Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 ธ.ค. 2019 เวลา 12:30 • กีฬา
ลูกจุดโทษในตำนาน นี่คือเรื่องราวของ การยิงแบบปาเนนก้าอันลือลั่น ลูกยิงที่ใครๆก็ขอหยิบยืมมาใช้ กลายเป็นไม้ตายอันสุดยอดในวงการฟุตบอล
ในประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของฟุตบอล เชื่อหรือไม่ว่าในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ หากจบ 120 นาที ยังไม่มีผู้ชนะ จะตัดสินด้วยการโยนหัวก้อย
หากคุณดวงดี เลือกเหรียญถูกฝั่งก็เข้ารอบไป แต่ถ้าคุณดวงซวยเลือกผิดฝั่งก็ตกรอบ
ฟังดูไม่แฟร์เลย แต่กฎมันเป็นแบบนั้นจริงๆ
แต่ในที่สุดก็มีการคิดค้นกฎใหม่ คือถ้าเสมอกันใน 120 นาที ให้ตัดสินด้วยการยิงจุดโทษฝั่งละ 5 ลูก
โดยคนคิดค้นกฎนี้คือกรรมการชื่อคาร์ล วาลด์ จากประเทศเยอรมัน ก่อนที่ไอเดียนี้ของคาร์ล วาลด์จะได้รับการยอมรับอย่างดี และขยายไปเรื่อยๆสู่ หลายประเทศในยุโรป
1
การยิงจุดโทษในยุค 70-80 มีเทคนิคการยิงอยู่แบบเดียว คือเลือกทาง แล้ววิ่งมาอัดเต็มแรง
ซัดเปรี้ยงไปเลย แล้วก็วัดใจเอากับโกล์ว่า จะพุ่งถูกหรือพุ่งผิด คือไม่ซ้าย ก็ขวา ทางใดทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มีนักเตะคนหนึ่ง เขามีไอเดียใหม่ๆ และพยายามตั้งโจทย์ว่าการยิงลูกโทษ จริงๆมันมีแค่วิธีนี้หรอ? คือต้องใส่แบบบ้าพลังอย่างเดียวหรือไง มันน่าจะมีทริกการยิงแบบอื่นๆ ที่สามารถจบสกอร์ได้เหมือนกัน
นักเตะคนนี้ คือชาวเชกโกสโลวะเกียที่มีชื่อว่า อันโตนิน ปาเนนก้า
ในอนาคตอีกไม่กี่ปีต่อมา ไม่มีใครจำได้ว่าเขาคือใคร แต่ทุกคนจำสิ่งที่เขาสร้างไว้ให้โลกใบนี้ได้
นั่นคือทริกในตำนาน "การยิงจุดโทษแบบปาเนนก้า"
ในยุค 70 เวลาดวลลูกโทษ บรรดานักเตะจะไม่ค่อยมีใครกล้าแปบอลเน้นๆ ให้เสียบมุม อาจด้วยวิวัฒนาการของรองเท้าสตั๊ดยุคก่อน มันยากที่จะยิงบอลให้เรียด และแรง ได้ในคราวเดียวกัน
นักเตะเกือบร้อยทั้งร้อย จะยิงจุดโทษด้วยการซัดเต็มแรง ซึ่งการซัดเต็มแรง ก็มีโอกาสที่ลูกจะหลุดกรอบไปเลย
ในปี 1974 อันโตนิน ปาเนนก้า นักฟุตบอลชาวเช็ก ที่เล่นอยู่กับสโมสรโบฮีเมียนส์ เกิดความคับแค้นในใจ ถึงฝีมือการยิงจุดโทษของตัวเอง
ในเกมลีกที่ โบฮีเมียนส์ พบ วิคตอเรีย พิลเซ่น ปรากฏว่า โบฮีเมียนส์ได้จุดโทษ 2 หน ซึ่งปาเนนก้า ก็รับหน้าที่ยิงทั้ง 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่ายิงไม่เข้าเลยสักลูกเดียว ก่อนที่ทีมจะได้จุดโทษครั้งที่ 3 ซึ่งคราวนี้ปาเนนก้าไม่พลาดแล้ว เขาซัดเข้าไป
แต่ด้วยความที่เจ็บใจตัวเอง ที่พลาดการยิงจุดโทษถึง 2 หนติดกัน ทำให้เขาตั้งใจไปฝึกซ้อมการยิงจุดโทษเป็นพิเศษ
วันหนึ่งหลังการซ้อมในรูทีนปกติ เขากับนายทวาร ซเดเน็ค ฮุสก้า แยกตัวออกมาซ้อมดวลจุดโทษกันแบบตัวต่อตัว
ทั้งคู่มีเดิมพันกัน คือเบียร์ 1 ขวด และ ช็อกโกแลต 1 แท่ง หากปาเนนก้า ยิงเข้ามากกว่า เขาได้เบียร์กับช็อกโกแลต แต่ถ้าเขาโดนเซฟมากกว่า ซเดเน็ค จะได้เบียร์กับช็อกโกแลตแทน
"โชคร้ายสำหรับผม เพราะซเดเน็คเป็นนายทวารที่เก่งมาก สุดท้ายการซ้อมวันแรกผมเสียเงิน"
วันที่ 2 วันที่ 3 ก็เหมือนเดิม ปาเน็นก้ายิงแทบไม่เข้าเลย เขาโดนเซฟมากกว่าจำนวนที่ยิงได้ ทำให้ปาเนนก้า มาทบทวนกับตัวเองว่าทำไมลูกยิงจุดโทษของเขา ถึงไม่สามารถเปลี่ยนเป็นประตูได้ คือไม่ยิงออก ก็มักจะติดเซฟ
หลังทบทวนอยู่นาน ปาเนนก้าวิเคราะห์ได้ว่า เพราะการยิงแบบเต็มแรง มันก็มีผลให้ลูกบอลพุ่งหลุดออกนอกกรอบได้ง่าย และต่อให้ตรงกรอบ โอกาสที่ผู้รักษาประตูจะพุ่งถูกก็มีถึง 50% คือเดาแค่จะออกซ้ายหรือขวาเท่านั้น
"วันรุ่งขึ้น ผมเลยอยากลองอะไรใหม่ๆ จึงกลับไปดวลกับซเดเน็คอีกครั้ง" ปาเนนก้ากล่าว
"ผมอยากลองทริกใหม่ คือผมจะวิ่งเข้ามายิงให้ช้าที่สุด และรอให้ผู้รักษาประตูเคลื่อนที่ก่อน คือถ้าเขาจะยืนนิ่งๆ ผมก็จะยิงเข้ามุมซ้ายขวา แต่ถ้าเขามีทีท่าว่าจะพุ่ง ผมก็จะงัดบอลเบาๆ ให้เข้ากลางประตูไปเลย"
"คือถ้าเป็นวิธีนี้ ผู้รักษาประตูที่ทิ้งตัวพุ่งไปด้านข้างแล้ว ยังไงก็ไม่มีโอกาส ลุกขึ้นมาปัดลูกยิงของผมได้ทัน"
"ผมทดสอบมัน กับซเนเด็ค และมันได้ผลสุดยอดมากๆ"
สไตล์การยิงจุดโทษของปาเนนก้าจึงเปลี่ยนไปตั้งแต่นั้น จากเดิมจะวิ่งมาซัดเปรี้ยงให้เข้ามุมไปเลย คราวนี้ เขาวิ่งมาแล้วรอจนผู้รักษาประตูทิ้งตัวไปทางใดทางหนึ่ง แล้วใช้การชิพให้เข้ากลางประตู หรือบางที ถ้าเห็นผู้รักษาประตูจะยืนนิ่ง เขาก็ใช้การตัดสินใจชั่วเสี้ยววินาที ยิงเข้ามุมแทน ซึ่งคราวนี้ซเนเด็ค ฮุสก้า ก็ได้แต่สับสน
"ปัญหาเดียวของท่ายิงจุดโทษแบบนี้ คือผมน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้ทั้งเบียร์ ได้ทั้งช็อคโกแลต แทบทุกครั้งที่แข่งดวลจุดโทษกับเขา!"
ปาเนนก้า หัดยิงจุดโทษแบบชิพมาเรื่อยๆ เขาทดลองใช้มันในเกมกระชับมิตรของสโมสร ขณะที่ในเกมลีก เขาเคยใช้มัน 2 ครั้ง ซึ่งก็ปรากฎว่าได้ผลดีมาก ยิงแล้วเข้าทุกครั้ง เพราะผู้รักษาประตูคู่แข่งไม่เคยเห็นมันมาก่อน
"จุดโทษแบบชิพที่ผมคิดค้นขึ้น มันเป็นการดวลวัดใจระหว่างคนยิง กับ นายทวาร ว่าใครจะอดทนได้นานกว่ากัน แต่สุดท้าย เชื่อสิ ไม่มีผู้รักษาประตูคนไหนอดทนยืนตรงกลางได้ตลอดหรอก ทุกคนจะเผลอพุ่งด้านใดด้านหนึ่งเสมอ และผมก็แค่ชิพเบาๆเข้ากลางประตูไปแค่นั้นเอง"
"สิ่งที่ผมพยายามทำเพิ่มเติม คือหลอกล่อคู่แข่งด้วยท่าทาง หรือใช้สายตา หลอกให้เชื่อว่า เราอยากจะยิงไปมุมใดมุมหนึ่ง ซึ่งพอนายทวารดูเหมือนจะหลงกล ผมก็ใช้การชิพเข้าโจมตี"
ในเกมลีก ปลายฤดูกาล 1975-76 โบฮีเมียนส์ ลงสนามพบกับทีม ดูกล้า ปราก ซึ่งดูกล้า ปรากมีนายทวารมือ 1 ทีมชาติเชกโกสโลวะเกีย อีโว วิคเตอร์ ยืนเฝ้าเสาอยู่
ระหว่างการแข่งโบฮีเมียนส์ได้จุดโทษ ซึ่งอีโว วิคเตอร์เองก็รู้ว่าปาเนนก้ามีทีเด็ดคือลูกจุดโทษแบบชิพ แต่แม้จะรู้ทั้งรู้ เขาก็ยังอดพุ่งไปด้านข้างไม่ได้ ซึ่งเมือเป็นแบบนั้น ปาเนนก้าก็ชิพเข้ากลางประตูไปง่ายๆ
ในยุคก่อน ไม่มีนายทวารคนไหนกล้ายืนนิ่งๆโดยไม่พุ่ง เพราะถ้าไม่พุ่งยืนอยู่ตรงกลางนิ่งๆ แล้วคู่แข่งยิงเข้าง่ายๆ มันก็เป็นอะไรที่เสียฟอร์มเอามากๆ
คือขนาดคนที่พอรู้ทริกนี้อยู่แล้วอย่างอีโว วิคเตอร์ ยังรับลูกยิงของปาเนนก้าไม่ได้ เพราะเผลอไปพุ่งด้านข้าง แล้วคนที่ไม่เคยเจอมาก่อน แน่นอนว่า คงงงจัดกันเลยทีเดียว
แล้วอย่าลืมว่าในยุค 70-80 สมัยนั้นยังไม่มีระบบการถ่ายทอดสดดีๆ ดังนั้น เป็นการยากของคู่ต่อสู้ ที่จะรู้จักจุดโทษของปาเนนก้า คือถ้าเป็นแฟนบอลในประเทศ อาจพอรู้บ้าง แต่ถ้าเป็นคู่แข่งจากต่างแดนล่ะก็ ไม่เคยพบเห็นการยิงจุดโทษแบบนี้ที่ไหนแน่ๆ
"ผมตั้งใจกับตัวเองเอาไว้ว่า ถ้าอนาคต มีโอกาสได้ยิงจุดโทษในทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลยูโร หรือฟุตบอลโลก ผมจะใช้เทคนิคนี้ในการแข่งขันจริง"
ทีมชาติเชกโกสโลวะเกีย ยุคนั้นถือว่าแข็งแกร่งมากๆ พวกเขาอยู่ในรอบคัดเลือกของศึกยูโร 1976 กลุ่มเดียวกับทีมชาติอังกฤษ แต่สามารถชนะอังกฤษได้สำเร็จ ก่อนได้สิทธิมาเล่นในรอบสุดท้ายที่ยูโกสลาเวีย
ในยูโร 1976 ยุคนั้น รอบสุดท้ายจะเอาแค่ 4 ทีมมาแข่งขันกัน ซึ่ง 4 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมา ได้แก่ เชกโกสโลวะเกีย, ฮอลแลนด์ ,เยอรมันตะวันตก และ ยูโกสลาเวีย
ปรากฏว่า เชกโกสโลวะเกีย ชนะฮอลแลนด์ในรอบรอง ส่วนเยอรมัน ชนะยูโกสลาเวีย เช่นกัน ทำให้คู่ชิงเป็นการเจอกันของ เชกโกสโลวะเกีย กับ เยอรมันตะวันตก
ปาเนนก้า ได้ลงเป็นตัวจริงในรอบรองฯ แต่เขาไม่ได้โอกาสซัดจุดโทษ แต่เขายังหวังอยู่ว่ารอบชิง อาจมีโอกาสสักครั้ง
20 มิถุนายน 1976 รอบชิงศึกยูโร จัดแข่งขันที่สนามของเรดสตาร์ เบลเกรด เปิดฉากมาได้แค่ 25 นาที เชกโกสโลวะเกียนำ 2-0 และดูเหมือนจะปิดจ๊อบได้ง่ายๆ แต่ทว่าเยอรมันก็ค่อยๆไล่มาเป็น 2-1 จากแกร์ด มุลเลอร์ และมาตีเสมอได้เป็น 2-2 ในนาทีที่ 89 จากแบรนด์ โฮลเซนไบน์
สำหรับปาเนนก้า ในใจหนึ่งก็ผิดหวังที่ทีมมาโดนตีเสมอท้ายเกมแบบนั้น เพราะเกือบจะได้แชมป์อยู่แล้ว แต่อีกใจ เขาก็แอบตื่นเต้น ว่าถ้าเกมจบลงด้วยผลเสมอ เขาจะได้โชว์จุดโทษไม้ตายของตัวเองให้โลกได้เห็นเสียที
เกมยืดเยื้อไปจนครบ 120 นาที ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษจริงๆ โดยปาเนนก้า ได้รับมอบหมายให้ยิงเป็นคนที่ 5
และสวรรค์ก็เหมือนจะเขียนสคริปต์ เมื่อทุกคนยิงเข้าหมด ยกเว้นคนที่ 4 ของเยอรมัน อูลี่ เฮอเนส อัดเต็มแรงข้ามคานออกไป เท่ากับว่า ปาเนนก้า จะได้ออกมายิงเพื่อปิดเกม
ถ้ายิงเข้า ก็จบ เชกโกสโลวะเกีย จะได้แชมป์ยุโรป
ปาเนนก้านั้น ตั้งใจเอาไว้มานานแล้ว ว่าเขาจะใช้ไม้ตายลูกชิพของตัวเองแน่นอน
แต่ก่อนจะยิง นายทวารเพื่อนร่วมทีม อีโว วิคเตอร์ ได้แนะนำว่าการชิพตรงกลางดูจะเสี่ยงเกินไปในสถานการณ์นี้ คือยิงไปเลยเต็มๆ ดีๆแบบชาวบ้าน น่าจะเข้าได้ง่ายกว่า ซึ่งปาเนนก้ารับฟังแต่เขาไม่คิดจะทำตาม เขาแค่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองฝึกซ้อมมากกว่า
ถึงตรงนี้ ปาเนนก้ายังไงก็ใช้ไม้ตายแน่ๆ แต่คำถามคือ นายทวารของเยอรมัน เซปป์ ไมเออร์ ถือเป็นผู้รักษาประตูระดับเวิลด์คลาส ดังนั้นจะหลงกลทริกของปาเนนก้าง่ายๆหรือ?่ แล้วถ้าไมเออร์ยืนนิ่งๆ รับลูกบอลเบาๆของเขาเข้าซองดื้อๆนี่ ปาเนนก้ากลายเป็นหมาเลยนะ
ดังนั้นปาเนนก้า จึงวางแผนในชั่วเสี้ยววินาที เขาใช้กลยุทธ์หลอกล่อ ด้วยการไปยืนตั้งหลักว่าจะยิง เลยหัวกะโหลกนอกเขตโทษไปอีก เพื่อหลอกไมเออร์ว่า เขาจะวิ่งมาเต็มแรง เพื่อซัดเต็มข้อให้เสียบมุม
ปาเนนก้าสปรินท์ตัวจากระยะไกล วิ่งมาถึงลูกบอล เขาวางขาซ้ายแนบกับลูกบอล และรอเสี้ยววินาทีที่เห็นเซปป์ ไมเออร์ เทไปด้านขวา เตรียมรับลูกยิงแรงๆ ปาเนนก้าก็เปลี่ยนจังหวะเท้า มาชิพลูกบอลด้วยเท้าขวา กับน้ำหนักที่พอดีเป๊ะเข้ากลางประตูไปอย่างเด็ดขาด
นี่คือประตูชัย ที่ทำให้เชกโกสโลวะเกียได้แชมป์ยูโร 1976 ลูกนี้เป็นการปิดฉากทัวร์นาเมนต์ได้อย่างสวยงามที่สุด
หลังจบเกมมีคอมเมนต์ไม่น้อยที่วิจารณ์ปาเนนก้า ว่าการยิงลักษณะนี้เป็นการหยามคู่แข่งหรือไม่ แต่ปาเนนก้าก็ได้ตอบไปว่า "ผมเลือกยิงจุดโทษแบบนี้ เพราะรู้ดีว่า มันเป็นวิธีที่ง่ายดายที่สุด ที่จะการันตีการทำประตูได้"
ลูกจุดโทษแบบนี้ เป็นท่าไม้ตายที่เขาฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีแล้ว และเขาก็ทำมันได้จริงๆ ในนัดที่ใหญ่ที่สุด อย่างยูโรนัดชิงอีกด้วย
เขาไม่ได้ใช้ เพราะมันจะดูเท่ และทำให้นายทวารคู่แข่งดูเป็นไอ้โง่ แต่เขาวิจัยมาด้วยตัวเองแล้ว ว่ามันได้ผลจริงๆ ยิ่งกว่าการยิงแบบอัดเต็มแรงเสียอีก
สำหรับสถิติตลอดชีวิต ของปาเนนก้า ได้ยิงจุดโทษแบบ "ปาเนนก้าสไตล์" ทั้งหมด 35 ครั้ง สถิติยอดเยี่ยมคือ เข้าไป 34 ครั้ง พลาดแค่ 1 เท่านั้น
คือมันได้ผลดีจริงๆ
จากผลพวงจุดโทษในลูกนี้ ทำให้การยิงลักษณะนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นไปทั่วยุโรป และแน่นอน ผู้คนก็จะให้เครดิตกับคนแรกที่คิดค้นมันขึ้นมาได้ ดังนั้นในเวลาต่อมา จุดโทษแบบชิพ ที่รอให้นายทวารคู่แข่งพุ่งผิดทางไปก่อน จึงถูกขนานนามในชื่อใหม่ว่า
"จุดโทษแบบปาเนนก้า"
จริงๆแล้วชื่อเสียงของปาเนนก้านั้นน่าจะดังกว่านี้ เพราะฝีเท้าของเขา ช่วงหนึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับโลก
ตอนมีการจัดทีมออลสตาร์ Europe XI ในยุค 80 เขาก็ติดทีมเหมือนกัน เพียงแต่ในช่วงพีกของอาชีพเขา ที่ประเทศเชกโกสโลวะเกีย มีกฎหมาย ไม่ให้นักเตะชาติตัวเองออกไปค้าแข้งที่ยุโรป และกว่าจะมีการแก้กฎหมาย ในปี 1981 ปาเนนก้า ก็อายุ 33 ปีแล้ว ทำให้หมดโอกาสย้ายไปเล่นทีมระดับแนวหน้าอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตาม ปาเนนก้า ก็ได้รับการยอมรับจากคนในวงการฟุตบอลเสมอ ในฐานะ "ครีเอเตอร์" ผู้คิดค้นท่ายิงจุดโทษที่เหนือชั้น ท่าไม้ตายของเขา จุดโทษแบบปาเนนก้า ยังถูกเอามาเรียกจนถึงปัจจุบันนี้ เป็น Signature เฉพาะตัวที่จะอยู่ไปตลอดกาล
แบบเดียวฟรีคิกแบบโรแบร์โต้ คาร์ลอส ,ซีดานเทิร์น , ครัฟท์เทิร์น ,ท่าแมวน้ำของเคอร์ลอน ท่าเฉพาะตัวเหล่านี้ ในภายหลังอาจมีใครเอามาใช้ใหม่ก็จริง แต่คนก็จะย้อนคิดถึงคนแรกที่ใช้งานมันอย่างได้ผลเสมอ
สำหรับเปเล่ นักเตะในตำนานของโลก ตอนได้เห็นลูกยิงจุดโทษของปาเนนก้าครั้งแรก เขาพูดออกมาเลยว่า "ใครก็ตามที่ยิงจุดโทษแบบนี้ ไม่เป็นอัจฉริยะ ก็เป็นคนบ้าแน่ๆ"
"ผมหวังว่าตัวเองจะไม่ใช่คนบ้านะ" ปาเนก้ากล่าว
"ดังนั้นผมจะขอทึกทักเอาเองละกัน ว่าเปเล่กำลังชมผมอยู่!"
#Panenka
18 บันทึก
221
6
8
18
221
6
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย