17 ธ.ค. 2019 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
แอฟริกาใต้ ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนแอฟริกาใต้มีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนไทย 4 เท่า
ปี 1960 คนแอฟริกาใต้ มีรายได้ต่อปี 8,950 บาท
ในขณะที่คนไทยมีรายได้ต่อปีเพียง 2,140 บาท
ประเทศนี้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้
ประเทศนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งเพชร ทองคำ และแพลทินัม
ในขณะที่การท่องเที่ยวก็มีรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา
และเป็นประเทศเดียวในทวีปนี้ที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมฟุตบอลโลกในปี 2010
รายได้ต่อปีของคนแอฟริกาใต้เพิ่มมาถึงจุดสูงสุดราว 250,000 บาท ในปี 2011
ซึ่งมากกว่าคนไทยในช่วงเวลานั้นถึง 1.5 เท่า
แต่หลังจากนั้น เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ก็เริ่มชะลอตัวลงเรื่อยๆ
จนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าไทยในที่สุด
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกาในช่วงที่ผ่านมา..
1
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอน แอฟริกาใต้
หนึ่งในปัญหาที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้มาตลอดคือ
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชากร”
แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในระดับสูง
โดยมีค่า Gini coefficient อยู่ที่ 63 ซึ่งสูงที่สุดในโลก
ความเหลื่อมล้ำของประชากรในประเทศนี้มีสาเหตุหลักมาจากนโยบายการปกครองที่เรียกว่า
นโยบายการแบ่งแยกสีผิว (Apartheid)
นโยบายนี้เริ่มตั้งแต่สมัยที่แอฟริกาใต้ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ. 1948
โดยให้สิทธิต่างๆ แก่คนผิวขาว ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ
ที่อยู่อาศัยของประชาชนจะถูกจัดแบ่งแยกกัน หลายคนถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน
คนผิวดำซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ จะได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล และการขนส่งสาธารณะด้อยกว่าคนผิวขาว
2
นโยบายนี้ถูกประท้วงต่อต้านมาโดยตลอด จนถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1994
โดยประธานาธิบดีผิวดำคนแรก ผู้ได้รับการเลือกตั้ง คือเนลสัน แมนเดลา
2
แต่สิ่งที่นโยบายนี้ทิ้งไว้
ได้ทำให้ประชากรผิวดำจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสทางการศึกษา และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ
ประชากรทั้งประเทศ 58 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อ HIV สูงถึง 7.7 ล้านคน
อัตราการติดเชื้อ HIV ในประชากรอายุ 15-49 ปี มีสูงถึง 20.4%
คนกลุ่มนี้คือวัยเจริญพันธุ์และกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ
แต่ความเหลื่อมล้ำทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวน 38% ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้าน HIV
ซึ่งส่วนใหญ่คือคนผิวดำ
การขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำมาสู่การขาดโอกาสที่ดีในการทำงาน
อัตราว่างงานของแอฟริกาใต้จึงอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด
ปี 2010 อัตราว่างงาน อยู่ที่ 24.7 %
ปี 2018 อัตราว่างงาน อยู่ที่ 27.0 %
เมื่ออัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ปัญหาอาชญากรรม
แอฟริกาใต้มีปัญหาอาชญากรรมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
โดยในปี 2018 ทั่วประเทศมีคดีจี้ปล้นรถยนต์วันละ 44 คดี
มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นทุกวัน วันละ 57 คดี
ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 6.9%
อาชญากรรมทำให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน
ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงในการรักษาความปลอดภัย
การลงทุนจากบริษัทต่างชาติมายังแอฟริกาใต้จึงไม่เติบโตมากนัก
เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้สำคัญ และจ้างงานเป็นสัดส่วน 9.5% ของการจ้างงานทั้งหมด
แอฟริกาใต้มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งชายหาด ซาฟารี และเมืองประวัติศาสตร์
Cr. Africa Geographic
แต่ปัญหาอาชญากรรมเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้การท่องเที่ยวของแอฟริกาใต้ไม่เติบโตเท่าที่ควร
เมืองท่องเที่ยวหลักอย่างเคปทาวน์ติดอันดับเมืองที่มีคดีฆาตกรรมสูงเป็นอันดับที่ 11
ของโลก ในปี 2018
1
นอกจากปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและอาชญากรรม
ปัญหาเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานานของประเทศแห่งนี้ คือ ภาระหนี้ของรัฐบาลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลต้องอุ้มรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้สะสมมหาศาล
หากเป็นรัฐวิสาหกิจทั่วไป รัฐบาลอาจปล่อยให้ล้มละลาย
แต่รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ อยู่ในสถานะใหญ่เกินกว่าจะล้ม (Too Big to Fail)
2
เพราะรัฐวิสาหกิจนี้เป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า 95% ของทั้งประเทศ บริษัทนี้มีชื่อว่า Eskom
Cr. The Zambian Observer
รู้หรือไม่ว่า ตั้งแต่ปี 2007 แอฟริกาใต้ประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าครั้งใหญ่มาแล้วถึง 3 ครั้ง
Eskom ประสบปัญหาหลักคือ ขาดการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าแห่งใหม่
เพราะไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล
จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าเก่า
2
การขาดความคล่องตัวในการบริหาร ทำให้ไม่สามารถจัดการวัตถุดิบ เช่น ถ่านหิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้กำลังการผลิตลดลง
บวกกับการที่รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
เมื่อความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
แต่กำลังการผลิตจาก Eskom ไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาคือการขาดแคลนไฟฟ้าทั่วประเทศ
1
ค่าบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าเก่าหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งมีค่าบำรุงรักษาสูง
รวมถึงการต้องใช้งบประมาณสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
ทำให้ Eskom ประสบปัญหาหนี้เสียสะสมคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 440,000 ล้านแรนด์
หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 910,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น แอฟริกาใต้ยังมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้ค่าเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้อ่อนค่าลงเรื่อยๆ
ปี 2011 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ มีค่าเท่ากับ 7.05 แรนด์
ปี 2019 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ มีค่าเท่ากับ 14.62 แรนด์
1
Cr. BBC
สกุลเงินแรนด์ที่อ่อนค่า
ทำให้ขนาดเศรษฐกิจในสกุลดอลลาร์สหรัฐของแอฟริกาใต้มีขนาดลดลง
และภาระหนี้ในสกุลต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะที่ภาคการส่งออกกลับทรงตัว
และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ไม่เติบโตมากนัก
เนื่องจากปัญหาอาชญากรรม การขาดแรงงานที่มีการศึกษา และภาวะขาดแคลนไฟฟ้า
เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้จึงค่อยๆ เติบโตช้าลง
จนกลายเป็นประเทศที่คนมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าคนไทยในที่สุด..
โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างกระแสไฟฟ้า
ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษา
อาชญากรรมที่สูง
การดำเนินนโยบายของรัฐที่ผิดทาง
และ สุดท้ายคือเสถียรภาพของค่าเงิน
เป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกาใต้
นอกจากแอฟริกาใต้ ทวีปแอฟริกายังมีอีกประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน
2
ทั้งที่ประเทศนี้มีแหล่งน้ำมัน ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการขนส่ง
มีแหล่งท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก
และดินแดนนี้เคย “รวย” กว่าไทย 1.5 เท่า
ประเทศที่กล่าวถึงคือ “สาธารณรัฐอียิปต์”..
ติดตาม ซีรีส์ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า
โหลดแอป Blockdit เพื่ออ่านซีรีส์ตอนก่อนหน้านี้ ได้ที่ Blockdit.com/download

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา