หลังจากเคร่งเครียดกับเรื่องนี้อยู่หลายวัน เจ้าน้อยก็ตัดสินใจนำมะเมี๊ยะเข้าเฝ้าเจ้าพ่อเจ้าแม่ และสารภาพเรื่องทั้งหมดให้ทราบว่า มะเมี๊ยะเป็นหญิงคนรักที่ไม่อาจทอดทิ้งกันได้ เจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีก็ไม่ได้ว่ากล่าวให้ลูกชายเสียใจ แต่ก็มีท่าทีว่าไม่ยอมรับมะเมี๊ยะเป็นลูกสะใภ้
ส่วนเจ้าหญิงบัวนวล คู่หมั้นของเจ้าน้อย ซึ่งเป็นหญิงเก่งทางด้านขี่ม้า และช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัวเจ้าแก้วนวรัฐอยู่ในขณะนั้น เมื่อรู้ว่าเจ้าน้อยพาเมียมาจากมะละแหม่งแล้ว ก็ขอถอนหมั้นเปิดทางให้เจ้าน้อย ไม่เข้าร่วมเป็นปัญหาด้วย
แม้เรื่องของเจ้าน้อยกับมะเมี๊ยะจะเป็นเรื่องห้ามพูด แต่ก็กระซิบกันจนรู้ไปทั่วว่า เจ้าน้อยศุขเกษม ซึ่งคาดว่าจะเป็นเจ้าหลวงในอนาคต ได้พาสาวพม่าแม่ค้าจากเมืองมะละแหม่งมาเป็นเมียเสียแล้ว เรื่องนี้ยังได้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าอินทวโลรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และด้วยความวิตกเป็นอย่างมาก จึงได้เรียกเจ้าแก้วนวรัฐพร้อมด้วยเจ้านายในราชวงศ์เชียงใหม่ไปปรึกษา เห็นว่ามะเมี๊ยะเป็นคนในบังคับอังกฤษ ซึ่งกำลังมีปัญหากับสยามในเรื่องดินแดน โดยเฉพาะดินแดนที่อุดมไปด้วยป่าไม้สักเช่นเชียงใหม่ที่อังกฤษต้องการ เมื่อคนในบังคับของตนมาเป็นสะใภ้ของเจ้าอุปราช กงสุลอังกฤษอาจจะถือโอกาสเข้าแทรกแซง อีกทั้งทางกรุงเทพฯคงจะยอมไม่ได้ในเรื่องนี้ พระราชชายา เจ้าดารารัศมีอาจจะเรียกตัวเจ้าน้อยลงไปอยู่กรุงเทพฯก็ได้ จึงควรจะจัดการเสียก่อนที่เรื่องจะขยายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นความกันขึ้นมา อังกฤษจะยื่นมือเข้ามาทันที
ด้วยเหตุนี้ เจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีจึงเรียกเจ้าน้อยไปพบ อธิบายให้ฟังถึงปัญหาที่จะตามมาจากเรื่องของมะเมี๊ยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับกันไม่ไหวทั้งนั้น แม้เจ้าน้อยจะตัดใจจากมะเมี๊ยะไม่ได้ แต่ก็จำนนต่อเหตุผลที่จะโต้แย้งได้
จากนั้นเจ้าน้อยก็ถูกนำตัวไปเข้าพิธีทางไสยศาสตร์ มีพระภิกษุมาปัดเป่าขับไล่ผีสางและมนตร์ดำที่ทำให้เจ้าน้อยลุ่มหลงในความรัก ขณะเดียวกันที่คุ้มของเจ้าน้อย ก็มีชาวพม่าชายหญิง ๓-๔ คนไปเกลี้ยกล่อมมะเมี๊ยะ ให้เห็นแก่ความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าน้อยและเจ้าพ่อเจ้าแม่ รวมทั้งบ้านเมืองเชียงใหม่ และหากเจ้าน้อยถูกเรียกตัวไปอยู่กรุงเทพฯ มะเมี๊ยะก็อาจจะมีอันตรายได้ ขอให้กลับไปรอเจ้าน้อยที่เมืองมะละแหม่ง เมื่อปัญหาทางนี้คลี่คลายแล้ว เจ้าน้อยก็จะจัดการแก้ไขปัญหาเอง
คืนนั้นจึงเป็นคืนเศร้าของเจ้าน้อยและมะเมี๊ยะ ที่ตัดสินใจจะพรากจากกันชั่วระยะหนึ่ง ทั้งคู่ต่างยืนยันที่จะซื่อสัตย์ต่อคำสาบานร่วมกัน ณ วัดไจ้ตะหลั่น
ในเช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน ๒๔๔๖ ประชาชนชาวเวียงพิงค์ต่างหลั่งไหลไปที่ประตูหายยา เมื่อได้ทราบว่ามีขบวนช้างมารับมะเมี๊ยะเพื่อไปส่งเมืองมะละแหม่ง ทุกคนต่างชะเง้อรอดูการมาของมะเมี๊ยะที่ร่ำลือกันถึงความงาม ต่างเห็นใจและสงสารที่เธอยอมเสียสละพรากจากสวามีอันเป็นสุดที่รัก
มะเมี๊ยะในชุดแต่งกายของสาวพม่า ไม่ได้อยู่ในชุดผู้ชายเหมือนตอนมา ได้ปรากฏตัวเคียงข้างเจ้าน้อยศุขเกษมต่อฝูงชน ทั้งคู่ต่างไม่ปิดบังความหมองเศร้าที่มีน้ำตาอาบแก้ม และอาลัยอาวรณ์ไม่ยอมจากกันง่ายๆ จนท้าวบุญสูงผู้คุมขบวนไปส่งต้องเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า มะเมี๊ยะคุกเข่าลงสยายผมที่เกล้าไว้ออกเช็ดเท้าสามี แสดงความรักอาลัยครั้งสุดท้ายก่อนจะหักใจขึ้นช้างไป
เมื่อกลับไปถึงมะละแหม่ง มะเมี๊ยะได้มอบเงินที่เจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีประทานให้เธอแก่พ่อแม่ แล้วเฝ้ารอเจ้าน้อยที่จะมาหาตามสัญญา จนเวลาผ่านไป ๓ เดือนกว่าก็ยังไม่มีวี่แววของสามี มะเมี๊ยะจึงบวชเป็นชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ระหว่างรอคอย ส่วนเจ้าน้อยถูกเจ้าดารารัศมีเรียกตัวลงไปรับราชการที่กรุงเทพฯ ได้รับยศเป็นนายร้อยตรีเจ้าอุตรการโกศล และได้แต่งงานกับเจ้าหญิงบัวชุม สาวในตำหนักของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีนั่นเอง