2 ม.ค. 2020 เวลา 13:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักขุดทองที่ไม่เจอทองแต่เจออุกกาบาตดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ยุคกำเนิดระบบสุริยะจักรวาลของเราแทน 😯🌟
ทีแรกนึกว่าก้อนทองแต่ทุบยังไงก็ไม่แตก หลอมก็ไม่ได้ซักทีเพราะมันคือก้อนอุกกาบาต
ก้อนอุกกาบาตโบราณ, เครดิตภาพ: Museums Victoria
ย้อนไปปี 2015 นาย David Hole ได้เจอกับก้อนแร่ท่าทางน่าสนใจ เขาคิดว่าน่าจะมีเนื้อทองคำผสมอยู่จึงขนกลับบ้านหวังว่าจะเจอทองคำข้างใน
แต่ไม่ว่าจะพยายามยังไงก็ไม่สามารถทำให้มันเป็นริ้วรอยได้เลย
หลังจากเก็บอยู่หลายปี เขาจึงตัดสินใจเอาไปให้พิพิธภัณฑ์ที่เมลเบิร์นให้ช่วยพิสูจน์ว่ามันคืออะไรกันแน่
Dermot Henry เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์และ ดร. Bill Birch กับก้อนอุกกาบาต, เครดิตภาพ: Museums Victoria
Dermot Henry เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์กล่าวว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่เอาก้อนหินมาให้เราพิสูจน์เนี่ยมักจะเป็น meteor-wrongs หรือ "ไม่ใช่อุกกาบาตจ้า" 😁
แต่หลังจากทำการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ดร. Bill Birch และ Henry จึงได้ประกาศว่าก้อนหินที่นาย Hole นำมาให้ตรวจนี้คืออุกกาบาตเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 4,600 ล้านปี หรือกำเกิดมาพร้อมกับระบบสุริยะของเรานี่เอง 😯
ผลึก Pyroxene chondrule ก่อตัวแบบทรงกลมที่ตรวจพบในก้อนอุกกาบาต, เครดิตภาพ: Museums Victoria
ซึ่งจากการตรวจสอบยืนยันได้ว่าหินก้อนนี้คืออุกกาบาตประเภท H5 chondrite ซึ่ง chondrite นี้คือหินอุกกาบาตที่มีโครงสร้างผลึก chondrules แทรกตัวอยู่ภายใน
โดยผลึก chondrules นี้เกิดขึ้นจากการได้รับความร้อนแบบวาบ (flash heating) จากกลุ่มก๊าซร้อนในช่วงกำเนิดระบบสุริยะ ซึ่งคาดว่าอุกกาบาตก้อนนี้น่าจะกำเนิดขึ้นบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัส
ภาพโดยศิลปินแสดงถึงระบบสุริยะในช่วงก่อกำเนิด, เครดิตภาพ: Discover Magazine
จากการตรวจสอบหาเวลาที่ตกสู่โลกโดยการตรวจสอบ Carbon-14 ประมาณว่าช่วงเวลาที่อุกกาบาตก้อนนี้ตกสู่โลกคือเมื่อ 1,000 ปีก่อน
อุกกาบาตก้อนนี้มีน้ำหนักราว 17 กิโลกรัม ถูกขุดค้นพบที่อุทยาน Maryborough ใกล้กับเมืองเมลเบิร์นรัฐวิคตอเรียประเทศออสเตรเลีย
ทั้งนี้การพบก้อนอุกกาบาต ถือเป็นวิธีการสำรวจอวกาศที่ประหยัดที่สุดด้วยการที่ก้อนอุกกาบาตเหล่านี้เก็บข้อมูลต่าง ๆ ของอวกาศข้างนอกไว้มากมายก่อนที่จะตกสู่โลก
ส่วนของก้อนอุกกาบาตที่ผ่านพิสูจน์, เครดิตภาพ: Museums Victoria
อุกกาบาตบางก้อนยังมีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ที่เป็นส่วนประกอบของสิ่งมีชีวต หรือแม้แต่ละอองดาว (Star dust) ที่มาจากห้วงอวกาศระหว่างดาวซึ่งอยู่นอกระบบสุริยะของเราออกไปอีก
ถ้าใครเจอหินแปลก ๆ ทุบไม่แตก ลองขนเอาไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจดูได้นะครับ คุณอาจได้เป็นนักสำรวจอวกาศบนพื้นพิภพก็ได้ 😉👍
โฆษณา