29 ธ.ค. 2019 เวลา 08:28 • การศึกษา
อะไรคือ " ทฤษฎีการฟื้นฟูความสนใจ ART (Attention Restoration Theory) " ? ... แล้วทำงานอย่างไรกับจิตวิทยาการรับรู้ของมนุษย์ ? สู่การฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีพอสังเคปก่อนที่จะไปสู่รายละเอียดการฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ โดยมีรายละเอียด ทฤษฎี ดังนี้ ...
ทฤษฎีการฟื้นฟูความสนใจ หรือ ART ว่าด้วยการที่มนุษย์ได้ปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินั้นจะสามารถฟื้นฟูความเหนื่อยล้าได้ โดย James William (1892) ได้ระบุว่า ความสนใจของมนุษย์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่แตกต่าง คือ 1. “ความสนใจแบบตั้งใจ” (Voluntary or Directed Attention) และ 2. “ความสนใจแบบไม่ตั้งใจ” (Involuntary Attention)
โดยความสนใจแบบไม่ตั้งใจนั้นกล่าวคือเป็นสิ่งที่น่าสนใจโดยไม่ต้องออกแรงเรียกร้องทางจิต
ในขณะที่ความสนใจที่ตั้งใจ ผู้คนต้องระงับจิตใจจากสิ่งรบกวนจากการทำงานเป็นเวลานานส่งผลให้จิตใจเหนื่อยและเมื่อยล้า เช่นการทำงาน การขับรถ การอ่านหนังสือ หรือการตั้งใจทำอะไรบางอย่าง
โดยทฤษฎีการฟื้นฟูความสนใจอธิบายตามหลักกลไกทางจิตวิทยาในการดูธรรมชาตินำไปสู่ผลประโยชน์ที่ดีขึ้นในด้านของสภาพจิตใจ เนื่องจากธรรมชาติส่วนใหญ่จะดึงดูดความสนใจในลักษณะที่น่ารื่นรมย์และเข้าถึงง่าย ทำให้จิตใจสามารถพักผ่อนได้อย่างอิสระ ทำให้ระดับความสนใจ ความตั้งใจ สมาธิ ได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้น
ทฤษฎีการฟื้นฟูความสนใจ ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจว่าทำไมสภาพแวดล้อมบางแห่งจึงมีคุณสมบัติในการฟื้นฟู
ในขณะที่ความเหนื่อยล้าจะเกิดจากความสนใจที่ตั้งใจ เช่น การตั้งใจทำงาน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดความสนใจอย่างมาก เช่น สถาปัตยกรรมในเมืองที่หนาแน่น ไม่มีพืชพันธุ์ธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดอาการหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน บกพร่องในการวางแผน และปฏิบัติงาน ทฤษฎีนี้ได้รับการพัฒนาโดย Kaplan, R. & Kaplan,S. (1989)
สรุปหลักการของ ART นั้นคือสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดีกว่าสภาพแวดล้อมในเมือง เนื่องจากสามารถดึงดูดความสนใจโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเน้นไปที่การรับรู้ ความสนใจที่ไม่ตั้งใจนั้นจะเกิดขึ้นได้จากการที่มนุษย์ได้ปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดการฟื้นฟูความสนใจให้ดีขึ้น จึงส่งผลต่อสุขภาพทางด้านจิตใจให้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิงงานวิจัยของ (Kaplan, S., 1982; Kaplan, S., 1987; Kaplan, R. & Kaplan,S., 1989)
โฆษณา