19 ธ.ค. 2019 เวลา 16:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แร่ฮีเลียม 3 บนดวงจันทร์ ทรัพยากรสำคัญที่มหาอำนาจต่างอยากครอบครอง!!
นับตั้งแต่ภารกิจสำรวจการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งจบลงในช่วงปีค.ศ. 1969-1972 หลังจากนั้นมนุษย์ก็ไม่ได้กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกเลย แต่ก็ยังมีการส่งยานสำรวจจากชาติต่างๆแวะเวียนเข้าไปสำรวจอยู่จนถึงทุกวันนี้ คำถามคือทำไมดวงจันทร์จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในโครงการสำรวจอวกาศของชาติมหาอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ คำตอบที่เด่นชัดที่สุดคือ เพื่อการสำรวจและครอบครองทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลนั่นเอง
อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาคือ "แล้วใครเป็นเจ้าของดวงจันทร์" เพื่อจัดการกับความยุ่งยากที่จะตามมาหากประเทศใดประเทศหนึ่งปนะกาศครอบครองจันทร์ได้ก่อน โดยเฉพาะในยุคสำรวจอวกาศที่กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในช่วงเวลานั้น องค์การสหประชาชาติจึงได้ตรากฎหมาย“outer space treaty” หรือ “สนธิสัญญาอวกาศ” ที่มีผลปี ค.ศ.1967 สองปีก่อนภารกิจอะพอลโล 11 ที่ประกาศว่าทรัพยากรทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอวกาศของโลกถือเป็นของมวลมนุษยชาติทั้งหมด อย่างไรก็ตามดูเหมือนสนธิสัญญานี้กำลังทำให้สหรัฐอเมริกาผู้เป็นต้นคิดกำลังกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หลังจากมีการตรากฎหมาย "Spurrint private aerospace compepiveness and entreneurship act of 2015” หรือ “กฎหมายส่งเสริมการแข่งขันและธุรกิจเอกชนในอวกาศ ฉบับ 2015” แต่มักเรียกกันสั้นๆว่า Space act of 2015 ที่เปิดทางให้เอกชนสามารถเข้าไปสำรวจและขุดค้นเอาทรัพยากรจากอวกาศได้โดยเฉพาะจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์น้อย
ภายใต้พื้นอันขรุขระของดวงจันทร์กลับเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ชาติมหาอำนาจต่างพยายามสำรวจและริเริ่มโครงการเหมืองแร่ในอนาคตอันใกล้ Cr.NASA/JPL - http://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA00131
คำถามคือในดวงจันทร์มีทรัพยากรอะไรที่ทำให้ชาติมหาอำนาจต่างพยายามแย่งชิงกันเข้าไปครอบครอง หินและฝุ่นบนดวงจันทร์นั่นมีต้นกำเนิดและองค์ประกอบคล้ายกับหินบนโลกมาก แต่มีทรัพยากรสามอย่างที่พิเศษและจำเป็นต่อโครงการสำรวจอวกาศในอนาคตได้แก่ น้ำแข็ง ภายในโพรงอุตกาบาตของดวงจันทร์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสร้างพลังงาน ต่อมาคือโลหะหายากประเภทแรร์เอิร์ท (rare-earth) ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์และท้ายที่สุดคือฮีเลียม-3 สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิวชันในอนาคตอันใกล้
แน่นอนว่าการผลิตพลังงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ ในปัจจุบันแหล่งพลังงานใหญ่ๆของมนุษย์นอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วก็คือพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีสองแบบได้แก่แบบที่ผลิตจากปฏิกิริยา “ฟิชชัน (Nuclear fission)” โดยผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงของธาตุหนักต่างๆ เช่น ยูเรเนียมและพลูโตเนียมแล้วทำให้ธาตุเหล่านั้นแตกตัวออกมาเพื่อปลดปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลที่แฝงอยู่ในอะตอม อย่างไรก็ตามปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบนี้กลับสร้างมลพิษที่ยากจะกำจัดและอันตรายอย่างกากนิวเคลียร์ซึ่งใช้เวลานับล้านปีก็ยังไม่หยุดแผ่กัมมันภาพรังสี ส่วนวิธีผลิตพลังงานนิวเคลียร์แบบที่สองเรียกว่าปฏิกิริยา “ฟิวชัน (Nuclear fusion)” ซึ่งเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดในดวงอาทิตย์ นอกจากจะให้พลังงานต่อหน่วยที่มากกว่าปฏิกิริยาฟิชชันแล้ว วิธีนี้ยังไม่ทิ้งกากนิวเคลียร์อันตรายด้วย โดยการผลิตพลังงานแบบนี้จะใช้เทคนิคการบังคับให้ธาตุน้ำหนักเบาอย่าง ไฮโดรเจนและไอโซโทปที่สำคัญอย่าง “Deuterium Tritium และ helium-3" หลอมรวมกันในภาวะที่มีอุณหภูมิสูงประมาณสิบล้านองศาเซลเซียสเพื่อปลดปล่อยพลังงานส่วนเกินให้เรานำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า
1
โรงไฟฟ้าแบบฟิวชันคือแหล่งพลังงานใหม่ที่ก่อมลพิษน้อยและเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ แต่ปัญหาคือเชื้อเพลิงสำหรับใช้งานกลับหายากบนโลก
ปัญหาสำคัญคือหากหลอมไอโซโทป Deuterium-Tritium แม้จะใช้อุณหภูมิในการทำงานที่ต่ำกว่าแต่ผลพลอยได้จากปฏิกิริยานี้คือโปรตรอนที่สามารถเหนี่ยวนำให้วัสดุรอบข้างเตาปฏิกรณนิวเคลียร์เกิดสารกัมมันตภาพรังสีได้ ทำให้เกิดมลพิษในระยะยาวเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหานี้การหลอมเอาคู่ไอโซโทปอย่าง helium-3 กับ helium-3 จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์เพราะไม่ทำให้วัสดุรอบข้างในเตาปฏิกรณ์เกิดกัมมันตภาพรังสี ถึงแม้ว่ามันจะใช้พลังงานที่สูงกว่าในการทำปฏิกิริยาแต่ก็ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม helium-3 นั่นพบได้น้อยมากในชั้นบรรยากาศและผิวโลกต่างจาก Deuterium และ Tritium ที่มีปริมาณมากพอที่จะสกัดได้จากน้ำทะเลได้พอสมควร ตรงประเด็นนี้เองที่ดวงจันทร์คือคำตอบสำหรับปัญหานี้ เพราะว่าไอโซโทป helium-3 มักจะก่อตัวจากการที่ก๊าซฮีเลียมที่มีมากในอวกาศถูกระดมยิงจากลมสุริยะ (Solar wind) และรังสีคอสมิก ก่อนจะถูกพัดพาให้ฝังตัวอยู่ในชั้นดินและฝุุ่นของดวงจันทร์ (lunar regolith) อย่างหนาแน่นโดยเฉพาะในด้านมืดของดวงจันทร์ โดยรายงานการประเมินหนึ่ง [1] กล่าวว่าแร่ helium-3 บนดวงจันทร์มีปริมาณสะสมอาจสูงถึงหนึ่งพันล้านตัน นั่นมากพอจะใช้เป็นเชื้อเพลิงให้มนุษย์ผลิตพลังงานได้อีกหลายพันปี
อย่างไรก็ตามการสกัดแร่ helium-3 จำนวน 1 กรัมต้องใช้หินจากดวงจันทร์ถึง 150 ตัน [2] เพื่อผลิตมันออกมา โดย helium-3 ที่ได้จะอยู่ในรูปก๊าซก่อนจะถูกบรรจุและขนส่งมาใช้งานบนผิวโลก ซึ่งดูเหมือนว่าการทำเหมืองแร่ helium-3 ในเชิงพานิชย์ยังคงเป็นไปได้ยากในอนาคตอันใกล้นี้ [3] เนื่องจากการควบคุมและสร้างเตาปฏิกรณ์ที่ยังไม่เสถียรมากนัก และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันปฏิกิริยาฟิวชั่นที่ทดลองในห้องปฏิบัติการ ผลิตพลังงานออกมาน้อยกว่าที่ให้เข้าไปมาก นั่นเป็นไอเดียที่แย่มากหากจะนำไปผลิตในเชิงพานิชย์ รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องความคุ้มทุนในการแปรรูป ขนส่ง และทำเหมืองแร่อย่างเป็นระบบ เราจึงคงยังไม่เห็นมันในเร็วๆนี้
แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ความหวังซะทีเดียวครับเพราะมีโครงการนิวเคลียร์ฟิวชั่นต้นแบบที่ดูเหมือนจะผลิตพลังงานมากกว่าที่ให้เข้าไปและคุ้มทุนต่อการสร้าง ตัวอย่างเช่น Tokamak fusion reactors [4] ของอังกฤษ International Thermonuclear Experimental Reactor (5) ของสหภาพยุโรปก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีมากพอที่จะนำมาใช้ได้จริงแล้ว และเพราะความตื่นตัวนี้ทำให้หลายประเทศเริ่มสนใจสำรวจบนดวงจันทร์อีกครั้ง อาทิ เช่นสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น และ ยุโรป เพื่อขุดหาแร่ธาตุและทรัพยากรที่จำเป็นมาครอบครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่ helium-3 ที่จำเป็นต่อการผลิตพลังงานในอนาคต อย่างลืมนะครับพลังงานจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จีนส่งยานสำรวจ Chang’e 4 ไปดวงจันทร์เพื่อวางแผนพัฒนาการทำเหมืองแร่ helium-3 อย่างจริงจังภายในครึ่งศตวรรษนี้ หมากเกมนี้จึงร้อนแรงเพราะมหาอำนาจต่างจับจ้องที่จะครอบครองและวางความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ดวงจันทร์จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของเกมอำนาจนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นอาณานิคมและการทำเหมืองแร่ helium-3และทรัพยากรหายากอื่นๆบนดวงจันทร์
โฆษณา