Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
6 ธ.ค. 2019 เวลา 01:13 • กีฬา
ชัยชนะของเมสซี่ เหนือ ฟาน ไดค์ ในการประกาศรางวัลบัลลงดอร์ เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่คือเรื่องราวการชิงชัยตำแหน่งสุดยอดนักเตะอันเข้มข้นของปีนี้
ผมบอกเสมอครับ ว่าในการแข่งขัน บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องมี "ผู้แพ้"
ในเกมบางอย่าง มันมีแค่ "คนชนะ" กับ "คนที่ไม่ชนะ"
ศึกการแย่งชิงบัลลงดอร์ปี 2019 ผู้ชนะคือลีโอเนล เมสซี่ แต่ถามว่า เวอร์จิล ฟาน ไดค์ คือผู้แพ้อย่างนั้นหรือ คำตอบคือ ไม่ใช่ เขาไม่ได้แพ้เลย เพราะตลอดซีซั่นเขาทำผลงานได้อย่างดีที่สุดแล้ว เพียงแต่สุดท้ายได้คะแนนโหวตน้อยกว่าเท่านั้นเอง
อยากยืนยันว่า นักเตะทั้ง 2 คน คู่ควรทัดเทียมกัน เป็นสุดยอดผู้เล่น ในตำแหน่งกองหน้า และ ตำแหน่งกองหลัง ที่จริงๆ รางวัลจะสวิงไปออกที่ใครก็ได้
แต่ในบทความนี้ เราจะวิเคราะห์สาเหตุว่า "ทำไม" เวอร์จิล ฟาน ไดค์ ถึงได้คะแนนโหวตน้อยกว่า เมสซี่
ทั้งๆที่เขาเอง ก็ทำผลงานได้ดีที่สุดในชีวิตแล้ว แต่เพราะอะไร มันถึงไม่เพียงพอที่คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของโลก
[ รูปแบบการโหวต ]
ก่อนอื่น อยากอธิบาย วิธีการโหวตบัลลงดอร์ตั้งแต่แรกเริ่มก่อน
บัลลงดอร์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1956 โดยนิตยสารของฝรั่งเศส ฟรองซ์ ฟุตบอล ได้เชิญนักข่าวจาก 16 คน จาก 16 ชาติ ที่น่าเชื่อถือในยุโรป
ประกอบไปด้วย ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, เช็กโกสโลวะเกีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ฮังการี ,อิตาลี, ฮอลแลนด์, โปรตุเกส, สกอตแลนด์, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี, เยอรมันตะวันตก และ ยูโกสลาเวีย
การโหวตนั้น แรกสุด นักข่าวแต่ละคนจะเลือกผู้เล่นดีที่สุด มา 5 อันดับ
อันดับ 1 ได้ 5 คะแนน
อันดับ 2 ได้ 4 คะแนน
อันดับ 3 ได้ 3 คะแนน
อันดับ 4 ได้ 2 คะแนน
อันดับ 5 ได้ 1 คะแนน
ผู้ชนะคนแรกในปี 1956 คือสแตนลีย์ แมทธิวส์ จากสโมสรแบล็คพูล ในอังกฤษ ได้คะแนน 47 แต้ม เฉือนชนะอัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ จากเรอัล มาดริด ไปแค่ 3 แต้มเท่านั้น
จากนักข่าว 16 คนในตอนแรก เมื่อบัลลงดอร์ มีความยิ่งใหญ่มากขึ้น ทางฟรองซ์ ฟุตบอล ก็เชิญนักข่าวชาติอื่นๆในยุโรปมาร่วมลงคะแนนโหวตมากขึ้น จนถึงในปี 2006 ก็มีนักข่าวจากชาติยุโรป มากถึง 52 คน (จาก 52 ชาติ) ที่มีสิทธิลงคะแนนบัลลงดอร์
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นในปี 2007 เมื่อฟรองซ์ ฟุตบอล มองว่าบัลลงดอร์เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะให้นักข่าวในยุโรปโหวตกันเอง ดังนั้นจึงขยายการโหวต ให้นักข่าวจากทวีปอื่นได้ร่วมสิทธิในการโหวตด้วย
13 ประเทศในแอฟริกา , 10 ประเทศในคอนคาแคฟ, 9 ประเทศในอเมริกาใต้ , 2 ประเทศในโอเชียเนีย และ 9 ประเทศในเอเชีย
ณ ตอนนั้น ฟรองซ์ ฟุตบอล ยังไม่เลือกนักข่าวจากไทยนะครับ 9 ชาติเอเชีย ประกอบไปด้วย จีน, อิรัก, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, คูเวต, ยูเออี ,ซาอุดิอาระเบีย, เกาหลีใต้ และ เกาหลีเหนือ
ในปี 2007 มีผู้มีสิทธิโหวตรวม 96 คน
เช่นเดียวกับ ปี 2008 และ 2009 ก็ยึดแพลตฟอร์ม 96 นักข่าวมาตลอด
จนมาปี 2010 เมื่อฟีฟ่า ตัดสินใจร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับฟรองซ์ ฟุตบอล และเปลี่ยนจากบัลลงดอร์เดิม เป็น "ฟีฟ่า บัลลงดอร์" แทน
ทางฟีฟ่า ตัดสินใจเปลี่ยนระบบใหม่ ด้วยการเชิญนักข่าวจากทั่วโลก รวมแล้ว เกือบ 200 ประเทศ
รวมถึง กัปตันทีมชาติ และ โค้ชทีมชาติทั่วโลก รวมทุกคนผู้มีสิทธิโหวตก็เกือบๆ จะ 600 คน
นักข่าว ,กัปตัน และ โค้ช จะมีสิทธิเลือก 3 อันดับ
อันดับ 1 ได้ 5 คะแนน
อันดับ 2 ได้ 3 คะแนน
อันดับ 3 ได้ 1 คะแนน
ด้วยความที่มันเยอะขนาดนี้ ฟีฟ่า เลยไม่เปิดเผยผลการโหวตเป็นคะแนนไม่งั้นก็คงทะลุเป็นพัน แต่ใช้วิธีเปิดเผยเป็น เปอร์เซ็นต์แทน ว่าคนชนะได้คะแนนรวมทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์
การเปลี่ยนกฎของฟีฟ่าครั้งนี้ ได้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการโหวตไปอย่างสิ้นเชิง เพราะในอดีตนักข่าวฟุตบอลที่ได้รับสิทธิให้โหวต พวกเขาเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการมาอย่างโชกโชน รู้ว่า ใครที่คู่ควรกับการโหวตในแต่ละปี
แต่พอปรับมาใช้กัปตัน และ โค้ช เราก็ต้องยอมรับว่าบางประเทศ โหวตแบบไม่ดูเหนือดูใต้เลย ชอบใครก็โหวตไปเรื่อย โดยไม่ดูผลงานโดยรวมทั้งปี ของผู้เล่นคนอื่น
มีการโหวตแปลกๆมากมายเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นในปี 2010 เป็นการขับเคี่ยวกันของ ชาบี , อิเนียสต้า, สไนจ์เดอร์ และ เมสซี่ ซึ่งตามหลักแล้ว 3 คนแรกมีภาษีดีสุด ชาบี-อิเนียสต้า ได้แชมป์โลกกับสเปน ขณะที่สไนจ์เดอร์ได้ทริปเปิ้ลแชมป์กับอินเตอร์ และรองแชมป์โลกกับฮอลแลนด์
เมสซี่ ยิงประตูเยอะสุด ได้รองเท้าทองคำ แม้จะเทียบ 3 คนด้านบนไม่ได้ แต่ก็พอกล้อมแกล้มไปได้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นนอกเหนืออจาก 4 คนนี้ คือต้องตอบสังคมเหมือนกันว่า เฮ้ย ทำไมเลือกล่ะ?
1
อย่างเช่นโค้ชทีมชาติกัมพูชา เลือกเมซุต โอซิล , โค้ชหมู่เกาะโซโลมอน เลือก บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ,โค้ชพม่า เลือกอีเกร์ กาซียาส , โค้ชแซมเบีย เลือกชาบี อลอนโซ่ เป็นต้น
พวกเขามีสิทธิเลือก ใช่ แต่คือมันมีตัวเลือกที่น่าจะเหมาะสมกว่า ซึ่งมันกลายเป็นว่าคะแนนเลยออกมามั่วไปหมด
ปีนั้นลีโอเนล เมสซี่ ได้รางวัลไปครอง เรื่องความยอดเยี่ยม เราเข้าใจได้ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การได้มาของเมสซี่ในปี 2010 มีคำถามไม่น้อยว่า ควรได้รางวัลมากกว่า สไนจ์เดอร์ ,ชาบี หรือ อิเนียสต้า จริงๆรึเปล่า หรือว่าเมสซี่ได้คะแนนสูงสุด เพราะเป็นนักเตะที่ดังที่สุดเพียงแค่นั้น
ทุกปี ที่ให้โหวตฟีฟ่า บัลลงดอร์ มีแต่คำถามเต็มไปหมด นั่นทำให้สุดท้าย เมื่อครบสัญญา 6 ปี ทางฟรองซ์ ฟุตบอล จึงตัดสินใจดึงบัลลงดอร์กลับไปทำเอง
สิ่งที่ฟรองซ์ ฟุตบอล เห็นว่าเป็นข้อดีในไอเดียของฟีฟ่า คือการให้โอกาสนักข่าวทั่วโลก เกือบ 180 ประเทศ ร่วมโหวตหาผู้เล่นยอดเยี่ยม ซึ่งสิ่งนี้ ฟรองซ์ ฟุตบอล ได้เก็บเอาไว้
อย่างที่เราทราบกันว่าในชาติที่มีสิทธิโหวต มีไทยด้วย และนักข่าวไทยหนึ่งเดียว ที่สามารถโหวตเลือกบัลลงดอร์ได้ คือพี่หมวย "มาเฟียรี่" - อุไร ปทุมมาวัฒนา หัวหน้ากองต่างประเทศ จากสยามสปอร์ต นั่นเอง
ซึ่งถ้าจะมีใครสักคนในประเทศที่ คู่ควรกับการได้สิทธิโหวตจากฟรองซ์ ฟุตบอล ผมก็คิดว่าต้องเป็นคุณมาเฟียรี่นี่แหละครับ
ในปี 2016 การโหวตกลับมาใช้รูปแบบเดิม คือนักข่าวอย่างเดียว ตัดโค้ชทีมชาติ และกัปตันทีมชาติทิ้ง โดยมีผู้มีสิทธิโหวตทั้งสิ้น 173 คน
ในครั้งนี้ นักข่าวจะได้เลือก 3 ผู้เล่นอันดับ ซึ่งสุดท้ายเป็นคริสเตียโน่ โรนัลโด้จากโปรตุเกส เจ้าของแชมป์ยูโร 2016 ได้รางวัลไปครองตามความคาดหมาย
จากนั้นในปี 2017 มีการเปลี่ยนกฎเล็กน้อย โดยนักข่าวแต่ละชาติจะได้เลือก 5 นักเตะ จาก Shortlists 30 คน ที่ฟรองซ์ ฟุตบอลเลือกเอาไว้
อันดับ 1 ได้ 6 คะแนน
อันดับ 2 ได้ 4 คะแนน
อันดับ 3 ได้ 3 คะแนน
อันดับ 4 ได้ 2 คะแนน
อันดับ 5 ได้ 1 คะแนน
กลับมาใช้วิธีแรกสุดของบัลลงดอร์อีกครั้ง คือนักข่าวโหวต 5 ผู้เล่น ซึ่งวิธีการนี้ ก็ถูกใช้เรื่อยมา จนถึงปัจจุบันปี 2019
มีนักข่าว มีสิทธิโหวตทั้งหมด 176 คน จาก 176 ประเทศ
[ การเป็นตัวรุก วัดผลง่ายกว่าตัวรับ ]
หลังจากอธิบาย กฎการโหวตกันแล้ว เราก็จะมาวิเคราะห์กันว่า แล้วทำไมเมสซี่ ถึงชนะเวอร์จิล ฟาน ไดค์ ในปีนี้ล่ะ
ข้อแรกสุดคือ การเป็นตัวรุก ย่อมวัดผลได้ง่ายกว่าการเป็นตัวรับอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ
ผลงานของเมสซี่นั้นในปีที่ผ่านมา ก็นับว่ามหัศจรรย์มาก
- แชมป์ลาลีกา สเปน , เข้าชิงโกปาเดลเรย์ , เข้ารอบรองแชมเปี้ยนส์ลีก
- ดาวซัลโว ลาลีกา เป็นสมัยที่ 6 ในอาชีพ ยิง 36 ลูก จาก 34 เกม
- คว้ารองเท้าทองคำยุโรป สมัยที่ 6 ทั้งทวีป ไม่มีใครยิงได้มากกว่าเขา
- ดาวซัลโวแชมเปี้ยนส์ลีก 12 ลูก ใน 10 เกม
- ลูกฟรีคิก ใส่ลิเวอร์พูล ถูกยกให้เป็นประตูยอดเยี่ยมแห่งซีซั่น ของแชมเปี้ยนส์ลีก
- ราชาแอสซิสต์ในลา ลีกา ทำไป 13 หน
สถิติ และตัวเลขที่ยกมา อาจเพราะเมสซี่ทำได้ทุกปี มันจึงดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่เอาจริงๆ มันไม่ปกติหรอก มันสุดยอดมากๆ
แต่ประเด็นคือเวอร์จิล ฟาน ไดค์ ผลงานไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย
- พาลิเวอร์พูล คว้าแชมป์ยุโรป อย่างสมบูรณ์แบบ หนึ่งในเกมที่เขาลงเล่น คือการปะทะกับเมสซี่แบบตรงๆ และเอาชนะด้วยสกอร์รวม 4-3
- พาลิเวอร์พูล เก็บ 97 แต้มในพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นแต้มอันดับ 2 ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ
- ลงเล่นทุกนัด ทุกนาที ทั้งในพรีเมียร์ลีก และแชมเปี้ยนส์ลีก
- พาลิเวอร์พูลเก็บคลีนชีทได้มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก จำนวน 20 นัด
- พาลิเวอร์พูลเก็บคลีนชีทได้มากทีสุดใน ชปล. จำนวน 6 นัด
- ตลอดซีซั่นใดนใบเหลืองแค่ 1 ใบ และ เสียฟาวล์แค่ 12 ครั้งเท่านั้น
สถิติของเวอร์จิล ฟาน ไดค์ นับว่าโดดเด่นที่สุดของนักเตะสายตัวรับทั้งหมดแล้วในรอบปีที่ผ่านมา
แต่ก็นั่นล่ะ ประเด็นคือถ้าคุณเป็นตัวรุก สถิติ และตัวเลขต่างๆ มันจับต้องได้ชัดเจน คุณยิงประตูได้ เครดิตก็เป็นของคุณ คุณแอสซิสต์ได้ เครดิตก็เป็นของคุณ
แต่กับตัวรับล่ะ เกมรับที่ต้องประสานงานกันทั้งแผง มันยากที่ใครคนใดคนหนึ่งจะได้รับเครดิตออกมาอย่างโดดเด่น
อย่างเกมรับของลิเวอร์พูลในซีซั่นก่อนเล่นดี ก็จะมีคำถามตามมาได้ว่า ฟาน ไดค์ มีส่วนก็จริง แต่ทีมได้คลีนชีทมา ทำไมไม่แบ่งเครดิตให้ เทรนต์, โรเบิร์ตสัน , มาติป และ อลิสซอน ด้วยล่ะก็เกมรับเล่นกันเป็นทีม เครดิตก็ต้องแบ่งๆกันสิ
นี่คือความยากลำบากของผู้เล่นสายเกมรับ เพราะมันวัดผลที่ชัดเจนได้ยาก นั่นทำให้การได้มาซึ่งคะแนนโหวต เป็นอะไรที่ยากมากๆตามไปด้วย
ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ที่ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอล มีกองหลังแค่ 3 คนเท่านั้น ที่เคยได้บัลลงดอร์ ได้แก่ ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์, มัทเธียส ซามเมอร์ และ ล่าสุดฟาบิโอ คันนาวาโร่ เพราะตำแหน่งตัวรับคุณต้องมีผลงานแบบซูเปอร์มาสเตอร์พีซ จนคนอื่นแตะต้องไม่ได้จริงๆ นั่นแหละ ถึงจะได้บัลลงดอร์มาครอง
ในเมื่อฟุตบอลคือกีฬาที่ผู้คนคาดหวังในการยิงประตู ดังนั้นมันเป็นเรื่องอัตโนมัติเลย ที่ตัวรุก จะได้รับดอกไม้ง่ายกว่าตัวรับ คือมันวัดผลได้ง่ายกว่า
ตัวอย่างเช่นนักข่าวจากกัวเตมาลา โหวตให้อลิสซอน เบ็คเกอร์ เป็นอันดับ 1 อย่างกรณีนี้ ก็อาจมองได้ว่า อลิสซอนก็มีส่วนกับเกมรับของหงส์แดง ไม่ต่างจากฟาน ไดค์ ดังนั้นจะแปลกอะไรล่ะ ถ้าจะโหวตให้อลิสซอนเป็นตัวเลือกแรก
ในขณะที่นักข่าว สายที่ชื่นชอบการเล่นเกมรุก มีตัวเลือกเดียวคือโหวตเมสซี่ นั่นทำให้คะแนนเสียงเท ไปหาเมสซี่ได้ง่ายที่สุด
[ บารมี ของเมสซี่ ]
ในการโหวตนั้น ผลแพ้ชนะ ไม่ได้ตัดสินแค่อันดับ 1 เท่านั้น แต่อย่างที่เขียนไว้ตอนต้น ว่าการโหวตบัลลงดอร์ มันมีคะแนนจากอันดับ 2-5 มาผสมด้วย
ถ้าวัดกันแค่อันดับ 1 อย่างเดียว ฟาน ไดค์ ก็คงชนะไปแล้ว เพราะมีนักข่าวโหวตให้เขาชนะถึง 69 คน ขณะที่เมสซี่ มีคนโหวตให้ 61 คน
แต่ประเด็นคือ มันไม่ได้วัดแค่อันดับ 1 ไง สำหรับคนที่โหวตฟาน ไดค์อันดับ 1 เมื่อคิดถึงอันดับ 2 ยังไงก็คิดถึงเมสซี่ก่อนคนอื่น ตรงข้ามกับคนที่โหวตเมสซี่ อาจไม่ได้คิดถึงฟาน ไดค์ ในอันดับ 2 เลยก็ได้
สถิติการโหวต คนที่โหวตฟาน ไดค์อันดับ 1 จำนวน 69 คน มีถึง 31 คน ที่เลือกลีโอเนล เมสซี่ เป็นอันดับ 2
แต่ คนที่โหวตเมสซี่ อันดับ 1 จำนวน 61 คน มีแค่ 26 คน ที่เลือกฟาน ไดค์เป็นอันดับ 2
ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คนที่เลือกฟาน ไดค์อันดับ 1 มีถึง 44.9% ที่คิดว่าเมสซี่ สมควรได้คะแนนเป็นที่ 2
แต่คนที่เลือกเมสซี่ อันดับ 1 มีเพียง 42.6% ที่คิดว่าฟาน ไดค์ สมควรได้คะแนนเป็นที่ 2
ส่วนต่างเปอร์เซ็นต์ตรงนี้ล่ะ คือบารมีของนักเตะ ผู้เล่นที่สั่งสมชื่อเสียงมานาน มันก็ไม่แปลกที่จะได้รับการคิดถึงก่อน คือแม้ไม่ใช่ตัวเลือกเบอร์ 1 แต่ก็ยังคิดที่จะเลือกเป็นเบอร์ 2
ในการโหวตที่สูสีมากที่สุดครั้งหนึ่งเป็นประวัติการณ์ ทุกคะแนนมีค่าทั้งนั้น และไม่แปลกเลยที่เมสซี่จะกุมความได้เปรียบตรงจุดนี้
[ ทัศนคติส่วนบุคคล ]
นักข่าวทั้ง 176 คนที่ทำการโหวต มันไม่ใช่ทุกคนหรอก ที่จะโหวตตามสิ่งที่ควรจะเป็น หรือ โหวตตามผลงานที่ปรากฏออกมา
เมื่อคนโหวตคือมนุษย์ มันก็ยังมีเรื่องทัศนคติส่วนบุคคลเข้ามาผสมด้วย มีความลำเอียง ความเอนเอียง และมีเหตุผลในมุมของตัวเอง
ตัวอย่างเช่น นักข่าวจากโปแลนด์ เลือกโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ นักเตะทีมชาติตัวเองเป็นอันดับ 1
เช่นเดียวกับนักข่าวจากเยอรมัน ก็เลือกเลวานดอฟสกี้เป็นเบอร์ 1 เช่นกัน ซึ่งเหตุผลเดียวที่พอจะอธิบายได้คือ เลวาน เล่นอยู่กับบาเยิร์น มิวนิค สโมสรในบุนเดสลีกานั่นเอง
นักข่าวจากศรีลังกา เลือก 1-เทรนต์ 2-โอบาเมย็อง 3-กรีซมันน์ 4-เลวานดอฟสกี้ 5-แตร์ ชเตเก้น ทั้ง 5 คน ไม่มีเมสซี่ หรือ ฟาน ไดค์มาเกี่ยวข้องเลย
นักข่าวจากสโลวีเนีย เลือก คีลียัน เอ็มบัปเป้ เป็นเบอร์ 1
นักข่าวจากโดมินิกัน เลือกเมสซี่เบอร์ 1 แต่อันดับ 2-5 ไม่มีฟาน ไดค์เลย
ในอดีตแรกสุด บัลลงดอร์ยุคก่อตั้ง ได้รับความเชื่อถือมากๆ นั่นเพราะ ฟรองซ์ ฟุตบอล คัดนักข่าวระดับท็อปจริงๆ แค่ 16 คน จากชาติยุโรป เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการมาอย่างโชกโชน
ทุกคนเลือกนักเตะ ที่มีผลงานโดดเด่น เมื่อวัดในสนามจริงๆ การเลือกแต่ละครั้ง มีชื่อเสียงของตัวเอง และสำนักพิมพ์เป็นเดิมพัน
แต่ในปัจจุบัน มันกลายเป็นการเลือกตามใจชอบไปหมดแล้ว ใครอยากเลือกอะไรก็เลือก อย่างเลวานดอฟสกี้ ถามว่ามาได้ไง?
โอเคอาจเป็นดาวซัลโวบุนเดสลีกา แต่ก็ยิงไปแค่ 22 ลูก น้อยกว่าดาวซัลโวลีกอื่นทั้งหมด ขณะที่บาเยิร์นได้แชมป์ลีกด้วยการเฉือนดอร์ทมุนด์ไป 2 แต้ม ส่วนในแชมเปี้ยนส์ลีก ก็ตกแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย
ผลงานดี แต่ไม่ได้เป็น The Best ของซีซั่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามด้วยทัศนคติส่วนตัวของสื่อโปแลนด์ กับ เยอรมัน ก็เลือกจะยกให้เลวาน ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ไปครอง
การเลือกแบบตามใจชอบในลักษณะนี้ มันทำให้คะแนนเสียงมันกระจัดกระจายแบบคาดเดาไม่ได้ และความศักดิ์สิทธิ์ของบัลลงดอร์ ก็ลดลงไปเรื่อยๆ ตามความมั่วของการโหวตนั่นแหละ
[ ท้องถิ่นนิยม ]
จุดที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ ในการโหวตครั้งนี้ อาจมีความเป็นการเมือง มากกว่าเรื่องผลงานในสนามอย่างเดียว
อย่างที่เราทราบกันว่า ในฟุตบอลยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในระดับทีมชาติตอนนี้ ทวีปยุโรป ยึดอำนาจเหนืออเมริกาใต้ไปไกลแล้ว
ฟุตบอลโลก นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ไม่มีแชมป์โลกที่มาจากอเมริกาใต้เลย แม้แต่ทีมเดียว ยุโรปนั้นคว้าชัยมาได้ตลอดทาง จากอิตาลี 2006, สเปน 2010, เยอรมัน 2014 และ ฝรั่งเศส 2018 โดยในบอลโลกทั้ง 4 ครั้งนี้ อเมริกาใต้ ได้เข้าชิงแค่ 1 หน คืออาร์เจนติน่าปี 2014 แต่ก็แพ้เยอรมันไปในนัดนั้น
ดังนั้นความภาคภูมิใจของชาวอเมริกาใต้ อีกหนึ่งอย่างที่ยังเหลืออยู่ คืออย่างน้อย นักเตะที่เก่งที่สุดในโลก ก็ยังอยู่ในภูมิภาคของเรา
จะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ แต่คนในทวีปเดียวกัน ก็มีโอกาสที่จะส่งใจเชียร์ คนในทวีปตัวเองมากกว่า
เหมือนกับในฟุตบอลโลก เชื่อว่ามีคนไทยไม่น้อยที่ส่งใจเชียร์ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ฯลฯ ให้ทำผลงานดีที่สุดในเวทีโลก หรือส่งใจเชียร์ ซน ฮึง-มิน ในพรีเมียร์ลีก แม้จะไม่ได้เชียร์สเปอร์ส ก็ตามที
หนึ่งในดีเบท ที่ถกเถียงกันตลอดกาลคือ เมสซี่ กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ใครคือนักเตะที่สุดยอดมากกว่ากัน คือทั้งคู่ยิงประตูถล่มทลายพอๆกัน ได้โทรฟี่แชมป์มากมายเหมือนกัน และที่สำคัญที่สุด ทั้งคู่ได้บัลลงดอร์ 5 ครั้งเท่ากัน
ยังตัดสินไม่ได้แบบชัดเจนว่าใครเหนือกว่า แต่ลองคิดดูว่า ถ้าเมสซี่ ได้บัลลงดอร์ครั้งที่ 6 ก่อนล่ะ? แบบนี้จะพอพูดได้ไหม ว่านักเตะอเมริกาใต้ เหนือชั้นกว่านักเตะยุโรปแล้วจริงๆ
10 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เทคะแนนให้กับเมสซี่ มากกว่า ฟาน ไดค์ อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอาร์เจนติน่า ชาติบ้านเกิดของเมสซี่ นอกจากจะเลือกเมสซี่อันดับ 1 แล้ว ยังใส่ชื่อฟาน ไดค์ ไกลถึงอันดับ 4
1
โดย 10 ชาติอเมริกาใต้ โหวตบัลลงดอร์ดังนี้
เลือกเมสซี่ อันดับ 1
อุรุกวัย (ฟาน ไดค์ อันดับ 2)
เวเนซุเอล่า (ฟาน ไดค์ อันดับ 3)
โบลิเวีย (ฟาน ไดค์ อันดับ 4)
อาร์เจนติน่า (ฟาน ไดค์ อันดับ 4)
บราซิล (ฟาน ไดค์ อันดับ 3)
ปารากวัย (ฟาน ไดค์ อันดับ 3)
เอกวาดอร์ (ฟาน ไดค์ อันดับ 2)
1
เลือกฟาน ไดค์ อันดับ 1
เปรู (เมสซี่ อันดับ 2)
โคลอมเบีย (เมสซี่ อันดับ 3)
ชิลี (เมสซี่ อันดับ 4)
ถ้าหากแปลงเป็นคะแนนแล้วล่ะก็ นับเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้อย่างเดียว เมสซี่ ได้ 51 คะแนน ส่วน ฟาน ไดค์ ได้ 36 คะแนนเท่านั้น ช่องว่างต่างกันถึง 15 คะแนนเต็มๆ
คะแนนโหวตท้ายสุดของบัลลงดอร์ 2019 เมสซี่ได้ 686 แต้ม ส่วน ฟาน ไดค์ ได้ 679 แต้ม ห่างกันแค่ 7 แต้มเท่านั้นเอง นั่นแปลว่า ช่องว่าง 15 แต้ม จากโซนอเมริกาใต้นั้นส่งผลชัดเจนมาก
สุดท้ายเมื่อผลโหวตออกมาเป็นแบบนี้ สุดยอดนักเตะอันดับ 1 ของโลกในยุคปัจจุบัน ก็คงเหลือแค่เมสซี่คนเดียว เพราะมีบัลลงดอร์ 6 สมัยเป็นเครื่องการันตี
อาจเป็นสิ่งที่ส่งผลทางอ้อม แต่นี่ก็คือชัยชนะของฟุตบอลอเมริกาใต้ เหนือ ฟุตบอลยุโรปได้เหมือนกัน
บทสรุปของผม เหมือนที่กล่าวไว้ตอนแรกสุด คือ รางวัลนี้ ทั้งลีโอเนล เมสซี่ และ เวอร์จิล ฟาน ไดค์ ต่างคู่ควร คือใครได้รางวัลก็เหมาะสมทั้งนั้น
สุดยอดในสายเกมรุก ปะทะกับ สุดยอดในสายเกมรับ
แต่เมื่อการตัดสินมันขึ้นอยู่กับการโหวต มันจึงมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนสุดท้าย คะแนนจะเทไปให้เมสซี่มากกว่า และเฉือนกันไปด้วยตัวเลข 7 คะแนน
ผู้ชนะในบัลลงดอร์ครั้งนี้ คือเมสซี่ แต่ถามว่าฟาน ไดค์ เป็นผู้แพ้หรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่
ฟาน ไดค์ ทำดีที่สุด เท่าที่กองหลังคนหนึ่งจะทำได้แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ เขาถูกโหวตชนะโดยเมสซี่เท่านั้นเอง
แต่แน่นอน การสู้กับเมสซี่ได้อย่างสูสีครั้งนี้ สิ่งที่ฟาน ไดค์ จะได้รับเพิ่มเติมขึ้นมา นั่นคือ "บารมี" เพราะมันชัดเจนว่า ตอนนี้คนทั้งโลกรู้จักเขาแล้ว ในฐานะกองหลังเบอร์ 1 ของโลก
ที่สำคัญ อย่าลืมว่า ปัจจุบันฟาน ไดค์เพิ่งอายุ 28 เท่านั้น ยังเล่นในระดับสูงได้อีกหลายปี และถ้าหากมีผลงานที่ชัดเจนต่อเนื่อง อย่างเช่น ช่วยลิเวอร์พูลได้แชมป์ลีก หรือ แชมเปี้ยนส์ลีก ในซีซั่นนี้ หรือ พาเนเธอร์แลนด์ คว้าแชมป์ยูโร 2020 ได้แบบสวยๆล่ะก็
โอกาสที่จะลุ้นรางวัลนักเตะยอดเยี่ยม ก็จะกลับมาอีกครั้ง
เพราะในวินาทีนี้ สิ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ถ้าจะมีกองหลังสักคน ที่ไปถึงบัลลงดอร์ ต่อจากฟาบิโอ คันนาวาโร่ได้แล้วล่ะก็
มันก็คงมีแค่เวอร์จิล ฟาน ไดค์คนเดียวเท่านั้น
#Messi #VanDijk #Ballondor
21 บันทึก
226
16
11
21
226
16
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย