20 ธ.ค. 2019 เวลา 17:35
ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญมาก
ความเข้าใจเรื่องบุญ
บุญ มีความหมายว่าชำระ คือทำให้หมดจด และเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราอย่างมาก มีเรื่องควรทราบเกี่ยวกับการทำบุญ เช่น
การให้สิ่งของ ปัจจัยแก่ผู้ที่เราเลื่อมใส การให้ด้วยความเมตตา การให้ความรู้ การให้อภัย เหล่านี้คือ “ทาน” เป็นประเภทหนึ่งของบุญ การทำบุญมีสิบอย่าง .. ทาน ศีล ภาวนา การเป็นผู้นอบน้อม ขวนขวายในกิจที่ควรทำ ให้บุญที่เราทำกับคนอื่น อนุโมทนายินดีในบุญที่คนอื่นทำ การฟังธรรม การแสดงธรรม รวมทั้งการทำความเห็นให้ถูกต้อง เหล่านี้ทำแล้วคือบุญ
วันนี้เรามาโฟกัสที่ ทาน : ทาน เป็นการขจัดโลภะกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรว่า บุคคลควรนำทรัพย์ออกด้วยการให้ทาน ทานวัตถุมงคลที่ให้นั้นย่อมมีสุขเป็นผล ...
พวกเราให้ทานกันบ่อย เพราะเป็นบุญที่ทำได้ง่าย แต่ทานที่ดี ส่งผลที่ดี ต้องมาจากองค์ประกอบที่ดี ประกอบด้วย ผู้ให้ (เรา) > วัตถุทาน > ผู้รับ ดังนี้
🌳 ผู้ให้ต้องมีศีล และให้ด้วยจิตที่เมตตา ซึ่งเรื่องศีลนี่ก็เล่ากันได้อีกยาว เอาแค่ศีล5 นี่ก็ยากมาก เช่น เราให้ทานเพราะหวังในผลว่าทำแล้วเราจะร่ำรวย ถือว่าไม่ได้ทำบุญด้วยจิตบริสุทธิ์ แอบเจ้าเล่ห์ แบบนี้บกพร่องในศีลข้อ 2 เป็นต้น
🌳 วัตถุทานที่จะให้ก็ต้องได้มาโดยชอบ การให้มากให้น้อยส่งผลต่างกันหรือไม่ อันนี้ขึ้นกับว่าเราได้ตั้งใจใช้ความประณีตกับทานนี้แค่ไหน ตัวอย่างเช่นเศรษฐีควักเงินใส่ตู้รับบริจาคหนึ่งพันบาท ซึ่งเป็นเพียงเศษเงินของท่าน โดยไม่ได้คิดอะไรมากไม่สนใจว่าเงินนี้จะก่อประโยชน์อะไรกับใคร เห็นตู้ก็ใส่ ใส่เยอะหน่อยโชว์พาว กับอีกคนบรรจงตื่นแต่เช้าหุงข้าว เก็บอาหารชั้นเลิศของบ้านตน จัดสำรับอย่างประณีตเพื่อนำไปถวายพระด้วยจิตเลื่อมใส แบบนี้คนหลังน่าจะได้บุญมากกว่า
🌳 ผู้รับ จะเป็นเนื้อนาบุญ ให้ข้าวสัตว์กับให้ข้าวพระอรหันต์ บุญนั้นแตกต่างกัน พระอรหันต์ย่อมไม่ใช้สิ่งที่เราให้เพื่อปรนเปรอกิเลสตนเอง แต่เป็นไปเพื่อส่งเสริมธรรมให้ขยายกว้างขวางขึ้น ..... แต่ไม่ว่าเนื้อนาบุญจะเป็นใคร การให้ทานด้วยจิตที่หมดจดก็เกิดบุญทั้งนั้น
🌼… เอ๊ะ… แล้วบุญเกิดตอนไหน?🌼
บุญเกิดขึ้น 3 วาระ 🌼วาระแรกเมื่อเราตั้งใจทำบุญถือว่ามีจิตที่จะขจัดกิเลสแล้ว แม้แต่แค่คิดก็ได้บุญแล้ว 🌼วาระที่สองคือขณะให้ เกิดความปีติยินดีที่ได้ให้ก็เกิดบุญ 🌼วาระที่สามคือหลังการให้แล้วนึกถึงบุญที่เคยทำไว้ ไม่ว่านึกถึงกี่ครั้งก็เกิดบุญทุกครั้ง ..…ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้จึงควรหาโอกาสทำบุญด้วยตนเองกับที่ๆเราเลื่อมใสศรัทธาหรือมีจิตผูกพัน จะได้บุญครบทั้งสามวาระ. (การฝากเงินใส่ซองไปหรือยกภัตตาหารทูนศีรษะแล้วฝากคนอื่นไปตักบาตรให้ อาจไม่ถึงบุญในวาระที่ 2-3 )
หลังจากได้บุญแล้ว next step ▶️ เราสามารถอุทิศบุญนั้นให้คนอื่นได้ด้วย (จำได้มั๊ยคะ การให้บุญของเราแก่คนอื่นนี้เป็นหนึ่งในสิบของบุญกริยาด้วย) และไม่ต้องกลัวว่าบุญเราจะหมด เหมือนการจุดเทียน เทียนเราสว่างแล้ว สามารถจุดต่อเทียนเล่มอื่นๆ ได้โดยที่เทียนเราก็ยังคงสว่างเหมือนเดิม ...
💮 การอุทิศบุญ ให้ตั้งจิตให้แน่วแน่บอกไปว่าบุญที่เราทำครั้งนี้ขอให้กับใครก็ว่าไป จะกล่าวเป็นภาษาบาลี ภาษาไทย หรือภาษาใจได้ทั้งหมด หัวใจคือใจต้องแน่วแน่ ไม่วอกแวก พระบอกว่าถ้าผู้ที่เราระบุรับทราบอนุโมทนาก็เป็นอันถึง แต่ถ้าเขาไม่รู้ไม่ได้มาโมทนาก็ไม่ได้รับบุญองเรา
💦 ขั้นตอนนี้บางคนกรวดน้ำด้วย ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้กรวดน้ำ เพียงแต่บอกพระเจ้าพิมพิสารว่าพระองค์ทำบุญโดยถวายเวฬุวันให้เป็นที่ประทับแก่พระพุทธเจ้าแล้ว แต่ท่านไม่ได้อุทิศบุญนี้ให้กับบรรดาญาติที่เป็นเปรต จึงได้ฝันว่ามีเปรตมาขอส่วนบุญ หลังจากฟังพระพุทธเจ้า พระเจ้าพิมพิสารจึงได้ถวายจีวรและอาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ใหม่ในวันรุ่งขึ้น แล้วกรวดน้ำ (อุททิโสทก) พร้อมกล่าว อิทังโณ ญาตินัง โหตุ …คืนนั้นพวกเปรตมาอีกครั้ง คราวนี้มาโมทนารับส่วนบุญ จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้กรวดน้ำ แต่พระเจ้าพิมพิสารทำตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการกรวดน้ำก็อาจนำมาใช้เป็นกุศโลบายช่วยให้จิตเราแน่วแน่ มีสมาธิจิตตั้งมั่นได้ง่ายขึ้น และตอนที่เอาน้ำไปเทจะได้มีแผ่นดินเป็นพยานบุญ (เผื่อตอนโน้นยมบาลท่านไม่เชื่อ 555) ก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าให้พระแม่ธรณีเป็นพยานในครั้งถูกมารผจญก่อนตรัสรู้ 💦 แต่ที่จะบอกคือถ้าไม่สะดวกกรวดน้ำก็ไม่ต้องกังวลอะไร ให้ใจแน่วแน่เป็นพอ …
❤ ขอบคุณที่คุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ขอเชิญร่วมเดินทางไปด้วยกัน และโปรดแสดงตัวเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน บนพื้นที่เล็กๆที่สร้างสรรค์แห่งนี้ ❤
โฆษณา