3 ธ.ค. 2019 เวลา 12:48 • ความคิดเห็น
พรุ่งนี้วันพระ : วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2562 (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1)
มีใครสงสัยบ้างหรือไม่ วันพระเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในสมัยพุทธกาลมีวันพระมั้ย ? แล้ววันพระมีเพื่ออะไร เราควรทำอะไรในวันพระ ? สาระเบา ๆ ค่ำคืนนี้คงชวนพวกเราย้อนไปเมื่อ 2500 ปีที่แล้วกัน เพื่อหาคำตอบ
ต้องบอกไว้ก่อนว่าสมัยนั้น มีเจ้าลัทธิต่าง ๆ มากมาย ที่ประกาศคำสอนโดยมีจุดประสงค์เพื่อความหลุดพ้น ทุกคนต่างแสวงหาแนวทางในการหลุดพ้น
พระพุทธเจ้าจะเรียกเจ้าลัทธิต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันว่า "ปริพาชกอัญญเดียรถีย์"
ทุก ๆ วันที่ 14 ค่ำ 15 ค่ำ และ 8 ค่ำ ของทุก ๆ เดือน พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์จะมาประชุมกันเพื่อกล่าวธรรม (คนสมัยก่อนเขาชอบสนทนาธรรมกันมาก)
ชาวบ้านได้เห็นดังนั้น ก็จะพากันเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เพื่อฟังธรรม เจ้าลัทธิเหล่านั้นก็จะได้ความรัก ความเลื่อมใส ได้ชาวบ้านเป็นพรรคพวก
อารมณ์แบบว่า ตรงนั้นเขามีอะไรกัน พวกเราไปดูสักหน่อย ประมาณนั้น
จุดเริ่มต้นของเรื่องราววันพระมาจาก "พระเจ้าพิมพิสาร" กษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นมคธ พระองค์เลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ครั้นได้เห็นพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทำแบบนั้น จึงเกิดความคิดว่า ไฉนหนอพระคุณเจ้าทั้งหลาย (พระภิกษุสงฆ์) จึงไม่ทำแบบนั้นบ้าง
พระเจ้าพิมพิสาร จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลขอพุทธานุญาต
พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต ด้วยเหตุนั้น
หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต พอถึงวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ และ 8 ค่ำ แห่งปักษ์ ภิกษุทั้งหลายก็มาประชุมกันจริง ๆ แต่นั่งนิ่ง ๆ ไม่พูดคุยอะไรกันเลย
ชาวบ้านเห็นภิกษุทั้งหลายมาประชุมกันก็เข้าไปฟังธรรม แต่กลับพบว่าภิกษุทั้งหลายที่มาประชุมกันนั้นนั่งนิ่ง ๆ ไม่พูดคุย หรือกล่าวธรรมเลย
ชาวบ้านต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ประชุมกันในวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ และ 8 ค่ำ แห่งปักษ์ จึงได้นั่งนิ่งเสียเหมือนสุกรอ้วนเล่า ธรรมเนียมภิกษุผู้ประชุมกัน ควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ ?
โดนชาวบ้านด่าว่านั่งนิ่งเหมือนหมูอ้วน 🐖🐖🐖
พอเรื่องถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้กล่าวธรรม
ตั้งแต่นั้นมาสิ่งที่เรียกกันว่า "วันพระ" จึงถือกำเนิดขึ้น
ดังนั้นแล้วทุกวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ และ 8 ค่ำ แห่งปักษ์ ภิกษุที่มาประชุมกัน สามารถมาประชุมแบบนั่งนิ่ง ๆ ได้ และสามารถเชื้อเชิญให้มีการกล่าวธรรมได้ ในวันดังกล่าว
บทความนี้คงจบเพียงเท่านี้
ที่มา มหา. วิ. ๔/๑๖๖/๑๔๗-๑๔๙.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา