22 ธ.ค. 2019 เวลา 15:05 • การเกษตร
อาชีพนักวิจัยด้านเกษตร - การทำเกษตรบนพื้นฐานความเป็นนักวิทยาศาสตร์
ช่วงนี้ต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่ห่างหายจากการเขียนบทความ
จะพยายามจัดสรรเวลาให้ดีขึ้น เพราะต้องการแชร์ความรู้ทางด้านเกษตร ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว นำไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเป็นสากล
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปมีประมาณ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1. โจทย์ หรือ ปัญหา ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษคือ problem แน่นอนว่า มักจะเป็นปัญหาทางการเกษตร ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือ วิธีการที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ
การให้ได้มาซึ่งโจทย์หรือปัญหา หากเป็นคนที่ทำงานในแวดวงวิจัย นักวิจัยมักจะมองหาโจทย์จากแหล่งทุนต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีกรอบหัวข้อวิจัยและรายละเอียดอยู่แล้ว
นักวิจัยที่ต้องการทุนวิจัยมาสนับสนุนการดำเนินงานวิจัย จำเป็นต้องยื่นโครงร่างงานวิจัยเสนอต่อแหล่งทุน
แน่นอนว่า โครงการวิจัยที่ได้รับการอนุมัติและสนับสนุนทุนนั้นก็ต้องผ่านกรรมการผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ
2. สมมุติฐาน ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษคือ hypothesis จากปัญหาในข้อ 1 เราในฐานะนักวิทยาศาสตร์เกษตร ขอเรียกย่อๆ ว่านักวิจัยต้องคิดหรือตั้งคำถามที่คำตอบนั้นจะช่วยแก้ปัญหาที่มีนั้นได้
ในการที่จะตั้งคำถาม นักวิจัยต้องสืบค้นดูงานที่มีมาก่อนหน้าย้อนกลับไปว่า ปัญหาที่ว่านั้นน่าจะเกิดจากอะไรได้บ้าง และมีใครทำอะไร ใช้วิธีไหน มาแล้วบ้าง
และบ้างที่ว่านี้ แนวทางไหนที่น่าจะมีความเป็นไปได้และน่าเชื่อถือได้มากที่สุด
เพื่อที่ว่า จะไม่ได้หลงทาง ทำงานวิจัยหรือทำการทดลองในสิ่งที่ไม่ใช่คำตอบของปัญหาหรือโจทย์ที่อยากจะแก้ไขหรือทำให้ได้อะไรใหม่ๆ ออกมาและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
ขั้นตอนนี้แทบจะเรียกได้ว่าสำคัญมาก เพราะหากเราตั้งสมมติฐานผิด เราหลงทางทำให้เสียเวลา เพราะเกาไม่ถูกที่คันนั่นเอง
ในขั้นตอนนี้จะทำให้เราได้วัตถุประสงค์ (objective) ของงานวิจัยที่จะทำ
3. ระเบียบและวิธีวิจัย หรือ methodology ในขั้นตอนนี้เป็นการพิสูจน์สมมติฐานที่เราได้ตั้งไว้นั่นเอง
ระเบียบวิธีวิจัย ขึ้นอยู่กับ คำตอบที่ต้องการว่ากว้างๆ หรือลึกอย่างเฉพาะเจาะจง
อาจจะได้คำตอบแบบจับต้องได้ เช่น สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย
หรืออาจจะลึกมากและจำเป็นต้องใช้การศึกษาวิจัยในขั้นสูง เช่น การตัดต่อทางพันธุกรรมเพื่อสร้างพืชพันธุ์ใหม่ๆ หรือต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช เป็นต้น
ซึ่งนักวิจัยก็ต้องทำทุกอย่างเป็นเหมือนเป็นเกษตรกรคนหนึ่ง เช่น ปลูกพืชที่ศึกษาเอง การดูแลรักษา การให้ทรีทเมนต์ (treatment) ที่ใช้ทดสอบ เป็นต้น
4. ผลการทดลอง หรือ results หลังจากทำการทดลองแล้ว สิ่งที่นักวิจัยจะได้มาคือผลซึ่งมักออกมาเป็นข้อมูลตัวเลขต่างๆ
ข้อมูลดังกล่าว เรียกว่าข้อมูลดิบ หรือ raw data ซึ่งจำเป็นที่จะต้องนำไปวิเคราะห์ทางสถิติ (statistic analysis)
จากนั้นนักวิจัยจะต้องแปลผล (interpretation) โดยเชื่อมโยงกับสมมุติฐาน วัตถุประสงค์ และงานวิจัยในอดีตว่าเป็นอย่างไร
ขั้นตอนนี้ถือเป็นการวิจารณ์ (discussion) อย่างเป็นเหตุเป็นผล พร้อมกับการที่จะต้องอ้างอิงงานอื่นๆ ที่เรานำมาใช้ในการวิจารณ์
5. สรุป หรือ conclusion ส่วนใหญ่มักจะเป็นการสรุปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ว่าเป็นไปตามสมมติฐานหรือไม่
และบางครั้ง อาจมีข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในอนาคตด้วย
6. การเผยแพร่ ซึ่งมักจะเป็นการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (publication) ทั้งในระดับชาติหรือนานาชาติ
การเผยแพร่อีกลักษณะหนึ่งที่ค่อนข้างจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรงคือการบริการวิชาการ ออกส่งเสริม ให้ความรู้ ถ่ายทอดให้กับเกษตรกร
โดยส่วนใหญ่ หน้าที่นี้ นักวิจัยอาจไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง
อาชีพนักวิจัยทางด้านการเกษตร จำเป็นต้องอาศัยความรู้ที่อยู่บนพื้นฐานของการเป็นนักวิทยาศาสตร์
ปัญหาการเกษตรของประเทศไทยยังมีอีกมาก แน่นอนว่าเราก็ต้องการนักวิจัยทางเกษตรอีกมาก
แต่ที่น่าเสียดายคือไทยเรามีสัดส่วนของนักวิจัยทางเกษตรกับงานที่ต้องแก้ปัญหาอยู่น้อยมาก...
สำหรับบทความตอนนี้ ขอจบแบบปลายเปิดค่ะ 🙂
🙏เรียนเกษตรแล้วได้ดี 22 ธันวาคม 2562
โฆษณา