29 ธ.ค. 2019 เวลา 00:07 • ไลฟ์สไตล์
กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้าธุรกิจของประเทศไทย พื้นที่ในเมืองจึงเต็มไปด้วยตึกสูงอาคารเสียดฟ้า ที่มาในรูปของออฟฟิศ ห้าง ร้าน คอนโด แต่ในย่านกลางเมืองแห่งนี้ ก็ยังมีฟาร์มเพาะปลูกออร์แกนิคแฝงตัวอยู่ แถมยังเพาะเลี้ยงต้นกล้าต่างๆ เจริญงอกงามมาแล้วกว่า 22 ปี ด้วยกัน ฟาร์มนี้มีชื่อว่า “ฟาร์มบางหว้าเมล่อน”
ผมรู้จักฟาร์มบางหว้าเมล่อนมาจากการที่ฟาร์มแห่งนี้ติดอันดับสถานที่น่าเที่ยวย่านเมืองกรุง
ผมจึงหาเวลาแวะมาเยี่ยมชมฟาร์มแห่งนี้
ผมเดินทางมาฟาร์มแห่งนี้โดยนั่ง BTS มาลงสถานีบางหว้า จากสถานีเดินเลยออกไปอีก กิโลเมตรกว่าๆ ก็มาถึงฟาร์มบางหว้าเมล่อน
บางหว้า เมล่อน ฟาร์ม ฟาร์มปลูกเมล่อนแบบไฮโดรโปนิกส์ย่านเมืองกรุง
หน้าฟาร์มมีซุ้มขายเมล่อน ผัก และผลผลิตต่างๆ ที่ได้จากฟาร์ม คุณอาเจ้าของฟาร์มท่าทางใจดียิ้มแย้มต้อนรับ ผมสวัสดีทักทายตอบพร้อมบอกว่าอยากมาเยี่ยมชมฟาร์ม แกตอบยินดีพร้อมพาผมเดินเที่ยวชมฟาร์มด้านใน
เรือนปลูกเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น
อาโหน่งก่อนจะมาทำฟาร์มนั้น เมื่อก่อนแกเป็นวิศวกรบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย แต่ด้วยความเบื่อหน่ายกับชื่นชอบงานการเกษตรเป็นทุนเดิม จึงลาออกจากงานมาทำฟาร์มปลูกเมล่อน และพืชผักต่างๆ แทน แรกเริ่มแกต้องอาศัยความพยายามอยากมากเพราะต้องเริ่มใหม่หมด ต้องไปศึกษาวิธีการปลูก วิธีการดูแล ศึกษาเรื่องการทำปุ๋ย การทำออร์แกนิค วิธีป้องการศัตรูพืช ศึกษาเรื่องเมล็ดพันธ์ุ รวมไปถึงต้องหาแหล่งเมล็ดพันธ์ุอย่างดีเพื่อนำมาใช้ปลูกอีกด้วย
คุณโหน่งเจ้าของฟาร์มกำลังอธิบายเรื่องราวของฟาร์ม
ซึ่งแกต้องลองผิดลองถูกใช้เวลาอยู่นานถึงจะรู้สูตร รู้วิธีการเพราะเลี้ยงเมล่อน
ผมสงสัยว่าทำไมแกถึงปลูกเมล่อนพันธุ์ญี่ปุ่น
เพราะมันเลี้ยงยากมาก มันไม่ทนโรค ไม่ทนแมลง ไม่ทนแดด ไม่ทนฝนและไม่ทนต่ออากาศร้อนจัดหนาวจัด ซึ่งมันมีความเสี่ยงอย่างมากหากมาปลูกในไทย แกก็ตอบว่าแกเคยทดลองปลูกพันธ์ุไทยแล้วรสชาติสู้พันธ์ุของญี่ปุ่นไม่ได้ ของพันธ์ุญี่ปุ่นจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติ หวานฉ่ำซึ่งหาไม่ได้ในพันธ์ุพื้นเมืองไทย แกจึงเลือกปลูกพันธ์ุญี่ปุ่นแล้วเพิ่มความพิถีพิถันความใส่ใจให้มากขึ้นก็สามารถเลี้ยงดูพันธ์ุนี้ได้
เรียกได้ว่าแกยอมเหนื่อยมากขึ้น
เพื่อให้ได้ผลอร่อยมากขึ้นนั้นเอง
เมล่อนหนึ่งต้นจะคัดให้มีผลเพียงแค่ลูกเดียวเท่านั้น เพื่อให้ผลเมล่อนลูกนั้นได้รับสารอาหารเต็มที่ไม่ต้องแย่งกัน โดยจะมีเชือกผูกห้อยช่วยรับน้ำหนักึ
แล้วแกก็พาผมเข้าไปดูต้นเมล่อนในโรงเรือน
อย่างที่บอกแกต้องใส่ใจดูแลการเลี้ยงดูต้นเมล่อนเป็นพิเศษ แกจึงทำโรงเรือนคลุมต้นเมล่อนเอาไว้ โรงเรือนจะเป็นมุ้งขึงคลุมทั้งสี่ด้านไว้กันพวกศัตรูพืช หลังคาโรงเรือนจะเป็นแผ่นพลาสติกปกคลุมเพื่อกันน้ำฝนอันเป็นสาเหตุโรคเชื้อราทางใบและโรครากเน่าโคนเน่า
วิธีนี้จึงทำให้แกไม่ต้องใช้สารเคมีฉีดฆ่าศัตรูพืช ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีกันรากเน่า ผมเห็นท่อน้ำที่ต่อไว้ฉีดต้นแต่ละต้นจะมาจากน้ำที่ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักได้สูตรดีแล้วฉีดลงไป จึงเป็นการเลี้ยงแบบออร์แกนิคอย่างแท้จริง
1
อาโหน่งพาผมไปดูเรือนที่ใช้เพาะเมล็ดพันธ์ุเมล่อน ผมเห็นยอดอ่อนโผล่เหนือดินออกมาขนาดย่อม แกเล่าว่าต้องเพาะต้นที่กระบะตรงนี้ 10 วัน
ต้นที่เหลือรอดถึงจะนำเข้าไปอีกเรือนซึ่งเป็นเรือนเพาะต้นกล้า ภายในเรือนนั้นต้นกล้าต้องใช้เวลาอยู่อีก 10 วัน ถึงจะได้ลำต้นที่กล้าแข็ง จากนั้นถึงจะนำไปไว้ในเรือนปลูกเมล่อนได้
ยอดอ่อนของเมล็ดเมล่อนโผล่เหนือดินออกมาขนาดย่อม ซึ่งจะต้องเพาะต้นที่กระบะตรงนี้ 10 วัน
แล้วแกก็พาผมเข้าเรือนปลูกเมล่อน ภายในเรือนนี้จะมีแต่เมล่อนทั้งหมด โดยแบ่งเป็นสายพันธุ์คิโมจิ กับ อิชิบะ ที่ผลของเมล่อนจะมีเชือกสีขาวแขวนห้อยลงมาผูกกับลำต้นไว้เพื่อช่วยรับน้ำหนักของลูก ซึ่งต้นกล้าที่เพิ่งย้ายมาจากเรือนเพาะกล้าจะต้องถูกเลี้ยงอยู่ในเรือนนี้อีกประมาณ 60 วัน เราถึงจะเก็บผลไปกินได้ อาโหน่งเล่าว่าถ้าจะให้เมล่อนหวานอร่อยสุดๆ จะต้องเป็นผลที่สุกจะต้นแล้วเด็ดมากินเลย ซึ่งที่ฟาร์มนี้หากใครมาในช่วงจังหวะผลสุกพอดีก็สามารถมาเลือกผลเมล่อนแล้วเด็ดมากินด้วยตัวเองได้เลย
เรือนเพาะต้นกล้า ภายในเรือนนี้ต้นกล้าต้องใช้เวลาอยู่อีก 10 วัน ถึงจะได้ลำต้นที่กล้าแข็ง จากรูปทางด้านขวาจะเป็นต้นกล้าของต้นเมล่อนึ
ผมสังเกตว่าทำไมแต่ละต้นถึงมีผลเมล่อนแค่ลูกเดียว พอถามอาแกก็อธิบายว่า แรกเริ่มตอนเอาต้นกล้ามาปลูกจะมีเลี้ยงดอกเอาไว้ต้นละประมาณ 4-5 ผล พอโตขึ้นมาก็จะเลือกเอาผลที่ดีที่สุดไว้ ผลทีเหลือคือเด็ดทิ้งให้หมด เพื่อจะได้ไม่ต้องแย่งสารอาหารกัน ผลที่ได้คือผลเมล่อนลูกเดียวในแต่ละต้นจะได้รับสารอาหารเต็มๆ จากต้น ทำให้เนื้อหวานอร่อยชุ่มฉ่ำ
ต้นกล้าที่ผ่านการดูแลมาแล้ว 20 วัน จะถูกนำมาเลี้ยงไว้ที่โรงเรือน ที่มีมุ้งกันรอบด้านกันศัตรูพืช หลังคามุงพลาสติกกันน้ำฝน ต้นเมล่อนจะถูกเลี้ยงดูในโรงเรือนแห่งนี้จนโตออกผลเลย
1 ต้น เท่ากับ 1 ลูก คิดๆ แล้วมันก็เสี่ยง
หากผลลูกนั้นแห้งเหี่ยวหลุดจากขั้ว หรือล้มตายไป เป็นอันว่าต้นนั้นคือจบ ซึ่งอาโหน่งบอกว่า แกก็มีบ้างที่เลือกผลผิด แล้วแกก็ชี้ไปที่ต้นเมล่อนที่อยู่ด้านข้างของเรือน ผลเมล่อนดูลูกเล็กไม่สมบูรณ์เท่าลูกอื่น สำหรับแกต้นนี้คือลดเกรดเหลือ B เท่านั้น ทำให้ดีขึ้นกว่านี้ไม่ได้แล้ว เมื่อถึงวันที่ต้องเด็ดคงเอาไปแปรรูปทำอย่างอื่นแทน เพราะผลเมล่อนที่แกขายในฟาร์มจะต้องหวานอร่อยได้คุณภาพทุกลูก
เมล่อนหนึ่งต้นจะคัดให้มีผลเพียงแค่ลูกเดียวเท่านั้น เพื่อให้ผลเมล่อนลูกนั้นได้รับสารอาหารเต็มที่ไม่ต้องแย่งกัน โดยจะมีเชือกผูกห้อยช่วยรับน้ำหนัก
เมียอาโหน่งเข้ามาพูดสำทับอีกว่าปกติเมล่อนที่ขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตจะหวานแค่ 13 บิท ของที่ฟาร์มนี้โดยทั่วไปจะหวาน 14-15 บิท ซึ่งเป็นช่วงจังหวะความหวานที่อร่อยที่สุด
ลักษณะเนื้อข้างในของเมล่อน พันธุ์คิโมจิ
ผมได้ยินแล้วก็งงกับคำว่า “บิท” มันคืออะไร อาโหน่งจึงอธิบายว่า “บิท” มันคือหน่วยวัดความหวาน ซึ่งมีค่ามากที่สุดอยู่ที่ 20 บิท ซึ่งมันจะหวานไป กินแล้วจะเลี่ยน ค่าความหวานที่เหมาะสมจึงอยู่ที่ 14-15 บิท ส่วนในซุปเปอร์จะคัดเกรดความหวานห้ามต่ำกว่า 13 บิท ฟังแล้วผมก็เพิ่งจะมารู้ว่าความหวานมีการวัดเป็นหน่วยด้วย
ความรู้ใหม่กันเลยทีเดียว
พูดแล้วผมก็อยากลองชิมเมล่อนของที่นี่ดู
อาโหน่งก็ถามว่าอยากได้พันธ์ุไหน
ถ้าเป็น คิโมจิ เนื้อจะกรอบหวาน
แต่ถ้าเป็น อิชิบะ เนื้อจะนุ่มหวานฉ่ำ
ผมเลือกคิโมจิ เพราะคุ้นเคยกับชื่อเสียงความอร่อยของสายพันธุ์นี้
ผมเลือกลูกที่จะกินให้เมียอาโหน่งนำไปหันให้
ก่อนที่จะหันผมลองถามไปว่าลูกนี้ความหวานน่าจะระดับไหน แกลองจับลูกหมุนดูไปมาแล้วแกก็บอกว่าน่าจะ 14 บิท ว่าแล้วแกก็ไปหยิบเครื่องที่เป็นหลอดแท่งๆ มา แกเห็นผมทำหน้างงๆ จึงอธิบายว่ามันคือเครื่องวัดค่าความหวาน
เครื่องวัดค่าความหวาน วิธีการวัดคือ เมื่อเราหันเมล่อนออกมาแล้ว ให้เอาเนื้อเมล่อนมาบีบถูกับที่ปลายเครื่องให้มีน้ำออกมา
วิธีการวัดคือ เมื่อเราหันเมล่อนออกมาแล้ว
ให้เอาเนื้อเมล่อนมาบีบถูกับที่ปลายเครื่องให้มีน้ำออกมา แล้วที่ตัวเครื่องจะมีรูส่องดูค่าแถบสีน้ำเงินว่ามันขึ้นไปที่ตัวเลขกี่บิท ซึ่งเมียอาโหน่งก็เอาเมล่อนลูกที่ผมเลือกมาหันแล้ววัด ผลที่ได้คือ 14 บิทเป๊ะๆๆ ผมรู้สึกทึ้งในความแม่นยำการกะประมาณการณ์ความหวานพวกเขา
2
ที่ตัวเครื่องจะมีรูส่องดูค่าแถบสีน้ำเงินว่าค่าความหวานมันขึ้นไปที่ตัวเลขกี่บิท
แล้วผมจึงลองชิมเมล่อนลูกนี้ดู
ซึ่งมันกรอบ หอม หวานอร่อย เนื้อชุ่มฉ่ำมาก
ยิ่งกินก็ยิ่งอร่อย เผลอแป๊บเดียวผมก็จัดการกินคนเดียวหมดลูก
เมล่อน คิโมจิ หวานกรอบอร่อยชื่นใจจริงๆ
ก่อนกลับบ้านผมจึงซื้อเมล่อนคิโมจิกลับไปอีก 2 ลูก พร้อมเดินไปเลือกผักสลัดจากกระถางตักเอากลับไปกินที่บ้านต่อ
ผมออกมาจากฟาร์มพร้อมความรู้สึกถึงความมุ่งมั่น
ความทุ่มเท ความพยายามของอาโหน่งที่มีต่อการทำฟาร์มแห่งนี้รวมไปถึงการทุ่มทุกอย่างลงไปที่ต้นเมล่อน 1 ต้น ต่อเมล่อน 1 ลูก เพื่อให้ได้ลูกเมล่อนออกมาดีที่สุด
เรือนปลูกผักพันธุ์ต่างๆ ก็ใช้วิธีเลี้ยงแบบไฮโดรโปนิกส์เช่นกัน
ผักพันธุ์ บัตเตอร์เฮด และ กรีนโอ๊ค กำลังเบ่งบานเขียวขจี
คิดแล้วๆ ก็อาจจะเหมือนกับเวลาเราทำงาน
บางครั้งเราทำงานหลายสิ่ง หลายอย่างพร้อมกัน
ทำให้ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้ซักอย่าง ถึงเราจะทำได้หลายอย่าง แต่ผลลัพธ์อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด
กลับกันหากเราเอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทโฟกัสในสิ่งที่เราชอบอย่างเดียว มันก็อาจทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ออกมาได้
เรือนเพาะปลูกต้นกล้าผักสลัดต่างๆ
“All for One, One for All”
หากชื่นชอบบทความ
ฝากกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์
เพื่อเป็นกำลังใจด้วยครับ
ปั่นเรื่อง เป็นภาพ
โฆษณา