8 ธ.ค. 2019 เวลา 16:37 • การเกษตร
ว่าด้วยปุ๋ยหมัก มหัศจรรย์ปุ๋ยอินทรีย์ 2 – ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร 2
คาดกันว่าในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 หรืออีกประมาณ 11 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรเกือบ 5.1 ล้านล้านคน
แน่นอนว่าปริมาณของขยะจากเศษอาหารในครัวเรือนก็จะต้องเพิ่มขึ้นไปตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
การจัดการขยะของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่มักจะนำไปทิ้ง แล้วถูกรวบรวมขนส่งไปที่ทิ้งขยะซึ่งสร้างกองขยะขนาดมหึมาในหลาย ๆ แห่ง ที่เป็นแหล่งรวมของขยะมากมายหลายชนิด
กรณีศึกษาของประเทศมาเลเซีย พบว่าในปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณขยะจากเศษอาหารในแต่ละวันกว่า 3,000 ตัน คิดเป็น 20% ของปริมาณขยะทั้งหมดที่มีอยู่ 15,000 ตันต่อวัน
ขยะจากเศษอาหารถูกทิ้งรวมๆ กันกับขยะอื่น ๆ และเมื่อนำไปทิ้งรวมกันอีกในที่ทิ้งขยะ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น กลิ่นขยะ ทัศนียภาพที่ไม่ดี ปล่อยแก๊สพิษ ปนเปื้อนลงน้ำใต้ดินที่เกิดจากการชะล้างหรือฝนตกลงในที่ทิ้งขยะ
และยังทำให้เกิดแก๊สมีเทน (methane) และคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เติบโตได้ในสภาพไม่มีออกซิเจน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้แก๊สทั้งสองถูกปล่อยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศและนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน (global warming) ในที่สุด
ให้นึกถึงคำพูดที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ในแง่ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบได้อย่างชัดเจน
การทำปุ๋ยหมักจากเศษขยะที่ได้เล่าไปเมื่อวาน เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่เราสามารถทำได้ในครัวเรือนเล็ก ๆ ของเรา ที่จะช่วยลดปริมาณขยะ
Cr.google.com
ไต้หวันเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำทางการรีไซเคิล (recycle) ขยะในอันดับต้น ๆ
Cr.google.com
โดยมีรายงานว่าในปี พ.ศ. 2557 ขยะกว่า 55.6% ของปริมาณขยะทั้งหมด ถูกนำกลับมารีไซเคิล คิดเป็นน้ำหนักกว่า 4.1 ล้านตัน
ขยะจากเศษอาหารที่นำมาทำเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักและแก๊สชีวภาพ หรือใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์แบบอัดเม็ด โดยที่ผ่านมานั้น ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับต้นทุนและผลกำไรของการนำเอาขยะจากเศษอาหารมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เลย
สำหรับประเทศไต้หวันนั้น ขยะจากเศษอาหารจะถูกนำไปรีไซเคิลตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ 3 แนวทางคือ 1) ทำปุ๋ยหมัก 2) ผสมในอาหารอัดเม็ดเพื่อเลี้ยงสุกร และ 3) อื่น ๆ
การนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อนำไปใช้เพิ่มผลผลิตพืช คิดเป็น 28.38% ของขยะจากเศษอาหารที่นำมารีไซเคิลทั้งหมด
ปัจจุบัน เทคโนโลยีของการทำปุ๋ยหมักจากขยะเศษอาหารที่มีการทำอยู่ในไต้หวันมีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบเปิด (open systems) และระบบปิด (in-vessel systems)
กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เก็บรวบรวมขยะจากเศษอาหารไปจนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้ายคือปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำหมักขยะจากเศษอาหาร ดำเนินการบริหารจัดการโดยรัฐบาลและเทศบาลของท้องถิ่น
Cr..google.com
โดยสรุป จะมีขั้นตอนสำคัญในการนำขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักมีอยู่ 11 ข้อ คือ
1)เก็บรวมรวมขยะเศษอาหารจากครัวเรือน (uploading)
2)นำขยะไปยังที่รวบรวม (storage)
3)คัดขยะโดยใช้แรงงานคน (sorting)
4)ย่อยขยะให้มีขนาดเล็กลง (shredding)
5)เอาน้ำออกจากเศษขยะ (dewatering) โดยน้ำทิ้งที่ได้จากขั้นตอนนี้จะถูกนำไปหมัก และทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำหมัก
6)ผสมวัสดุทำปุ๋ยหมัก (mixing) ซึ่งได้แก่ ขยะเศษอาหาร + มูลสัตว์ (ส่วนใหญ่เป็นขี้หมู) + เศษใบไม้
7)ลำเลียงเข้าสู่ถังหมัก (conveying)
8)กระบวนการหมักโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน (aerobic composting)
9)การหมักบ่ม (curing)
10)การบรรจุใส่ถุงและทำผลิตภัณฑ์ (bagging and packaging) โดยบรรจุถุงขนาด 25 หรือ 40 กิโลกรัม
11)ปุ๋ยหมัก (final product)
กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน โดยผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ได้เป็นปุ๋ยหมักที่ผ่านการตรวจสอบและบรรจุถุงได้น้ำหนักประมาณ 25 หรือ 40 กิโลกรัม
โรงงานหรือบริษัทที่ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในไต้หวัน อาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยหมัก คือ การผสมวัสดุทำปุ๋ยหมัก การเติมอากาศ การกลับกองปุ๋ยหมัก การควบคุมกลิ่น และการบรรจุถุง
1) ใช้เครื่องจักรทำปุ๋ยหมักอัติโนมัติทุกขั้นตอน (automatic)
2) แบบกึ่งอัติโนมัติ (semi-automatic) ใช้ทั้งเครื่องจักรและแรงงานคน
3) ใช้แรงงานคนทุกขั้นตอน (manual)
เครื่องทำปุ๋ยหมักแบบ in-vessel system Cr.http://www.waste-to-food.co.za/index.php/in-vessel-composting
โดยพบว่า ต้นทุนของแบบ automatic จะมีต้นทุนต่ำที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนเริ่มต้นสูงจากการนำเข้าเครื่องจักรอัตโนมัติทำปุ๋ยหมักจากต่างประเทศ (อิตาลี) แต่ต้องยอมรับว่า ต้นทุนของค่าจ้างแรงงานนั้นจะมีน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 แบบหลัง
กลับมาดูที่ประเทศไทยของเรา ก็พบว่า มีงานวิจัยอยู่หลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการทำปุ๋ยหมักจากเศษขยะ ซึ่งหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน
แต่มีรายงานการวิจัยที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับ การลดขยะอาหารในครัวเรือนแบบครบวงจร ซึ่งนำเสนอการมุ่งเน้นการจัดการก่อนจะเป็นขยะอาหาร และการจัดการภายในครัวเรือนที่ใช้งบประมาณน้อย ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง
รายงานดังกล่าวได้เสนอแบบจำลอง 7 ขั้นตอน เพื่อลดการเกิดขยะอาหารในครัวเรือน ได้แก่
1)การวางแผนก่อนซื้อ ทั้งรายการอาหาร ตรวจสอบอาหารที่มีอยู่ และเขียนรายการที่จะซื้อ
2)การซื้ออาหารตามรายการที่กำหนดไว้ ให้มีปริมาณพอดีกับที่จะกิน
3)การเก็บรักษา ที่เหมาะกับชนิดและประเภทของอาหาร หมั่นตรวจสอบตู้เย็น
4)การทำอาหาร ทำในปริมาณที่เหมาะสมกับคนในครัวเรือน และที่มีอยู่แล้วในตู้เย็น
5)การบริโภค ตักให้พอดีกับที่จะกิน และกินอาหารที่ซื้อมาก่อน
6)การแปรรูปอาหาร
7)การรีไซเคิลขยะอาหาร นำไปทำปุ๋ยหมัก นำไปเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
หากท่านได้อ่านมาถึงตรงนี้ มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้อ่านโพสต์เรื่องอควาโปนิกส์ก่อนหน้านี้
และได้ขอคำแนะนำในการใช้พื้นที่ที่เคยใช้ขุดทราย จนพื้นที่ได้กลายเป็นบ่อลึก จะสามารถทำเกษตรกรรมอะไรได้บ้าง
พื้นที่ดังกล่าว จากการใช้ประโยชน์ก่อนหน้า หากจะนำมาปลูกพืช คงต้องลงทุนสูงมากในการปรับปรุงดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช และอาจจะไม่คุ้มทุนเอาเสียเลย
แต่การนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการสร้างวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการปลูกพืช การเขียนบทความเรื่อง “ว่าด้วยปุ๋ยหมัก มหัศจรรย์ปุ๋ยอินทรีย์ 2 – ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร” ทั้ง 2 ตอน ก็อาจจะพอเป็นแนวทางของคำตอบได้บ้างนะคะ
อ้างอิง
Chen, Y-T. 2016. A cost analysis of food waste composting in Taiwan. Sustainability 8, 1-13.
🙏เรียนเกษตรแล้วได้ดี 8 ธันวาคม 2562
โฆษณา