3 ม.ค. 2020 เวลา 02:55 • สุขภาพ
[เรื่องเก่าเล่าใหม่] การล้างมือสามารถช่วยชีวิตคนได้
เรื่องเล่านี้ผมเคยเล่าไปเป็นเรื่องแรกๆของเพจเลย โดยเอามาจากหนังสือ SUPERFREAKONOMICS by STEVEN D. LEVITT & STEPHEN J. DUBNER
เป็นหนังสือที่ใช่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ (Economics) และเศรษฐมิติ (Econometrics) ในการอธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่มันไม่น่าจะเกี่ยวกัน แต่มันเกี่ยวกันเฉยเลย!!
ที่จะเล่าในวันนี้เป็นแค่ส่วนเล็กๆในหนังสือเท่านั้นนะครับ ไว้ส่วนที่เด็ดๆผมจะพยายามเอามาเล่าให้ฟังกันเรื่อยๆ มาเริ่มกันเลยดีกว่า
เรื่องนี้ต้องย้อนเวลากลับไปประมาณ 170 ปีเศษๆ ในสมัยที่ความรู้วงการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ครับ
ในสมัยนั้นมีตัวเลขที่น่าสนใจ และ น่าตกใจคือผู้หญิงเฉลี่ย 4.5% เสียชีวิตจากการจากการคลอดลูก (Maternal Death) โดยสาเหตุหลังก็มาจาก ไข้หลังคลอด (Puerperal Fever) นั่นเองครับ
คิดคร่าวๆง่ายๆก็คือถ้ามีการทำคลอดในโรงพยาบาล 20 คน ก็จะมี 1 คนที่เสียชีวิตจากโรคนี้
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ในปี 1847 เมื่อโรงพยาบาลชั้นนำแห่งหนึ่งในออสเตรียนั้นมีผู้เสียชีวิตจากไข้หลังคลอดอย่างน้อย 1 คน จากการทำคลอด 6 ครั้ง
หรือคิดเป็น 17% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4 เท่า !!
จนทำให้หมอคนหนึ่งออกมาหาสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูงกว่าปกติเหล่านี้ หมอคนนั้นชื่อ Ignatz Semmelweis
Semmelweis ก็ได้ทำการรวบรวมตัวเลขต่างๆจากรายงานทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเพื่อพยายามหาสาเหตุของการเสียชีวิตที่ปกตินี้
หนึ่งในความผิดปกติที่แปลกมากๆ ที่เค้าพบก็คือ โอกาสการเสียชีวิตจากการทำคลอดของแพทย์ (physician) นั้นสูงกว่าการทำคลอดของผู้ช่วยทำคลอด (midwives) ถึงกว่า 3 เท่าตัว
** จริงๆแล้วคำว่า midwives หมายถึงคนที่ถูกฝึกมาเพื่อช่วยในการทำคลอด ไม่ได้เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ**
นี่คือความผิดปกติที่แปลกมากๆ เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกลับมีผลงานที่แย่กว่าผู้ช่วย แต่ Semmelweis เองก็หาสาเหตุของตัวเลขนี้ไม่ได้
ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงโยนตัวเลขชุดนี้ทิ้งไปและบอกว่าไร้สาระ มันจะเป็นแบบนั้นได้ยังไง ?
จนกระทั่งวันหนึ่ง... มีนายแพทย์คนหนึ่งเสียชีวิตจากการติดเชื้อจากแผลมีดบาดมือระหว่างการชันสูตรศพ เหตุการณ์นี้เหมือนเป็นตัวจุดชนวนความคิดให้กับ Semmelweis ในทันที
เพราะถ้าเชื้อโรคสามารถติดไปกับแผลบนมือแพทย์นั้น มันก็สามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้หญิงขณะทำคลอดได้เหมือนกัน แถมยังน่าจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าด้วย
บวกกับการแพทย์สมัยนั้นอาจจะมีจำนวนน้อยมากๆ ทำให้มีหน้าที่รับผิดชอบที่เยอะมากๆ พอผ่าชันสูตรเสร็จก็เข้าไปทำคลอดต่อเลย ไม่มีเวลาให้ทำความสะอาดมือ และในสมัยนั้นวงการแพทย์เองก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดมากนัก (ไม่แน่ใจนะครับว่าถุงมือมีรึยังด้วย)
สุดท้าย Semmelweis จึงมีมาตรการให้แพทย์ทุกคน”ล้างมือ”ก่อนเข้าไปทำคลอดทุกครั้ง เพราะคาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ ซึ่งก็ได้ผล มันสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ในอัตราที่สูงมากๆ จนแทบจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเลยด้วยซ้ำ
อีกทั้งยังตอบข้อสงสัยที่ว่าทำไมการทำคลอดของผู้ช่วยทำคลอดถึงเสี่ยงน้อยกว่าได้อีกด้วย เพราะผู้ช่วยทำคลอดนั้นไม่มีหน้าที่ในการชันสูตรศพนั่นเอง
แค่นี้แหละครับ การล้างมือสามารถช่วยชีวิตคนได้จริงๆ และทำให้ภายหลังวงการแพทย์ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นด้วย
สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือปัญหาใหญ่ๆบางเรื่องสามารถแก้ได้ด้วยการสังเกตุในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ก็ได้เช่นกัน
บทเรียนจากเรื่องนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ในบางโอกาสนะครับ 🙂
ในโพสต่อๆไปก็จะนำเรื่องน่าสนใจของหนังสือเล่มอื่นๆ รวมไปถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ สนใจก็กดติดตามเพจ “เล่า” ไว้เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาดีๆในอนาคต
ส่วนถ้าใครไม่อยากพลาดทุกโพสต์ของเพจ “เล่า” แอดมินแนะนำให้กด See First เอาไว้ด้วยครับ :)
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน facebook ได้ที่
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #ล้างมือ #superfreakonomics
โฆษณา