31 ธ.ค. 2019 เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
10 เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในปี 2019
เทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของเทคโนโลยีที่มีการวิจัยและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น และในปี 2019 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ก็ได้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีกมากมาย วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ 10 เทคโนโลยีเหล่านี้กันครับ
1. เครื่องพ่นยาอัจฉริยะ (Smart inhalers)
Smart inhalers
เครื่องพ่นยาถือเป็นอุปกรณ์หลักในการใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โดยมีการใช้งานในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดถึง 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่จากงานวิจัยกลับพบว่ามีผู้ป่วยกว่า 94% ที่ไม่สามารถใช้เครื่องพ่นยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อที่จะช่วยผู้ป่วยโรคหอบหืดให้สามารถใช้เครื่องพ่นยาได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีการคิดค้น Bluetooth-enabled smart inhalers ขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ติดกับเครื่องพ่นยา ซึ่งจะบันทึกช่วงเวลาและปริมาณของยาที่จะต้องพ่นในแต่ละวัน แล้วส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยัง smart phone ของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ลืมพ่นยา และบรรเทาอาการของโรคหอบหืดลงนั่นเอง
2. หุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic surgery)
Robotic surgery
การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์จะช่วยให้สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งลดความรุนแรงของบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด หรือก็คือมีแผลน้อยกว่าการผ่าตัดโดยทั่วไป และการผ่าตัดในรูปแบบนี้ จะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดในเคสที่ผ่าตัดได้ยากและต้องการความแม่นยำสูงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยอีกมาก
นอกจากนี้ยังอาจนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาช่วยแสดงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ป่วยในระหว่างที่แพทย์ทำการผ่าตัดได้แบบ real time อีกทั้งในอนาคตอาจมีการพัฒนาหุ่นยนต์จนถึงขั้นผ่าตัดแทนศัลยแพทย์ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศัลยแพทย์ได้เป็นอย่างมาก
3. เซนเซอร์ไร้สายที่ใช้เชื่อมต่อกับสมอง (Wireless brain sensors)
Wireless brain sensor
ต้องขอบคุณที่เทคโนโลยีทางด้านวัสดุพลาสติกมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้าง วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำมาจากพลาสติกชีวภาพ (Bioresorbable electronics) ที่สามารถเกาะติดอยู่กับสมองและหากไม่มีการใช้งานก็สามารถละลายหายไปได้ ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดสมองเพื่อนำเอาอุปกรณ์ชิ้นนี้ออกมา
อุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นนี้จะนำมาใช้วัดอุณหภูมิและความดันภายในสมอง
4. การพิมพ์ 3 มิติ (3-D printing)
3-D printing
หากพูดถึงการพิมพ์หลายๆท่านน่าจะนึกถึงการพิมพ์ข้อความหรือรูปภาพลงในกระดาษ ซึ่งเป็นการพิมพ์แบบ 2 มิติ แต่ในปัจจุบันมีการพิมพ์ที่ทำให้วัสดุมีรูปร่างต่างๆได้ตามแบบที่เราต้องการ ซึ่งเรียกว่าการพิมพ์แบบ 3 มิติ
โดยในปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการผลิตอวัยวะเทียมและข้อต่อเทียมที่ใช้ฝังเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งแบบที่อยู่ในร่างกายได้อย่างยาวนานและแบบที่อยู่ในร่างกายชั่วคราว (ละลายได้ภายในร่างกาย) อีกทั้งยังสามารถผลิตอวัยวะที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ในความละเอียดถึงระดับมิลลิเมตร
นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ผลิตยาที่ภายใน 1 เม็ดจะประกอบด้วยยาหลายชนิด ได้อีกด้วย
5. อวัยวะเทียม (Artificial organs)
Artificial organ
จากการที่เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ มีการนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์แล้ว ทำให้แพทย์สามารถผลิตผิวหนังเทียมเพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ได้
อีกทั้งในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถผลิตหลอดเลือดเทียม, รังไข่เทียม และตับอ่อนเทียมได้ โดยอวัยวะเทียมเหล่านี้จะถูกนำไปใส่แทนที่อวัยวะเดิมที่เสียหายไป และที่สำคัญจะต้องไม่ถูกต่อต้านโดยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้นับล้านคนในแต่ละปี
6. อุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพ (Health wearables)
Health wearables
นับตั้งแต่ปี 2000 ที่มีการเปิดตัวเทคโนโลยี Bluetooth และจากการเกิดขึ้นของอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพที่ใช้ Bluetooth ทำให้ในปัจจุบันผู้คนใช้ smart phone ในการตรวจสอบกิจกรรมหลายๆอย่าง เช่น จำนวนก้าวที่เดิน, อัตราการเต้นของหัวใจ, การออกกำลังกาย และการนอนหลับ อีกทั้งยังมีการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้จนทำให้สามารถตรวจสอบภาวะทางสุขภาพของผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2024 ตลาดของอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพจะมีมูลค่าถึง 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
7. การแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง (Precision medicine)
เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้ในปัจจุบัน แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ด้วยวิธีการรักษาที่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง แพทย์จะตรวจสอบยีนของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้ว่า มะเร็งเกิดจากยีนและ/หรือโปรตีนตรงส่วนไหนที่ทำให้ยีนเกิดการกลายพันธุ์ จากนั้นจึงหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เป็นต้น
8. เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Virtual reality)
Virtual reality
เทคโนโลยีภาพเสมือน (VR) เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถเข้าไปอยู่ภายในโลกเสมือนได้ด้วยการใส่แว่น ซึ่งในปัจจุบันมักใช้ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการเล่นเกม
นอกจากนี้ในทางการแพทย์ก็ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้บ้างแล้ว โดยเริ่มจากนักศึกษาแพทย์จะใช้เทคโนโลยีนี้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์และฝึกผ่าตัด อีกทั้งยังช่วยผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายได้อีกด้วย
9. บริการทางการแพทย์ผ่านทางไกล (Telehealth)
Telehealth
ทุกวันนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์มากขึ้น เช่น แอปพลิเคชั่นทางการแพทย์บน smart phone ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาปัญหาทางด้านสุขภาพกับแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องไปต่อคิวเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ เป็นต้น
มีการคาดการณ์ว่าตลาดของบริการทางการแพทย์ผ่านทางไกลจะมีมูลค่าถึง 113.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025
10. CRISPR
CRISPR มีชื่อเต็มคือ Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการดัดแปลงยีน ซึ่งใช้ประโยชน์จากระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์แบคทีเรียในการกำจัดไวรัส โดยการนำเอา DNA ที่ติดเชื้อออกมา ทำให้วิธีนี้สามารถช่วยรักษาโรคต่างๆได้มากมาย เช่น โรคมะเร็ง, และ HIV เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้ก็ยังคงมีปัญหาทางด้านจริยธรรมเกี่ยวกับวิธีนี้อยู่ ซึ่งบุคคลบางกลุ่มก็มองว่าการดัดแปลงยีนถือเป็นการฝืนธรรมชาติในรูปแบบหนึ่ง แต่บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่าเป็นการรักษาชีวิตมนุษย์ ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจกันเอาเองนะครับ
References
โฆษณา