไม่คัดค้านและมากกว่า ๑๐ ปี ตรงกับหลักกฎหมายทุกอย่าง โดยอาจหวังให้กฎหมายคมาตรานี้คุ้มครอง
แต่มันก็เป็นคนกรณีกัน เพราะหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา ๑๓๘๒ นี้มีจุดมุ่งหมายเป็นการปกป้อง คุ้มครองหรือให้สิทธิ์เฉพาะที่ดินมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดเท่านั้น เป็นคนละกรณีกับที่ดิน ส.ป.ก.หรือ ภ.บ.ท.๕ ซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ภายใต้กฎหมายใดจะคุ้มครองได้
พื้นที่ ภบท.๕ แนวก่อสร้างหน่วยงานต้นสังกัดแมว
ปอลอ ๑. บทความนี้อาจมีขาดตกบกพร่อง เพราะเขียนในเวลาเกือบตีหนึ่ง และตั้งเวลาโพสต์ไว้
 
ไม่ได้มีการตรวจทานโดยละเอียด เพราะง่วงและงงงวยมาก
หากผิดพลาดประการใดก็ขอภัยด้วยครับ
 
ปอลอ ๒. ช่วงนี้แมวอาจตอบหรือทักทายเพื่อนๆได้ไม่ทั่วถึง เพราะติดภารกิจในหน้าที่การงานและอาจห่างหายไปบ้าง
 
ซึ่งต้องขออภัยด้วยนะครับ
โฆษณา