Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หยุดเผยแพร่
•
ติดตาม
22 ธ.ค. 2019 เวลา 09:08 • การศึกษา
💸💸 ฟรีแลนซ์อย่าพลาด! ควรทำสัญญาไว้
การที่ฟรีแลนซ์จะเลือกรับทำงานจากผู้ว่าจ้าง นอกจากจะต้องสอบถามรายละเอียดงานจากผู้ว่าจ้างให้ชัดเจนแล้ว เพื่อให้ผลงานตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้างมากที่สุด และง่ายต่อการทำงานของฟรีแลนซ์แล้ว
#การเซ็นสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างและฟรีแลนซ์
เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ หากฟรีแลนซ์ลืมในจุดนี้ ทำให้หลายครั้งที่ทำงานเสร็จแล้วผู้ว่าจ้างปฏิเสธรับผลงาน ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับค่าจ้างแล้ว ยังเสียโอกาสที่จะได้รับทำงานอื่นอีกด้วย ในส่วนของผู้ว่าจ้าง
การเซ็นสัญญากับฟรีแลนซ์ เป็นการการันตีว่าฟรีแลนซ์จะทำงานจนสำเร็จและไม่ทิ้งงานกลางคันนั่นเอง
โดยก่อนที่จะรับทำงานให้กับผู้ว่าจ้างฟรีแลนซ์ควรที่จะเซ็นต์สัญญาจ้างกันให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้เป็นหลักฐานหากมีการผิดสัญญากันขึ้น
การรับงานของฟรีแลนซ์จะเป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของ
#ลักษณะของสัญญาจ้างทำของ
“สัญญาจ้างทำของ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
#มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้างตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
หมายความว่า สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจ้าง” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ซึ่งทางฝ่ายผู้รับจ้างตกลงจะทำงานใดงานหนึ่งจนสำเร็จเพื่อแลกกับ "สินจ้าง" ส่วนผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของผู้รับจ้าง
“สัญญาจ้างทำของ เป็นสัญญาต่างตอบแทน” หมายความว่ามีการแลกเปลี่ยนซึ่งผลประโยชน์ระหว่างคู่สัญญา โดยลูกจ้างและผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องทำการงานให้ ส่วนนายจ้างและผู้ว่าจ้าง มีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างเป็นการตอบแทนการงานที่ได้รับ
สัญญาจ้างทำของ มุ่งเน้นผลสำเร็จของงานที่ผู้ว่าจ้าง จ้างวาน ให้ผู้รับจ้างกระทำขึ้นจนสำเร็จ กล่าวคือ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจในการบงการการทำงาน จะเริ่มงานเมื่อไร จะทำงานอย่างไรก็เป็นอิสระของผู้รับจ้าง จะด้วยวิธีใดก็ตามแต่เพื่อให้ได้ผลงานสำเร็จแล้วไปส่งผู้ว่าจ้าง เพื่อแลกกับค่าตอบแทน
ดังนั้น ลักษณะของการทำงานฟรีแลนซ์ เป็นการทำงานภายใต้สัญญาจ้างทำของ เนื่องจากลักษณะการจ้างทำงานของฟรีแลนซ์นั้นมุ่งหวังที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ รวมถึงความเป็นอิสระในการทำงาน จะเริ่มงานเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจใจการบังคับสั่งการ เมื่อทำงานสำเร็จจึงส่งมอบให้ผู้ว่าจ้าง และได้เงินค่าจ้างเป็นสิ่งตอบแทน
การใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าจ้าง(สินจ้าง)ตามสัญญาจ้างทำของ มีอายุความ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้
#ควรระลึกไว้เสมอว่า ก่อนเริ่มงานทุกครั้งจะต้องมีการเซ็นสัญญากันก่อน เพื่อเป็นการยืนยันว่าฟรีแลนซ์จะทำงานจนสำเร็จลุล่วงและทำการส่งงานให้กับผู้ว่าจ้างได้ และผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินค่าจ้างให้กับฟรีแลนซ์เมื่องานเสร็จสิ้นในที่สุด แม้ว่าตามกฎหมายแล้วสัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบก็ตาม (เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ) แต่แอดมิน ขอแนะนำให้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะมีความรัดกุมมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติ การมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจะทำให้แต่ละฝ่ายมีหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่ามีการจ้างทำของเกิดขึ้นจริง หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดผิดสัญญา ก็จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ง่ายกว่าการไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง
#คำพิพากษาฎีกาที่ 1852/2558 โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้าง เนื่องจากไม่ตั้งเสาหลังบ้านให้แล้วเสร็จ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่การที่โจทก์มีหนังสือ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการทวงถามให้ชำระค่าจ้างและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย และจำเลยก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ และไม่ยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป ตามพฤติการณ์ถือว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการที่สัญญาเลิกกัน แต่เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 และเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์จำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์ทำงานให้จำเลยแล้วเสร็จไปบางส่วน ไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ จึงต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องจ่ายค่าแห่งการงานของโจทก์นั้น
#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557 สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน
#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2555 จำเลยจ้างโจทก์ขับรถขนส่งสินค้าโดยโจทก์ต้องมีรถบรรทุกสินค้าของตัวเอง จำเลยจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะวันที่ปฏิบัติงานส่งสินค้าให้จำเลยเท่านั้น จึงบ่งบอกว่าจำเลยมุ่งผลสำเร็จของงานให้มีการขนสินค้าไปให้ลูกค้าตามช่วงเวลานั้นจนเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ อีกทั้งโจทก์จะมาทำงานวันใดก็ได้ตามความสมัครใจ ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยหากฝ่าฝืนจำเลยมีสิทธิลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ
⚖️ J.S.Law Office.
ทนายสุภาวดี(จุ๊ฟ)
โทร061-2708044.
เพิ่มเพื่อน LINE กด 👉
https://lin.ee/fSUqEVp
"กฎหมายใกล้ตัวรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม"
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย