7 ธ.ค. 2019 เวลา 12:18 • ธุรกิจ
Learning Visual Diary #38: ว่าด้วยความอิจฉา 😫
สวัสดีครับทุกท่าน หนึ่งในปัญหาระดับสากลของที่ทำงานที่เราทุกคนเจอและเป็นซะเอง ก็คือ ความอิจฉา ผมคิดว่าทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ถูกอิจฉาและก็ไปอิจฉาคนอื่นแทบทั้งสิ้นครับ มันเป็นธรรมชาติของเราเลย ทั้งๆที่รู้ว่าไม่ดี แต่ก็ห้ามไม่ได้ ทำไมเราอิจฉาแล้วจะทำยังไงดี และนี่คือคำถามของเราในวันนี้ครับ ตามมาเลยครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
ก่อนจะเข้าเนื้อหา ผมขออ้างอิงที่มาก่อนนะครับ เนื้อหาส่วนใหญ่ผมอ้างอิงจากบทความของ HBR ชื่อ Envy at Work และผสมความเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไป ดังนั้น อาจตรงหรือไม่ตรงกับความคิดของท่านก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
ว่าด้วยความอิจฉา😫
เราทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าอิจฉามันไม่ดีแต่เราก็ยังเลิกไม่ได้ครับ โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีแบบนี้ที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงประเมินผลงาน คุณคิดว่าอัตราเงินเดือนขึ้นหรือ bonus 💵 ที่ดีที่สุดคือเท่าไร เช่น ได้ bonus มากแต่น้อยกว่าคนอื่น หรือ ได้ bonus น้อยแต่มากกว่าคนอื่น ผมเชื่อว่าหลายๆคนเลือกแบบที่สอง (ดีที่สุดก็คือได้มากและมากกว่าคนอื่นใช่ใหมครับ ^^)
ซึ่งจริงๆแล้วความอิจฉาเนี่ยมันแปลกมากนะครับ เพราะมันเป็นอาการของกิเลสที่ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขขึ้นเลย 🤔เวลาเราอิจฉาเราก็รู้ครับว่าเราก็รู้สึกไม่สบายใจเอง เล่นเองก็เจ็บเอง ไม่มีแม้แต่ประโยชน์ระยะสั้น กิเลสอย่างอื่นก็ไม่ได้ดีนะ แต่อย่างน้อยก็มีความสุขระยะสั้นมาล่อสมอง เช่น ขี้เกียจแล้วเราได้ความสบายระยะสั้นแต่ลำบากระยะยาว เราอิจฉาเพื่อนที่ได้เงินเดือนเพิ่ม ก็ไม่ได้ทำให้เงินเดือนเราเพิ่มแต่ทำให้เรารู้สึกร้อนแบบเจ็บๆคันๆมากกว่า แต่ข้อเท็จจริงก็คือเรายังเลิกอิจฉากันไม่ได้ครับ
ทำไมเราควรเลิกนิสัยอิจฉา
ทุกคนรู้ดีครับว่าไม่ควรอิจฉาแต่ยังเป็นกันอยู่ แน่นอนผมเองก็ยังเป็นครับ วันนี้ก็เลยอยากลองเอาเหตุผลมานำเสนอดูครับ เชื่อว่าทุกเรื่องที่จะพูดทุกคนรู้อยู่แล้วครับ แต่ลองฟังดูลึกๆแล้วสะท้อนตัวเองไปพร้อมกันอีกทีนะครับ
1. อิจฉาทำลายความสัมพันธ์👫
ผมว่าคงไม่น่าแปลกใจถ้าจะบอกว่า อิจฉาเป็นหนึ่งในเครื่องมือทำลายความสัมพันธ์ชั้นดี แต่ผมว่าจะคุยเรื่องจริงเกี่ยวกับการอิจฉาอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ เรามักจะอิจฉาคนที่อยู่ในวงใกล้เคียงกับเราเอง เช่น ผมเป็นพนักงานเงินเดือนก็คงไม่ได้ไปอิจฉามหาเศรษฐีพันล้าน หรือคงไม่ได้ไปอิจฉาเชฟทำอาหารที่เก่งที่สุด ซึ่งหมายความว่า คนที่เราแนวโน้มจะอิจฉาคือคนที่อยู่วงความสัมพันธ์ของเรา คือ เพื่อนร่วมงานของคุณนั่นแหละ เราไม่ได้สนใจว่าเชฟหรือศิลปินวาดรูปได้รับผลตอบแทนเท่าไรหรือมีชื่อเสียงขนาดใหน แต่เรากังวลว่า working partner ของเราจะโดดเด่นกว่า หรือได้เงินเดือนมากกว่า เพราะธรรมชาติของเรามันบอกว่าคนในวงเดียวกับเรามันเปรียบกับเราได้มากกว่านั่นเอง
นอกจากนี้ เมื่อเรามีความอิจฉาต่อตัวบุคคลแล้ว ผู้อิจฉาก็มีแนวโน้มจะตีตัวออกห่างจากคนที่ตนเองอิจฉาอยู่แล้วครับ😫 อาจเป็นเพราะว่าการที่คนเราอยู่ใกล้กับคนที่เราอิจฉาอาจจะเป็น trigger ที่เพิ่มความเจ็บจากการอิจฉาหรือเร่งความอิจฉาให้เพิ่มขึ้น 2 เรื่องนี้มันทำให้เราอิจฉาเพื่อนร่วมงานได้ง่ายกว่า และเมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นเราก็ยิ่งออกห่างกันทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
2. อิจฉาทำให้เราปิดกั้นและบิดเบือน🖐️
เมื่อเราอิจฉาเราจะเริ่มเปลี่ยนระบบการรับรู้ครับ เคยใหมครับ บางทีเราก็พบว่าคนคนหนึ่งอาจมีความเห็นต่อเรื่องเดียวกันเป็นคนละทางเลย จากเห็นด้วยเป็นค้าน เพียงแค่คนพูดเปลี่ยนคนไปเท่านั้น เหตุการณ์แบบนี้เกิดได้ถ้าการที่ความเห็นนั้นออกจากปากคนอื่นแล้วทำให้เราด้อยลง เราจะเริ่มปิดกั้นและบิดเบือนการรับรู้ของเราเอง ผมมองว่ามันเป็นระบบการป้องกันตัวของเราอย่างหนึ่งครับ
คือ เมื่อเราพบว่าเรื่องนั้นๆมันทำให้เราด้อยลง สิ่งที่ตามมาคือ อิจฉา และเราก็จะต้องพยายมบิดเบือนเรื่องนั้นๆให้มันไม่ถูกต้อง แม้ว่าเรื่องนั้นอาจจะถูกต้องเพื่อรักษาสถานะของตัวเองโดยเปรียบเทียบ แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่า การทำแบบนี้ย่อมทำให้ตัวเราไม่ consistency ในสายตาคนอื่น และสุดท้ายผลร้ายก็ตกที่เราอยู่ดีแหละครับ เชื่อเถอะครับว่าคนอื่นจะรู้สึกได้🤦
3. อิจฉาปิดกั้นการพัฒนาความรู้จากภายในองค์กร
ข้อนี้เป็นผลต่อเนื่องจาก 2 ข้อแรก เมื่อความใกล้ชิดทำให้เราอิจฉาเพื่อนร่วมงาน เราก็เริ่มไม่เห็นความจริง เราก็มีแนวโน้มจะไม่ยอมรับความคิดคนในองค์กร ทำให้หลายครั้งเราต้องพึ่งความเห็นของที่ปรึกษามากกว่า เหตุผลเบื้องหลังของพฤติกรรมแบบนี้คืออะไรกันแน่
เพราะว่าบางครั้ง เรามักจะรู้สึกว่าการรับความคิดเห็นผู้อื่นคือการให้คนอื่นเป็นผู้นำทางความคิดของเรา ขณะที่การใช้ที่ปรึกษาหรือ case study จากภายนอกเราจะมองว่าเป็นแค่สถิติหรือข้อเท็จจริงหรือความเห็นผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่มีส่วนเชิงเปรียบเทียบกับตัวเรา (เหมือนเราไม่อิจฉาคนอยู่นอกวงนั่นแหละครับ) จริงๆแล้วความคิดแบบนี้ถูกหรือไม่ ผมคิดว่าบางครั้งการที่เราใช้ความคิดจากคนในองค์กรมันช่วยแน่ๆเรื่องประหยัดค่าใช้จ่ายและถ้าเราเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆจริงและะมันก็ไม่ได้อยู่ใน scale ที่ใหญ่หรือซับฃ้อนมาก ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องจ้างคนนอกครับ ลองคิดดูว่าเราเอางานที่องค์กรเชี่ยวชาญไปให้คนอื่นทำเพียงเพราะเราไม่อยากให้คนอื่นในองค์กรมาบอกว่าเราต้องทำอะไร ฟังดูไม่เข้าท่าเลยจริงใหมครับ แต่ข่าวร้ายคือ เราพบเห็นเรื่องนี้บ่อยครั้งเลยครับในสังคมการทำงาน
มาหาทางหยุดการอิจฉากันเถอะ🤔
เมื่อรู้ว่าอิจฉาไม่ดีก็ลองมาทบทวนตัวเองเพื่อหาทางหยุดกันเถอะครับ ผมเสนอ 3 วิธีครับ
1. ต้องรู้จักอาการอิจฉาของตัวเอง🌟
คือต้องรู้ว่าเรามักจะเกิดอาการอิจฉาเมื่อไร กับใคร จากเหตุการณ์อะไร และเรามีอาการทางร่างกายใหม เช่นเหงื่อแตก หัวร้อน ถ้าเรารับรู้ได้ หรือรู้ว่าจุด pinpoint เราคืออะไร ก็มีโอกาสรู้ตัวและหยุดได้ครับ
2. เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น😇
แม้ว่าสัญชาตญาณพื้นฐานของเรามักจะชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นก็เพื่อความอยู่รอดในอดีต แต่ในปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดขนาดนั้นแล้ว ดังนั่นจะหยุดความอิจฉาได้ก็ต้องเปลี่ยน focus มาเปรียบกับตัวเอง เช่น แทนที่จะเปรียบกับคนอื่นว่าเขาทำยอดเพิ่มเท่าไร ก็เปลี่ยนเป็นเราทำยอดเพิ่มเท่าไรจากเดือนทีาแล้วอะไรแบบนี้ครับ เพิ่มความภูมิใจให้ตัวเอง เรื่องคนอื่นก็เป็นเรื่องคนอื่นครับ รู้ limit ตัวเอง และก็ beat yesterday ครับ
3. ถ้าเป็นหัวหน้าก็ต้องบริหารจัดการหน่อย
จริงๆแล้วหัวหน้างานมีบทบาทกับเรื่องนี้มากครับ ลองสรุปบทบาทของหัวหน้างานต่อการบริหารความอิจฉาเป็นข้อๆนะครับ
A. หัวหน้าต้องแชร์ผลงานและความสำเร็จ ผ่านการ recognize และ rewards คุณทำให้ทีมงาานโตได้คุณก็จะโตเอง
B. หัวหน้าต้องบริหารทรัพยากรให้ดี ความอิจฉามีพื้นฐานจากการแย่งทรัพยากรที่จำกัดซึ่งบางอย่างเราก็ทำให้เพิ่มขึ่นหรือไม่จำกัดได้ เช่น เวทีในการ presentation หรือเสนอ idea ที่สำคัญหัวหน้าต้องไม่กั๊กเก็บเอาไว้เอง การเข้าถึงข้อมูลที่เปิดกว้างก็ช่วยได้ครับ
C. บริหารพื้นที่ talent บางทีถ้าเร่มีดาวเด่นหลายคน ก็อย่าเอามาซ้อนทับกัน อย่าลืมกฎที่ว่าคนเราไม่อิจฉาคนนอกวง บางครั้งก็ต้องบริหารพื้นที่ให้แต่ละคนครับ
D. ระวังคำพูด การชื่นชมทีมเป็นเรื่องดี แต่ต้องระวัง และดูบริบทดีๆ มันเป็นศิลป์ครับ ชม team lead มากไป member คนอื่นก็รู้สึกด้อยค่าได้ ต้อง balance ครับ
ทั้งหมดก็คือ เรื่องว่าด้วยความอิจฉา หวังว่าบทความจะมีประโยชน์นะครับ มี awareness เยอะๆ แล้วเราจะจัดการได้เองครับ เริ่มวันละนิดจนเป็นนิสัยครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา