12 ธ.ค. 2019 เวลา 05:12 • ครอบครัว & เด็ก
รักในวัยเรียน
1
ใครบ้างที่เคยมีความรักในวัยเรียน ตอนนั้นเราคิดอย่างไร ... อยากรู้ อยากลอง?
เราอยากปรึกษาใคร? พูดกับพ่อแม่ ได้มั้ย?
หลายความรู้สึก ความคิด คำถามมันถาโถมเข้ามาจนเราในตอนนั้นก็ไม่ทันตั้งตัว
วันนี้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีน้อง มีลูกหลาน
เราอาจจะรู้สึกตกใจเวลาได้รู้ว่าคนของเรากำลังมีคนรักในวัยเรียน
เพราะธรรมชาติของพ่อแม่หรือผู้ปกครองย่อมเป็นห่วงลูกของตนเป็นธรรมดาแต่ในความเป็นจริงความรักสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่เป็นวัยแห่งการเรียนรู้
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เราอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนใกล้ตัวทำอย่างไร เพื่อให้รักนั้น ไม่ทำลาย ทำร้ายอนาคต
เทคนิคข้างล่างนี้ จะช่วยเปลี่ยนเรื่องยากที่จะคุย กลายเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจกันได้
1. เปิดใจพูดคุยกัน
ฟัง ฟัง ฟัง .. การรับฟังเป็นจุดเริ่มต้นของทุกความสัมพันธ์
สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกของอีกฝ่าย เพื่อให้เขารู้ว่าเราเข้าใจเขา และอยู่ข้างเขาเสมอ
ให้ข้อคิด คำแนะนำ ในจังหวะที่เหมาะสม อย่าลืมว่า การสร้างความไว้ใจต้องใช้เวลา แต่การทำลายความไว้ใจนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในเสี้ยววินาที
ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลเป็นธรรมชาติและไม่ถามจู้จี้มากเกินไป ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกดดัน
2. ไม่คัดค้านโดยไร้เหตุผล
เมื่อเราไว้ใจซึ่งกันและกันแล้ว เราจึงจะสามารถห้าม ว่ากล่าวตักเตือนได้ เพราะหากเราไม่เปิดใจและคัดค้านโดยไม่รับฟังพวกเขาก็จะยิ่งทำให้ลูก ๆ รู้สึกในด้านลบและไม่ยอมรับในสิ่งที่เราพูด
ค้นหา เข้าใจ “เหตุผล” ของลูกให้ได้
รู้จักใช้ “เป้าหมาย” “ความฝัน” ของลูกในการจูงใจ ก่อนที่จะใช้ “เหตุผล” ของเรา
3. ทำความรู้จักกับเพื่อน และแฟนของลูก
สมัยเด็ก เราคบเพื่อนจากเหตุผลอะไร ต่างจากตอนเป็นผู้ใหญ่หรือไม่ ปัจจัยที่เราให้ความสําคัญในอดีต บางครั้งก็ต่างจากปัจจุบัน เพราะเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราเห็นโลกมากขึ้น
ลูกก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การทำความรู้จักเพื่อนของลูก นอกจากจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้นแล้ว เรายังสามารถสร้างความไว้ใจ เกรงใจ ให้เกียรติระหว่างกัน ให้เกิดขึ้นได้ด้วย
4. คอยให้คำปรึกษา
ใครคือคนที่คุณอยากปรึกษาเวลามีปัญหาความรัก และเขามีนิสัยอย่างไร เพราะอะไรเราจึงเชื่อใจเขา
คำตอบนี้คุณรู้ดี
แทนที่จะหวาดระแวงหรือกีดกันพวกเขาออกจากกัน หันมาให้คำปรึกษา รับฟัง เข้าใจ การให้คำแนะนำที่ดีด้วยความจริงใจจะทำให้ลูกของคุณรู้สึกสบายใจมากขึ้น และทำในสิ่งที่ถูกต้อง
5. ไว้ใจและมั่นใจในตัวลูกของคุณ
การใช้คำพูดในเชิงลบก็มีแต่จะบั่นทอนให้ผิดใจกัน การปล่อยให้ลูกของคุณใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองโดยที่อยู่ในสายตาของคุณอยู่ตลอด จะทำให้เขาเติบโตขึ้นรู้จักคิด และรู้จักรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเองด้วย
หากเราเริ่มสร้างความเชื่อใจ ความเป็นเพื่อน ความไว้ใจกันตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาในชีวิตเขา เราจะได้เป็น “ที่ปรึกษา” ของเขาเสมอ
เพราะเราไม่สามารถปกป้องเขาได้ตลอดไป
การพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น!
โฆษณา