3 ธ.ค. 2019 เวลา 01:36
วัดเทพธิดารามวรวิหาร
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร อยู่ติดกับวัดราชนัดดารามวรวิหาร
วัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี (ชนิดวรวิหาร) แรกเริ่มเดิมทีมีชื่อว่า "วัดพระยาไกรสวนหลวง" รัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๗๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพและสร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ พระราชทานนามว่า วัดเทพธิดาราม
1
พระอารามประดับไปด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบที่มีลวดลายสวยงามและตุ๊กตาจีนเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากความรุ่งเรืองทางด้านการค้าระหว่างประเทศจีนและสยามในสมัยนั้น
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสลักด้วยศิลาสีขาวบริสุทธิ์เรียกกันว่า "หลวงพ่อขาว"
ประดิษฐานอยู่ใน "เวชยันต์บุษบก" ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานนามว่า "พระพุทธเทววิลาส"
กรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียน วัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จุดเด่นของพระอุโบสถคือ หลังคาของอุโบสถจะไม่มี "ช่อฟ้าใบระกา" เหมือนอุโบสถวัดอื่น ๆ และหน้าบันประดับไปด้วยกระเบื้องเคลือบที่มาจากประเทศจีน
ที่วัดแห่งนี้ยังมีสถานที่ ๆ น่าสนใจเช่น พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ (วันที่ไปถ่ายรูปมีการซ่อมแซมจึงไม่สามารถเข้าไปได้) และ อุโบสถเล็กที่มีรูปปั้นภิกษุณี ๕๒ องค์
ภิกษุณี หมายถึง หญิงที่ได้อุปสมบทแล้ว , พระผู้หญิงในพุทธศาสนา
ความเป็นมาของภิกษุณี เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๕ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้าโดยมีพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา(พระน้านาง)ซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระภิกษุณีรูปแรก
หลังจากพระเจ้าสุทโธทนะปรินิพพานแล้ว วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธารามในเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไปเฝ้าและทูลขออนุญาติให้สตรีออกบวชในพระธรรมวินัย แต่การณ์นั้นมิใช่ง่าย พระพุทธเจ้าตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง!!!!
ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลี ทรงประทับที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีไม่ละความพยายามถึงกับปลงผม นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดเอง ออกเดินทางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะจำนวน ๕๐๐ นางไปยังเมืองเวสาลีและได้มายืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มประตูนอกกูฏาคารศาลา พระบาทบวม พระวรกายเปรอะเปื้อนธุลี ทรงมีความทุกข์โศกเศร้าเสียพระทัยยิ่งนัก
จนพระอานนท์มาพบเข้า สอบถามทราบความแล้วก็รีบไปกราบทูลขออนุญาตให้ แต่ก็ถูกพระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง
ในที่สุด พระอานนท์เปลี่ยนวิธีใหม่โดยกราบทูลว่า "สตรีออกบวชในพระธรรมวินัยแล้วจะสามารถบรรลุโสดาปัตติผลจนถึงพระอรหันต์หรือไม่" พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "ได้" พระอานนท์จึงอ้างเหตุผลนั้นพร้อมทั้งการที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระมาตุจฉาและเป็นพระมารดาเลี้ยงมีอุปการะมากต่อพระองค์ แล้วขอให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกบวช
พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่า พระนางจะต้องปฏิบัติตาม "คุณธรรม ๘ ประการ" พระนางยอมรับตามพุทธานุญาตที่ให้ถือว่าการรับครุธรรมนั้นเป็นดารอุปสมบทของะระนาง ส่วนเจ้าหญิงศากยะที่ตามมาทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างรูปหมู่พระภิกษุณีไว้ เมื่อครั้งสถาปนาวัดเทพธิดารามในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นศิลปกรรมในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนหน้าพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหาร เป็นรูปหล่อด้วยดีบุกทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว สูง ๒๑ นิ้ว จำนวน ๕๒ องค์ (นั่ง ๔๙ องค์ และยืน ๓ องค์) อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ หลากหลายท่า มีทั้งท่านั่งปฏิบัติธรรม , ฟังธรรม , เสวนา , ฉันหมาก , ยืนไหว้ ฯลฯ
การสร้างพระภิกษุณีน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานว่า รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์จะนำพุทธบริษัท อันปรากฎอยู่ในพุทธประวัติมาแสดงไว้เป็นหลักฐานและประดิษฐานไว้ที่พระอารามแห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์เกียรติประวัติแด่พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระปิยราชธิดาในพระองค์ ซึ่งยกย่องเปรียบประดุจว่า "นางเทพธิดา"
โชคดีที่ได้เขียนครับ
KATO
DEC 3 , 2019
โฆษณา