18 ธ.ค. 2019 เวลา 11:22 • ข่าว
คดีนายสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่อง ที่ลงมือสังหารเหยื่ออย่างโหดเหี้ยมในปี 2548 สร้างความตื่นตะลึงให้สังคมไทยในขณะนี้ เนื่องจาก ในที่สุดก็สามารถจับกุมคนร้ายได้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านโล่งใจ เพราะไม่รู้ว่า นายสมคิดจะไปก่อเหตุที่ไหนอีก
1
อย่างไรก็ตาม แม้จะจับได้แล้ว แต่คำถามที่ทุกคนสงสัย คือ ทำไมเขาถูกปล่อยตัวมาแต่แรก นายสมคิด อาชญากรที่ฆ่าถึง 5 ศพ บางรายก็ข่มขืนด้วย แถมยังไม่สะทกสะท้านต่อความผิดของตัวเอง สุดท้ายกลับได้ติดคุกเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้นก็โดนปล่อยตัวออกจากเรือนจำ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เมื่อพ้นโทษ เขาจะกลับมาทำความผิดแบบเดิม คือฆ่าเหยื่อเป็นรายที่ 6
2
คำถามคือทำไมระบบ กฎหมายไทย ถึงปล่อยให้ฆาตกรใจโหดรายนี้ ออกมาสู่สังคม ใช้ชีวิตแบบปกติมนุษย์ได้ ทั้งๆที่ทำอาชญากรรมที่รุนแรงขนาดนั้น
1
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอธิบายเหตุผลที่บทสรุปของเหตุผล ที่ถือว่าเป็นรูโหว่ของกฎหมายไทย ณ ขณะนี้ โดยเราจะสรุปสาระสำคัญให้เข้าใจภายใน 12 ข้อ
1) นายสมคิด พุ่มพวง ได้ลงมือฆ่าหมอนวด 5 คน ในช่วงปี พ.ศ.2548 ไล่เรียงไป 5 จังหวัด คือ มุกดาหาร, ลำปาง, ตรัง, อุดรธานี และ บุรีรัมย์ โดยวิธีการฆ่าคือ จับมัด และกดน้ำจนเสียชีวิต บางรายก็บีบคอจนตาย ซึ่งเหยื่อเมื่อโดนฆ่าแล้ว จะถูกตบเอาทรัพย์สินไปด้วย
1
2) ด้วยความย่ามใจที่ตำรวจไม่สามารถจับได้ ทำให้เขาก่อคดีอย่างต่อเนื่อง บางราย ช่องว่างห่างกันแค่ 3 วันเท่านั้น แต่สุดท้าย ในศพที่ 5 เขาทำพลาด เมื่อถูกจับภาพไว้จากภาพวงจรปิด ทำให้ตำรวจสาวตัวได้สำเร็จว่า ใครคือผู้ก่อเหตุ และสามารถจับกุมตัวได้ในที่สุด ซึ่งหลังจากโดนจับได้ นายสมคิด ยอมรับว่าเป็นฆ่าทั้ง 5 ศพเอง โดยอ้างว่าบันดาลโทสะ ที่เหยื่อซึ่งเป็นหมอนวด ขอค่าตัวเพิ่มหลังจากร่วมเพศเสร็จสิ้น แต่ศาลไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจาก พฤติกรรมของฆาตกรมีความโหดเหี้ยมเกินมนุษย์
2
3) นายสมคิด พุ่มพวง ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ด้วยความเรียบเฉยในเวลาต่อมาว่า "ไอ้ที่เป็นข่าวนั่น ยังไม่ถึงเศษเสี้ยวที่ผมเคยทำมาเลย"
1
"ผมเคยไปทำงานที่เวียดนาม ไปดูแลคาสิโนที่นั่น ไปเจออดีตทหารเวียดกง เขาก็สอนให้ เขาบอกว่า วิธีหักคอต้องทำมือแบบนี้ เดินไปข้างหลังตอนเหยื่อไม่ทันตั้งตัว พล็อคเดียว รับรองตายทุกราย"
1
"ส่วนคนไหนไม่ตาย ผมก็มีวิธีอีก ก็จับบีบคอ ถ้ามีอ่างน้ำก็จับกดน้ำ ถ้าไม่มีก็มีวิธีรัดลูกกระเดือกปิดหลอดลม"
4) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ระบุชัดเจนว่า การฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้เพียงศพเดียว โทษคือประหารชีวิต แต่กรณีของสมคิด พุ่มพวง ฆ่าถึงเจตนา 5 ศพ โทษจึงต้องเป็นประหารชีวิตแน่นอน
1
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปกป้อง อธิบายว่า ในศาลของประเทศไทย ถ้าหากฆาตกรให้ความร่วมมือ ให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการสืบสวน จนช่วยปิดคดีได้ ศาลจะมีความกรุณาลดโทษจากประหารชีวิต เหลือเพียงแค่ติดคุกตลอดชีวิตเท่านั้น
5) หลังจากที่ศาลตัดสินคดีเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากไม่ใช่การประหารชีวิต หน้าที่ในการดูแลนักโทษจะอยู่ที่กรมราชทัณฑ์ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว นักโทษทุกคน ไม่ว่าจะติดคุกนานแค่ไหน จะได้สิทธิลดหย่อนโทษในคุกเสมอ แม้ว่าจะเป็นโทษติดคุกตลอดชีวิตก็ตาม
รศ.ดร.ปกป้องระบุว่า ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 2560 ถ้านักโทษที่มีโทษติดคุกตลอดชีวิต ต้องติดจริงเป็นระยะเวลา 10 ปี แต่หลังจากนั้น ถ้าประพฤติตัวดีในคุก ก็จะได้ลดโทษลงมาเรื่อยๆ และเมื่อถึงวันสำคัญก็จะมีพระราชทานอภัยโทษเป็นครั้งคราว ช่วยลดวันติดคุกลงอีก ซึ่งทำให้โทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น สุดท้ายอาจติดคุกแค่ 10 ปีเศษๆ โดนก็ปล่อยตัวออกมา เหมือนอย่างในเคสของนายสมคิด พุ่มพวง โทษตลอดชีวิตก็จริง แต่ติดจริงแค่ 14 ปี
2
"ที่ประเทศฝรั่งเศส ถ้าใครได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ต้องติดคุกจริงอย่างน้อย 18 ปี บางประเทศก็ 22 ปี แต่ที่ไทยเรามีขั้นต่ำแค่ 10 ปีเท่านั้น"
1
6) รศ.ดร.ปกป้องได้อธิบายอีกว่า ที่ประเทศไทย กฎหมายค่อนข้างเป็นใจให้อาชญากร กล่าวคือ ที่ต่างประเทศ หากเป็นนักโทษคดีร้ายแรง ก่อนจะถูกปล่อยตัวคืนสู่สังคม นักโทษจะต้องเข้าสู่กระบวนการศาลอีกครั้ง เพื่อให้ศาลและสังคม ช่วยกันตัดสินว่า นักโทษคนนี้ พร้อมแล้วจริงๆหรือไม่ ที่จะได้รับโทษปล่อยตัว และมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
1
แต่กรณีของไทย เรื่องทั้งหมดจัดการโดยกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทุกอย่างเป็นข้อมูลปิด และสังคมจะไม่สามารถรับทราบได้เลย ว่านักโทษจะโดนลดโทษอย่างไร และโดนปล่อยตัวเมื่อไหร่ ไม่ต้องมีการให้สังคมหรือศาลช่วยพิจารณาอีกรอบ
ซึ่งถ้าในคุก นักโทษทำตัวดี และอยู่อย่างสงบไปสัก 10 ปี ก็มีโอกาสโดนปล่อยตัวออกมาได้ แม้ว่าความผิดที่กระทำจะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม
1
7) อย่างไรก็ตาม ในมุมของ รศ.ดร.ปกป้อง ก็ระบุว่า เข้าใจในมุมของกรมราชทัณฑ์เช่นกัน ที่ต้องรีบระบายนักโทษ สาเหตุเพราะในปัจจุบัน ประเทศไทย มีจำนวนผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีปริมาณนักโทษมากกว่าขีดจำกัดที่เรือนจำ สามารถรับได้แล้ว โดยสถิติล่าสุดเดือน พ.ย.2562 ไทยมีนักโทษราว 365,000 คนทั่วประเทศ ทั้งๆที่ลิมิตของเรือนจำไทย รองรับนักโทษได้แค่ 200,000 คนเท่านั้น
1
นั่นทำให้สภาพคุกเต็มไปด้วยความแออัด และเจ้าหน้าที่ก็ทำงานยาก ดังนั้นจึงต้องมีการเร่งระบายปล่อยนักโทษออกมา ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2
8) เรื่องการระบายความแออัดนั้นเข้าใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น คือนักโทษที่กรมราชทัณฑ์ควรเลือกปล่อยออกมา น่าจะเป็นนักโทษความผิดเล็กน้อย ที่ไม่มีพิษมีภัยต่อสังคมมากกว่า ไม่ใช่นักโทษในคดีอุฉกรรจ์แบบนี้
1
"คดีฆาตกรรม คดีข่มขืน ที่ใช้ความรุนแรง ประเภทเป็นภัยสังคมร้ายแรง ในประเทศไทยมีนักโทษเหล่านี้ไม่เยอะ ผมก็ได้แต่วิงวอนให้กรมราชทัณฑ์ใช้วิธีลดหย่อนโทษที่แตกต่างจากนักโทษทั่วไป"
"คือการที่เขาสงบนิ่งในเรือนจำ 14 ปี ไม่ได้หมายความว่าเขาปรับตัวได้ เขาแค่อาจทำตัวดี ไม่ก่อปัญหาในเรือนจำ การปล่อยตัวออกมาเมื่อเขายังไม่พร้อม สุดท้ายก็จะเกิดคดีอย่างที่เป็นข่าว"
9) บทสรุปเรื่องการปล่อยตัว นายสมคิด พุ่มพวงนั้น รศ.ดร.ปกป้อง ได้อธิบายสรุปไว้ว่า ขั้นแรก ต้องเริ่มจากศาลก่อนถ้าศาลตัดสินยืนประหารชีวิตทุกอย่างก็จบ นักโทษก็จะรอวันประหาร โดยไม่ต้องพิจารณาอย่างอื่น แต่ถ้าศาลเลือกตัดสินเป็นการจำคุก ไม่ว่าจะจำคุกนานแค่ไหน รวมถึงตลอดชีวิตก็ตาม นักโทษมีสิทธิลดหย่อนโทษได้เสมอ
10) และเมื่อมีโทษจำคุก ตัวนักโทษก็จะได้สิทธิลดหย่อน ตามกฎหมาย และโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลตัดสินตอนแรก เอาจริงๆ คือจำคุก 10 ปีเศษๆเท่านั้น ถ้านักโทษทำตัวดี ซึ่งนับว่าเป็นบทลงโทษที่เบา หากเทียบกับกฎหมายของประเทศอื่น
1
11) สำหรับสถานการณ์ล่าสุด นายสมคิด พุ่มพวง ฆ่าเหยื่อ 5 ราย และโดนจำคุกในปี 2548 แต่โดนปล่อยตัวออกมาในเดือนพฤศภาคม ปี 2562 ระยะเวลาติดคุก ไม่ถึง 14 ปี ก่อนสุดท้าย จะกลับมาก่อเหตุฆาตกรรมอีกครั้ง ด้วยวิธีคล้ายกับ 5 ศพแรก รวมแล้วเป็นศพที่ 6 ที่ต้องตายด้วยน้ำมือของอาชญากรรายนี้
3
12) คำถามที่น่าสนใจก็คือ เมื่อตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวได้อีกครั้ง และถ้านายสมคิด พุ่มพวง ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกรอบ เขาก็จะสามารถเว้นโทษประหารชีวิตไปได้อีกครั้งหรือไม่ และอ้างอิงตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ เมื่อเขาติดคุกก็มีโอกาสได้ออกจากเรือนจำในอีก 10 ปีต่อมา และเมื่อถึงเวลานั้น มีโอกาสหรือไม่ ที่เขาจะออกมาจากคุก และหาเหยื่อเพื่อฆ่าต่อไปเป็นรายที่ 7
2
โฆษณา