4 ธ.ค. 2019 เวลา 07:13 • การศึกษา
เหตุสมความปรารถนา
หลายวันก่อนมีโอกาสได้ไปฟังธรรมจากพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล ท่านบรรยายเรื่อง "เหตุสมความปราถนา" ได้ความรู้ดี รู้สึกเหมือนได้ทบทวนตัวเอง ที่ท่านบรรยายนั้น เป็นแนวทางทำเหตุไปสู่การสมความปรารถนาในการ รู้ธรรม เข้าใจธรรม มองเห็นธรรม ยอมรับธรรม และการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายในสังสารวัฎ ตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า
ผมนึกถึงคำกล่าวของผู้รู้ ที่กล่าวทั่วๆไปกลาง ๆ ว่า "สิ่งดี ๆ ในโลกนี้ก็สอดคล้องกัน เหมือน ๆ กัน " นั่นหมายถึงว่า ถ้าเราต้องการจะสมความปรารถนาในอะไรบางอย่าง ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการทำเหตุของสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย เกิดขึ้นเนือง ๆ เกิดเป็นประจำและยาวนานพอ แล้วผลลัพธ์ที่ต้องการนั้น ก็จะเกิดขึ้นเอง
เหตุที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึง ได้แก่ศรัทธา สัมปทา ศีล สัมปทา สุตตะ สัมปทา จาคะ และ ปัญญา
มีคำต่อท้ายว่า "สัมปทา" ด้วย หมายถึง ความถูกต้อง ถึงพร้อมของสิ่งนั้น ๆ หรือตีความอีกอย่างก็คือ มีอย่างอื่นที่คล้ายกัน ที่คลาดเคลื่อนจากของจริง ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นของจริงอยู่ด้วย สัมปทา จึงจำเป็นและสำคัญ เป็นสิ่งรับประกันว่าถ้าถูกหลักท่านจะได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับเหตุที่ทำไม่ผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น
ผมขอนำเรื่องนี้มาแบ่งปันเทียบเคียงกับเรื่องราวของทางโลก ถ้าเราต้องการประสบความสำเร็จในสิ่งใด สิ่งที่ต้องมีก็ไม่ต่างจากหลักที่กล่าวมาข้างต้น
คือ 1) ต้องมีศรัทธา แปลว่า มีความเชื่อในระดับที่มั่นใจ มั่นคง ไม่วูบวาบ หนักแน่น ได้จากการหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อนั้น ด้วยการค้นคว้าด้วยตนเอง ถามผู้รู้ อ่านหนังสือ ศรัทธาเป็นเหมือนฐานของสิ่งที่จะเกิดขึ้น เป็นพลังในตัวที่ทำให้เรามีเหตุผลภายใน ในการทำสิ่งใด ๆ อย่างไม่ลังเลสงสัย ถ้ายังไม่มีต้องเรียนรู้ที่จะสร้างให้มี ให้เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดความเสี่ยงต่อความไม่สำเร็จ
2) ศีล คือ วินัย วินัยเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญต่อทุกความสำเร็จ เป็นการกำกับตนเองให้อยู่ในแนวทางที่ควร แนวทางที่ถูกต้อง สม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย
3) สุตตะ คือการ ฟัง ปัจจุบันเราเรียนรู้จากหลายทาง จากการฟัง จากการอ่าน จากการดู จากการสัมผัส รับรู้จากสิ่งรอบตัว และต้องทำบ่อย ๆ ต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นก็จะทำให้ศรัทธาเพิ่มขึ้น การใคร่ครวญจะลึกซึ้งขึ้น เกิดการเชื่อมโยงทางความคิดเกิดความมั่นใจในสิ่งที่ทำ
4) จาคะ คือการเสียสละ ทางพุทธศาสนาทำเพื่อละความติดยึดกับสิ่งที่บริจาค และความติดยึดกับวัตถุของที่รักในจิตใจของตัวเอง แต่ในทางโลกหมายถึงการแบ่งปัน การเสียสละ มีคำกล่าวที่เป็นจริงอย่างหนึ่งคือ "ยิ่งแบ่งปัน ยิ่งได้" การเสียสละเป็นการฝึกฝน ท่านอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดีย กล่าวว่า "ถ้าเรามีเหรียญเอามาแลกกัน แต่ละคนก็จะได้เหรียญกลับไปเท่าเดิม แต่ถ้าเราเอาความรู้มาแลกกัน ทุกคนก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้นกลับไป" นี่คือสิ่งที่ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งเสียสละ ยิ่งได้เพิ่ม
5) ปัญญา ในทางธรรม คือการเห็นสิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่และ ดับไป วนเวียนไปอย่างนั้น ไม่มีสิ่งใดยั่งยืน เป็นธรรมดาของทุกสิ่ง
เมื่อเรามีเป้าหมายที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องใดๆ ต้องเรียนรู้ที่จะสร้างศรัทธาในสิ่งนั้น ต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังจากผู้สำเร็จในสิ่งนั้น ต้องฝึกฝนอย่างมีวินัยในสิ่งนั้น นี่เป็นการประกอบเหตุ เพื่อที่จะให้เกิดผลลัพธ์คือการประสบกับความสำเร็จในสิ่งที่หวังนั้น เรื่องเหล่านี้คนส่วนใหญ่ทราบดี แต่เมื่อต้องการความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าใครทำเหตุเหล่านี้ได้เข้มข้น เข้มแข็ง ทุ่มเท ยืนหยัด ยาวนานมากกว่ากันครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
โฆษณา