1 ธ.ค. 2019 เวลา 04:20 • การเกษตร
ว่าด้วยปุ๋ยหมัก มหัศจรรย์ปุ๋ยอินทรีย์ 1
1
ปุ๋ยหมัก ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า compost นับเป็น organic superfood หรือซูเปอร์ฟู๊ดอินทรีย์ของพืช
Cr.https://blog.gardeningknowhow.com/tbt/the-origins-of-composting/
คนที่สนใจทำสวน และอยากได้ผลผลิตดี มีความปลอดภัย จำเป็นต้องรู้ และควรทำได้เอง
และแม้แต่คนที่ไม่ทำสวน แต่อยากสนับสนุนคนทำสวนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก ก็ควรต้องศึกษา เพื่อที่จะรู้และทำได้เอง
ความรู้ในเรื่องปุ๋ยหมัก เป็นของดีที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อคนสังเกตพบว่า เศษวัสดุอย่างใบไม้ใบหญ้า หรือวัสดุอินทรีย์ที่มีในธรรมชาติ เมื่อกองไว้ทับถมกันนาน ๆ แล้ว กอง ๆ นั้นก็จะมีลักษณะเหมือนดินร่วนซุย ดำ และดูจะทำให้ต้นไม้งอกงาม
3
กระบวนการที่สำคัญที่สุด และเป็นความรู้พื้นฐานมากที่สุด คือ กระบวนการหมัก (composting) ซึ่งมีพระเอกนางเอกที่สำคัญ นำแสดงโดยกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ชนิดต่าง ๆ ที่จะย่อยอินทรียวัตถุเหล่านั้น ให้มีคุณสมบัติคล้ายดินที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งจำเป็นต่อการปลูกพืช
2
ปุ๋ยหมักบางชนิด มีกระบวนการหมักที่ต้องผ่านการกินมูลสิ่งมีชีวิต หรือของเน่าเสียที่เป็นธรรมชาติเข้าไป แล้วปล่อยมูลออกมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งมูลอันนี้ก็ถูกนำไปใช้เป็นปุ๋ยที่ให้ความอุดมสมบูรณ์กับดิน ตลอดจนนำไปทำเป็นวัสดุเพาะเมล็ด หรือผสมในวัสดุปลูก ดินปลูกได้ต่อไป ปุ๋ยชนิดนี้คือปุ๋ยมูลไส้เดือน (vermicompost) ซึ่งขอแยกเล่าในตอนต่อ ๆ ไป
1
ปุ๋ยหมักทำได้ง่าย ได้ผลดีหากเข้าใจ ทำได้ง่ายทั้งในบ้านและนอกบ้าน สภาพอากาศร้อนหรือเย็น หมักแบบต้องอาศัยอากาศหรือต้องมีออกซิเจนด้วยที่เรียกว่า แอโรบิก (aerobic) หรือ ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic) มีหลายระบบ
2
แต่อย่างที่บอก ตอนที่ทำให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก อาจจะไม่เหมาะกับคนที่แหยงกลิ่นเหม็นของเน่าเสีย หรือมูลสัตว์ และคนที่รู้สึกว่าการทำสวน การทำเกษตร ต้องคลุกกับดิน งานหนัก และรู้สึกไปเองว่าสกปรก ไม่อยากแปดเปื้อนกับสิ่งปฏิกูล เพราะบ่อยครั้งที่เราต้องใช้อุปกรณ์ในร่างกายของเราที่สำคัญยิ่งคือมือ ที่ใช้คลุกเค้าส่วนผสมปุ๋ยหมักของเรา หรือแม้แต่จะต้องจับตัวน้อง ๆ ไส้เดือน
จะบอกว่าทำใจร่ม ๆ ค่ะ ถ้าอยากได้ของดีให้ต้นไม้เรา และท้ายที่สุดเราได้กินอาหารปลอดภัยแน่ ๆ และทำมาก ๆ นาน ๆ ไป ก็จะคุ้นชินได้เอง
Cr.https://www.gardensthatmatter.com/make-simple-worm-bin/
ทำให้ในที่สุดหลาย ๆ คน กลายเป็น นักหมักปุ๋ย (composter) และสร้างรายได้เป็นหลักแสนหลักล้าน ด้วยความรู้ และการพัฒนาสูตรปุ๋ยหมักไม่มีวันหยุด เพื่อให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดีที่สุด สร้างออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่น่าสนใจยิ่ง
ประโยชน์ของการใส่ปุ๋ยหมักให้กับดินในสวนของเราหรือพื้นที่ที่ใช้ปลูกพืช คือ
1.ปรับปรุงโครงสร้างดิน
2.จากข้อแรก จึงช่วยทำให้ดินสามารถอุ้มน้ำได้ดี โดยเฉพาะในดินทรายที่มักไม่อุ้มน้ำ
3.และยังส่งผลทำให้ในดินที่ค่อนข้างเป็นดินเหนียวหนัก น้ำขังได้ง่าย ปุ๋ยหมักจะช่วยทำให้ดินของเราระบายน้ำได้ดีขึ้น
4.ป้องกันหน้าดินแตก เมื่อต้นกล้าพืชของเรางอก
5.คงความเป็นก้อนของดิน ที่ทำให้มีช่องว่างภายในดิน จึงทำให้รากชอนไชลงไปในดินได้ง่าย
6.ช่วยปรับสมดุลของความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดิน พูดง่าย ๆ คือ ทำให้ดินมีสภาพเป็นกลาง ไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว เกินไป โดยเฉพาะในดินที่มีสภาพเดิมเป็นดินเปรี้ยว หรือดินเค็ม
7.ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับจุลินทรีย์ ไส้เดือนดิน แมลงที่อาศัยในดิน ซึ่งสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ ให้ประโยชน์เกี่ยวกับธาตุอาหารของพืชทางอ้อม
8.ช่วยให้มีจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยป้องกันโรคที่เกิดกับรากพืชบางชนิด
9.ช่วยลดการแก้ไขดินมีปัญหาและลดการใส่ปุ๋ย
10.ช่วยให้ธาตุอาหารรองหลายชนิด แต่อาจมีธาตุอาหารหลักเพียงเล็กน้อย
11.ช่วยเพิ่มความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุของดิน ซึ่งโดยทั่วไป ในดินจะมีสารละลายธาตุอาหารอยู่ และการดูดซับธาตุอาหารของพืชทำผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนประจุของเซลล์พืชและจากดิน
12.จากข้อ 11 ทำให้ดินที่เราใส่ปุ๋ยหมักนี้คงรักษาระดับธาตุอาหารที่สำคัญต่อพืช จึงช่วยเพิ่มระยะเวลาให้แก่พืชในการดูดซับนำไปใช้ได้นานขึ้น
13.ลดการชะล้างสารละลายธาตุอาหารส่วนเกิน ทำให้ป้องกันการไหลของธาตุอาหารซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากการใส่ปุ๋ยเคมีไปยังแหล่งน้ำ และทำให้เกิดมลพิษทางน้ำได้น้อยลง
14.ช่วยทำให้พืชของเรามีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้น จึงลดการใช้ยาฆ่าแมลงและยาป้องกันกำจัดเชื้อราได้
ประโยชน์ของปุ๋ยหมักในแง่การคำนึงถึงสภาพแวดล้อม
1.ลดปริมาณขยะที่จะนำไปทิ้งในบริเวณทิ้งขยะ
2.ลดแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการขนขยะไปทิ้ง
3.ลดปริมาณแก๊สมีเทนที่เกิดขึ้นมากในบริเวณที่ทิ้งขยะ
4.ช่วยป้องกันการไหลและการพังทลายของดิน
5.ช่วยฟื้นฟูดินที่เกิดมลพิษ โดยไปจับกับดินที่ปนเปื้อน และเพิ่มการดูดซับสิ่งปนเปื้อนในดินโดยพืช ส่งผลให้เป็นการกำจัดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นพิษออกไปจากดิน
6.ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า แค่เรื่องของการทำปุ๋ยหมัก ประโยชน์นั้นมีมหาศาล ทั้งต่อพืช ต่อคน และต่อสิ่งแวดล้อม และตรงกับหลักการของ zero waste for zero lost ที่ว่า ไม่มีอะไรให้สูญเสียเลย ทุกอย่างถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หมดจด ไม่เหลือแม้แต่เศษขยะ
ทุกอย่าง ล้วนเกื้อกูลกัน
แล้วจะมาเล่าให้ฟังถึงความหลากหลายของปุ๋ยหมัก และเราจะสามารถทำปุ๋ยหมักได้อย่างไร และนำไปใช้อย่างไรบ้างต่อไป
เรียนเกษตรแล้วได้ดี....1ธันวาคม2562🙏
โฆษณา