2 ธ.ค. 2019 เวลา 11:14 • ประวัติศาสตร์
เบื้องหลังแสงสีฟ้าที่สีหน้า...สิม วัดแจ้ง เมืองอุบลราชธานี สายสัมพันธ์การเมืองที่ใกล้ชิดระหว่างสยามและล้านช้างเวียงจันทน์ไทอุบล
รูปเรื่อง. ติ๊ก แสนบุญ
วัดแจ้ง ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิประสงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๘ ไร่ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ และได้รับรางวัลการอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในปีพ.ศ.2530 โดยประวัติวัดแจ้งที่ระบุไว้ในเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร๑ให้รายละเอียดว่า สร้างในปีพ.ศ. ๒๔๑๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2436 โดยผู้เป็นประธานในการสร้างวัดแจ้งนั้นคือเจ้าราชบุตร (หนูคำ บุตโรบล) หนึ่งในคณะอาญาสีผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานี เจ้าราชบุตร (หนูคำ บุตโรบล) ท่านเป็นโอรสในเจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) สืบเชื้อสายมาจากพระวรราชปิตา (พระตา) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือเมืองหนองบัวลุ่มภู และมาสถาปนาสร้างเมืองอุบล
เดิมท่านเคยเป็นข้าหลวงเก่าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้เกิดศึกฮ่อเข้ามาทางเมืองนครเวียงจันทน์และเมืองหนองคาย ท่านยังเป็นผู้รักษาราชการเมืองอุบล ต่อมาพระยามหาอามาตยาธิบดี (หรุ่น) ได้กราบทูลพระกรุณาฯแต่งตั้งเจ้าเมืองอุบลราชธานีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี
วัดแห่งนี้มี ศาสนาคารสิมหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า โบสถ์ที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ ข้อมูลอ้างอิงบันทึกการสร้างของวัดกล่าวว่าสิมหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2455 ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นต่างโดยสันนิฐานว่าเดิมน่าจะมีสิมเก่ามาก่อนแล้ว เพราะอย่างน้อยจากช่วงปีที่ตั้งวัดพ.ศ.2418 จนถึงราวปีพ.ศ.2436หลังจากได้สร้างวัดมากว่า18ปี และวัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๖ จึงน่าจะมีการสร้างสิมมาก่อนด้วยเหตุผลเพราะเป็นวัดที่สร้างโดยกลุ่มชนชั้นปกครองระดับเจ้าราชบุตรโดยอาจเป็นซ่อมแปลงใหม่ในอีก19ปีต่อมาในพ.ศ.2455 ซึ่งนำสร้างโดย ญาท่านเพ็ง(ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่2 อยู่ในช่วงราวปีพ.ศ.2440-2457) ท่านเป็นผู้ควบคุมอำนวยการก่อสร้าง ซึ่งท่านเองเป็นลูกศิษย์ญาท่าน หอ อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกซึ่งท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแรกสร้างของเจ้าเมืองอุบลมาก่อน ทำให้สิมหลังนี้มีความโดดเด่นในเชิงช่างสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ
สิมหลังนี้สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ใหม่แห่งภูมิปัญญาการสร้างสรรค์จากแบบแผนวิถีวัฒนธรรมล้านช้างพื้นเมืองอุบล ที่มีการปะทะสังสรรค์ต่อรองในเชิงช่างระหว่างความเป็นสยามและลาวล้านช้างสายสกุลช่างเวียงจันทน์แตกต่างจากยุคสร้างบ้านแปลงเมืองที่นำเข้ารูปแบบเชิงช่างล้านช้างเวียงจันทน์เป็นกระแสหลักสัมพันธ์กับขนบจารีตของยุคนั้นๆเช่นรูปแบบวิหารวัดหลวง ที่พังไปแล้ว โดยสิมวัดแจ้งหลังนี้ในยุคซ่อมสร้างในปีพ.ศ.2455 แสดงให้เห็นว่ารสนิยมใหม่ที่แสดงออกผ่านองค์ประกอบสถาปัตยกรรมส่วนต่างๆเช่น ฐานเอวขันแบบบัวงอนผสมกับแบบแผนฐานปัทม์แบบช่างหลวงสยาม พนักบันไดยังคงสืบคติรูปสัตว์ทวารบาลรูปจระเข้เทพเจ้าแห่งน้ำเฉกเช่นพญานาค ซึ่งเป็นคติพื้นเมืองเดิม ส่วนตัวเรือนมีช่องหน้าต่างมีหย่องหน้าต่างลวดลายพื้นเมืองอีสาน
คันทวยแบบนาคขดคดโค้งประดับกระจกหลากสีที่ได้รับการยกย่องอย่าง น.ณ.ปากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทยโบราณได้แสดงความประทับใจที่มีต่อ “…คันทวยจำหลักไม้(สิมวัดแจ้ง เมืองอุบล) ศิลปะลักษณะพื้นเมืองของอีสาน แม้จะจำหลักเป็นรูปนาคปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับภาคกลาง แต่นายช่างจำหลักได้สอดแทรกความคิดลงไป เห็นรูปร่างแปลกตากว่าที่เห็นในภาคกลาง การออกแบบตัวลายก็งามเป็นลักษณะพื้นเมืองโดยแท้” (น.ณ ปากน้ำ) “ และบริเวณแผงหน้าจั่วสามเหลี่ยมมีรูปลวดลายประดับที่บอกเราตัวตนประกอบด้วยรูปแกะสลักเป็นรูปดอกบัว อันน่าจะหมายถึงที่มาของชื่อเมืองอุบล ลวดลายช่อดอกกาละกับ ซึ่งเป็นแม่ลายสำคัญของสกุลช่างหลวงเวียงจันทน์ที่นิยมใช้มากตามวัดต่างๆในเขตเมืองอุบล แบบแผนลวดลายกระจังรวนแบบสยาม ซึ่งพบมากในแถบเมืองอุบล หรือสาหร่ายรวงผึ้งแบบสยามที่ผสมผสานกับฮวงผึ้งแบบล้านช้างได้อย่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว และส่วนที่สำคัญคือที่หน้าบันหรือสีหน้าที่มีความแตกต่างจากวัดอื่นๆ กล่าวคือมีการใช้รูปสัตว์ในวรรณคดีอย่างรูปคชสีห์ ซึ่งถือเป็นรูปสัญญะของกลุ่มเจ้านายพื้นเมืองที่มีฐานานุศักดิ์รองมาจากเจ้าเมือง ซึ่งน่าจะสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับคตินิยมรูปสัตว์ที่ทำนกหัสดีลิงด์ประเภทดั่งที่คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ได้อธิบายว่า เมรุรูปคชสีห์ ใช้กับผู้ที่ถึงอสัญกรรม ที่มีตำแหน่งรองลงมาจากเจ้าอาญาสี่ แต่เป็นผู้มีเชื้อสายสืบมาจากอาญาสี่ ไม่มีสิทธิ์นำศพขึ้นนกหัสดีลิงค์ เจ้านายและประชาชนจึงทำเมรุขึ้นอีกแบบหนึ่งเป็นรูปคชสีห์ ประกอบหอแก้ว แล้วเชิญศพขึ้นประดิษฐานบนหอแก้ว แล้วก็ชักลากไปพิธีฌาปนกิจเมรุคชสีห์ ครั้งสุดท้ายคือเมรุเผาศพพระอุบลกิจประชากร (ท้าวบุญเพ็ง บุตรโฮบล)
ดังนั้นการปรากฏรูปคชสีห์ในส่วนสีหน้าที่สำคัญนี้ ย่อมสื่อความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับผู้สร้างวัดแจ้ง แห่งนี้ ประกอบข้างซ้ายขวาช้างเอราวัณ(อีกนัยยะหนึ่งหมายถึงเทพแห่งทิศตะวันออก)และมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ด้านบน(ซึ่งถูกโจรกรรมหายไปนานแล้วน่าจะก่อนปีพ.ศ.2510) คตินี้ช่างพื้นเมืองอุบลน่าจะได้รับอิทธิพลร่วมมาจากสยามเช่นเดียวกับสิมวัดทุ่งศรีเมือง สำนักช่างที่มีความสัมพันธ์เชิงช่างกับสยามอย่างแนบแน่น ซึ่งก็ปรากฏการใช้รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่สีหน้าสิมด้วยเช่นกัน หากแต่ในวัดพื้นเมืองทั่วๆไปคตินี้ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ช่างพื้นบ้าน ส่วนยอดที่เป็นเครื่องลำยองต่างๆล้วนเป็นลักษณะสกุลช่างพื้นบ้านเมืองอุบลโดยเฉพาะรูปนาคสะบัดหงอน ส่วนวัสดุมุงหลังคาเดิมมุงด้วยแป้นไม้หรือกระเบื้องไม้ ราวปีพ.ศ.2495จึงมีการซ่อมแปลงเป็นกระเบื้องดินเผาตามบันทึกของ วิโรฒ ศรีสุโรในหนังสือสิมอีสาน และล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2561หน่วยงานที่ดูแลได้ทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่อีกครั้งด้วยการติดกระจกสีตามหลักฐานเดิมยืนยันว่ามีการประดับกระจกสี ซึ่งแตกต่างจากการซ่อมครั้งก่อนหน้าซึ่งไม่ได้มีการติดกระจกสีตามแบบแรกสร้าง ทำให้เกิดวิวาทะในสังคม ทั้งกลุ่มนักอนุรักษ์ซึ่งเข้าใจว่าเดิมไม่มีกระจกสี ทั้งหมดได้ทำให้สิมหลังนี้เป็นที่สนใจเป็นอย่างมากทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่เข้าไปถามหาความจริง
ทั้งหมดจะเห็นถึงการผสมผสานกันไปมาของ2สกุลช่างทั้งราชสำนักเวียงจันทน์และราชสำนักสยาม เฉกเช่นเดียวกันกับพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่งตายตัว ก่อให้เกิดเป็นนวัตศิลป์ใหม่ไทย-อุบลที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองผ่านเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์สมัยที่ส่งผ่านงานช่างสร้างสรรค์ ณ สิมวัดแจ้งแห่งเมืองอุบลและอีสานในเวลาต่อมา
Cr.โมเดล นศ.สถาปัตย์ม.อุบล
ขอบคุณงบสนับสนุนจากงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ม.อุบล
โฆษณา