24 ธ.ค. 2019 เวลา 01:48 • ธุรกิจ
^^^ ลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับมือใหม่ ^^^
ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้วิธีการขายสิทธิ์ดำเนินงานหรือเครื่องหมายการค้าให้กับผู้ที่สนใจ สำหรับผู้ที่ขายสิทธิ์นี้หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า (แบรนด์) เรียกว่า Franchisor และผู้ได้รับสิทธิ์หรือตัวเรา เรียกว่า Franchisee โดยที่ผู้รับสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อแลกกับการได้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ
^^^ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากแฟรนไชส์ ^^^
1. การเรียนรู้กระบวนการทำธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้า ผู้รับสิทธิ์จะได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับธุรกิจนั้น ๆ เช่น การทำอาหารและเครื่องดื่ม การบริหารจัดการร้านค้า หรือความรู้ความเข้าใจด้านบัญชี เป็นต้น
2. สิทธิ์ในการขายสินค้าและบริการที่ตกลงกัน เช่น สิทธิ์การขายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของแฟรนไชส์
3. การสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมพนักงาน หรือทำบัญชี เป็นต้น
^^^ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องจ่าย ^^^
1. ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) ซึ่งอาจเปรียบได้กับค่าธรรมเนียมแรกเข้า เพื่อแลกกับเครื่องหมายการค้า ความรู้ เทคนิคการบริหารธุรกิจจากผู้ขายแฟรนไชส์
2. ค่าธรรมเนียมสิทธิ์ (Royalty Fee) เป็นค่าตอบแทนที่คิดเป็นสัดส่วนต่อเดือนหรือต่อปี เช่น คิดจากยอดสั่งซื้อ ยอดขาย หรือผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ แต่ละแฟรนไชส์อาจมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ต้องตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆให้ครบถ้วน
^^^ ธุรกิจแฟรนไชส์ เหมาะกับใคร ^^^
1. ขาดไอเดีย มีธุรกิจจำนวนมากที่ขายสิทธิ์ให้กับผู้ที่สนใจ เช่น ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ดังนั้น หากยังไม่แน่ใจ อาจจะเริ่มต้นด้วยการมองหาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จปัจจุบัน
2. ขาดประสบการณ์ กว่าที่เจ้าของธุรกิจต่าง ๆ นั้นจะเปิดสิทธิ์ให้ผู้ที่สนใจ จะต้องดำเนินธุรกิจมาจนประสบความสำเร็จหรือเป็นที่รู้จักก่อน การซื้อแฟรนไชส์จึงเปรียบเสมือนการถ่ายโอนประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาสู่ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจ
3. ขาดเงินทุน ปัจจุบันสถาบันการเงินมักมีสินเชื่อรองรับสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่มีเงินจำกัดจึงสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่ยาก โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน
^^^ แนวทางการเลือกแฟรนไชส์ ^^^
1. เลือกจากความชอบ ถึงแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์มีระบบการดำเนินงานที่ดี ช่วยประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก แต่ผู้ลงทุนก็จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาให้กับการดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบแฟรนไชส์ซึ่งเปรียบเสมือนธุรกิจตนเอง ดังนั้น ผู้ซื้อจึงจำเป็นต้องมีความชื่นชอบและสนใจในตัวธุรกิจนั้น ๆ
2. เลือกจากเทรนด์ ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเลือกธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นในอนาคต ย่อมช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยอาจมองหาจากแฟรนไชส์ที่เป็นที่นิยมของลูกค้าอย่างต่อเนื่องก็ได้
3. เลือกจากงบประมาณ โดยแบ่งตามมูลค่าเงินลงทุนที่กำหนดไว้
^^^ สุดท้าย เช็คให้ชัวร์ก่อนตัดสินใจ ^^^
หลังจากที่เลือกประเภทธุรกิจที่สนใจแล้ว ผู้ลงทุนจำเป็นต้องสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขและใช้เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกแฟรนไชส์ เช่น
1. ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ เพราะหากเจ้าของสิทธิ์มีประสบการณ์และมีความชำนาญ ย่อมช่วยถ่ายทอดความรู้และเพิ่มโอกาสให้แฟรนไซส์ซีนั้นประสบความสำเร็จตามไปด้วย
2. ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทำการสอบถามรายละเอียดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บครั้งแรก สัดส่วนการแบ่งผลตอบแทน เป็นต้น
3. เงื่อนไขการดำเนินงานต้องชัดเจน การตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการขายผลิตภัณฑ์และบริการ การสั่งซื้อวัตถุดิบ ระยะเวลาของสัญญา เป็นต้น
4. การสนับสนุนต่าง ๆ โดยเฉพาะแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่มีระบบการดำเนินงานซับซ้อน การเริ่มต้นธุรกิจในช่วงต้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะที่จำเป็น ตลอดจนการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังดำเนินธุรกิจ หรือในบางครั้งเจ้าของแฟรนไชส์อาจช่วยสนับสนุนการหาทำเลที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์นั้นประสบความสำเร็จ
นอกจากการศึกษารายละเอียดดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงรายละเอียดกระบวนการจัดการร้านค้า หรือหาโอกาสทดลองซื้อสินค้าและบริการของแฟรนไชส์ที่สนใจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
โฆษณา