11 ม.ค. 2020 เวลา 14:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
The Moray Terraces แปลงทดลองเกษตรกรรมแบบขั้นบันไดในศตวรรษที่ 15 ของชาวอินคา 😉
ซึ่งแปลงทดลองนี้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความต่างของอุณหภูมิอากาศได้ถึง 15 องศาเซลเซียส
ทำให้ชาวอินคาสามารถพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์พืชผล อันส่งผลให้การเกษตรกรรมเฟื่องฟูไปทั่วอาณาจักร 😯👍
1
The Moray Terraces แปลงทดลองขนาดยักษ์, เครดิตภาพ: gertrudis2010/Wikimedia Commons
เชื่อไหมครับว่าเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ณ มุมหนึ่งของโลกมีอารยธรรมที่สามารถสร้างสถานีวิจัยด้านเกษตรกรรมที่เหลือเชื่อแห่งนี้ขึ้นมาได้ โดยไม่มีภาษาเขียน ลูกล้อเทียมเกวียน หรือเครื่องมือโลหะที่ทำจากเหล็ก
1
แผนที่แสดงอาณาจักรอินคาในช่วงเจริญรุ่งเรือง, Source: L'Américain/Wikimedia Commons
อาณาจักรอินคา เจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 1438 ถึง 1533 มีศูนย์กลางอยู่ในเทือกเขาแอนดีส ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ของประเทศเปรู เอกวาดอร์ ชีลี โบลิเวียและอาเจนตินา
ภาษาของชาวอินคาคือภาษาเกชัว ซึ่งแม้ไม่มีภาษาเขียนแต่ชาวอินคากลับมีเชือกร้อยปมที่เรียกว่า quipu เพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลและสื่อสาร แต่ปัจจุบันไม่มีผู้รู้วิธีใช้อุปกรณ์นี้แล้ว
quipu ของชาวอินคา, Source: Wikipedia
ชาวอินคานั้นยังมีงานหินที่น่าทึ่ง มีการสร้างถนนหินไปทั่วอาณาจักรเป็นระยะทางกว่า 3,200 กิโลเมตร โดยอย่าลืมว่าชาวอินคาไม่มีล้อเกวียน ไม่มีเครื่องมือเหล็ก และอยู่บนภูเขากับที่ราบสูงเป็นส่วนใหญ่
1
งานประกอบหินอันแสนเป๊ะของชาวอินคา สังเกตได้ว่าหินจะไม่ได้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมแต่จะถูกแกะให้มีร่องเข้าล็อคกับหินก้อนอื่น ๆ, Source: McKay Savage/Wikimedia Commons
งานหินของชาวอินคายังน่าทึ่งตรงที่ไม่มีการใช้ซีเมนต์ประสานหรือสลักเดือยเพื่อเชื่อมยึดหินเข้าไว้ด้วยกันเลย แต่ใช้การสลักหินที่เมื่อนำมาวางซ้อนกันจะต่อลงล็อคพอดีให้ขัดตัวอยู่ได้เอง 😯
Machu Picchu มรดกโลกหนึ่งในผลงานด้านงานหินที่น่าทึ่งของชาวอินคา Source: Martin St-Amant/Wikimedia Commons
โดยตัวอย่างหนึ่งของงานหินที่น่าทึ่งของชาวอินคานี้คงหนีไม่พ้น Machu Picchu มรดกโลกที่หลุดรอดสายตาของนักล่าอาณานิคมชาวสเปนไปได้จนถึงปี ค.ศ. 1911 จึงได้มีการสำรวจพบโดย Hiram Bingham นักสำรวจชาวอเมริกัน
แต่นั้นยังไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่น่าทึ่งของอาณาจักรแห่งนี้
ห่างไป 50 กิโลเมตรจาก Cusco เมืองหลวงของอาณาจักรอินคา จะปรากฎสถานที่อันน่าแปลกตาของแปลงเกษตรกรรมแบบขั้นบันไดที่ชื่อ The Moray Terraces
Moray Terraces แบบมุมข้างจะเห็นได้ว่าลึกมาก ๆ, Source: Emmanuel Dyan/Flickr
ตั้งอยู่บนที่ราบสูง 3,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ด้วยความลึก 30 เมตรและกว้าง 220 เมตร สถานที่แห่งนี้จะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างชั้นบนและชั้นล่างได้ถึง 15 องศาเซลเซียส สามารถจำลองสภาพภูมิอากาศได้ทั่วทั้งอาณาจักร
นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบดินและพบว่าดินแต่ชั้นนั้นถูกนำมาจากพื้นที่จริง ที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับแปลงนาชั้นนั้น คาดกันว่าเพื่อให้เป็นแปลงทดลองที่ใกล้เคียงกับสภาพพื้นที่จริงที่สุด
แต่ละชั้นสูงไม่ใช่เล่น, Source: David Flickr
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าด้วยแปลงเกษตรกรรมนี้ ชาวอินคาจะสามารถใช้พัฒนาสายพันธ์ุพืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ต้องการ ก่อนนำไปเพาะปลูกจริง
เช่น นำมันฝรั่งจากที่ราบลุ่มมีอากาศอบอุ่นมาลองเพาะในชั้นที่มีสภาพอากาศใกล้เคียงกับพื้นที่จริง ก่อนนำไปปลูกในชั้นถัดไปที่สูงขึ้นและมีอุณหภูมิเย็นกว่า
แปลงนาแต่ละขั้นสูงท่วมหัวคนได้, Source: David Flickr
หลังจากพืชปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ ก็จะนำเมล็ดพันธุ์ที่ทนทานอากาศหนาวได้ไปขยายพันธุ์เพื่อใช้เพาะปลูกในพื้นที่อื่นที่ต้องการต่อไป
ทั้งนี้กว่า 60% ของพันธุ์พืชที่เราใช้เป็นอาหารอยู่นั้นมาจากบริเวณเทือกเขาแอนดีสนี้เอง โดยเฉพาะมันฝรั่งที่เรากินกันนั้น มีถิ่นกำเนิดมาจากเปรู และปัจจุบันก็มีหลากหลายมากกว่า 2,000 สายพันธุ์
ความน่าทึ่งของแปลงทดลองอีกอย่างคือ แม้เวลาผ่านมากว่า 500 ปี แต่ยังคงสภาพดีมากแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูง
รวมถึงระบบชลประทานและการระบายนี้ ซึ่งแปลงทดลองนี้ไม่ว่าฝนจะตกหนักแค่ไหนแต่ชั้นล่างสุดไม่เคยมีน้ำท่วมเลย
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่าชาวอินคาทำได้ยังไง คาดเดากันว่าคงวางระบบระบายน้ำที่ใช้หินพรุนเอาไว้ก่อนสร้างแปลงขั้นบันไดทับ
2
ซึ่งการที่ทำแบบนี้ได้โดยไม่มีล้อ ไม่มีเครื่องมือเหล็กในสมัยนั้น มันน่าทึ่งมาก ๆ ครับ
ก็เป็นอีกหนึ่งอารยธรรมโบราณที่มีความรู้อันน่าทึ่งในหลาย ๆ ด้าน น่าเสียดายความรู้ของบรรพชนเหล่านี้ต้องสูญหายไปก่อนเวลาอันควร 😔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา