3 ม.ค. 2020 เวลา 03:48 • ข่าว
#สภาชาวกีวี่กับสังคมคุณภาพ
#ก้าวที่กล้าของนิวซีแลนด์
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ที่สภาของชาวกีวี่ นำโดย จาซินดา อาร์เดิร์น แม่เมืองนิวซีแลนด์คนปัจจุบัน ได้ลงมติผ่านร่างกฏหมาย Zero Carbon Bill ผลักดันให้ประเทศนิวซีแลนด์กลายเป็นดินแดนปลอดสารคาร์บอนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศภายในปี 2050 เพื่อลดอุณหภูมิของโลกให้ได้ 1.5 องศา
1
ซึ่งร่างกฏหมายฉบับนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้น ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจนเกือบเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 119 ต่อ 1 (ในสภามี 120 เสียง)
นายกฯหญิง จาซินดา อาร์เดิร์น ได้กล่าวขอบคุณชาวสภา รวมทั้งฝ่ายค้าน พรรค NZ National Party ที่ร่วมยกมือสนับสนุนให้ และกล่าวว่า มติในวันนี้จะต้องถูกจารึกไว้ว่า มันคือ "Nuclear Moment" แห่งยุคสมัยนี้
"New Zealand will not be a slow follower.
We have to start working beyond targets.
We have to start working beyond aspiration.
We have to start moving beyond signs of hope and deliver signs of action.
That is what this government is doing and proudly so."
"นิวซีแลนด์จะไม่มีวันเป็นแค่เพียงผู้ตามที่เชื่องช้า
เราจะทำงานให้เกินเป้าหมาย
เราต้องไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เราใฝ่ฝัน
เราต้องสร้างสิ่งที่เป็นมากกว่าสัญลักษณ์แห่งความหวัง และทำให้มันกลายเป็นจริง
นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กำลังจะทำด้วยความภาคภูมิใจ"
2
หลังจากที่กล่าวแถลงการณ์จบ ทั้งสภาก็ลุกขึ้นปรบมือให้ ถือว่าเป็นร่างกฏหมายที่ผ่านอย่างงดงาม และจะมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลต่อๆไปด้วย จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
ต้องยอมรับว่านิวซีแลนด์ ถือเป็นประเทศผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมเบอร์ต้นๆของโลก take action ก่อนใคร และมี commitment สูง
และที่นายกฯจาซินดา ได้อ้างถึง Nuclear Moment ยุคใหม่ของนิวซีแลนด์นั้น หมายถึง ร่างกฏหมาย
"New Zealand Nuclear Free Zone, Disarmament and Arm Control Act ปี 1987 ที่มีการลงมติผ่านสภาให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศปลอดอาวุธนิวเคลียร์
ซึ่งเรื่องนี้มีที่มาจากการที่ฝรั่งเศส และ อังกฤษ แอบเอาระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งเป็นอาวุธนิวเคลียร์ร้ายแรงมาทดลองแถวๆมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ ไม่ไกลจากนิวซีแลนด์ และออสเตรเลียมากนัก ทำให้นิวซีแลนด์ไม่พอใจมาก ยื่นเรื่องไปฟ้องที่ UN ให้ประนาม และยกเลิกการทดลองนิวเคลียร์
แต่กลับโดนทั้งสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่เป็นสมาชิกถาวรโหวตค้าน ตีประเด็นตกไป ทางนิวซีแลนด์จึงจัดการผ่านร่างกฏหมาย Nuclear Free Zone ฉบับนี้ในปี1987 ทำให้สหรัฐไม่พอใจ ตัดนิวซีแลนด์ออกจากสนธิสัญญา ANZUS ที่เป็นสนธิสัญญาความร่วมมือทางทหารระหว่าง สหรัฐ-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เรียกว่า จะตัดหางปล่อยวัดนิวซีแลนด์
แต่นิวซีแลนด์ไม่สนใจ และยืนยันความเป็นเอกราชด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม และคงความเป็นประเทศปลอดอาวุธนิวเคลียร์ 100% จนถึงปัจจุบัน
1
ถึงนิวซีแลนด์จะเป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรไม่ถึง 5 ล้าน ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ด้วยว่า ประเทศนี้มันอยู่บริเวณไหนของโลก อยู่กันเงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหล่ะก็ ชาวกีวี่ใจนักเลงมากๆ ไม่กลัวหน้าอินทร์ หน้าพรหมที่ไหนทั้งนั้น
คิดดูว่า ในจำนวนประเทศที่เซ็นข้อตกลงปารีสกว่า 197 ประเทศ มีเพียงแค่ไม่กี่สิบประเทศ ที่พิจารณาให้มีกฏหมายสังคมปลอดคาร์บอน และในนั้นก็มีแค่เพียงหยิบมือเดียว ที่สามารถผลักดันจนกลายเป็นกฏหมายบังคับใช้อย่างชัดเจน หนึ่งในนั้นคือ นิวซีแลนด์
และเป็นประเทศที่มีรัฐมนตรีรับผิดชอบเฉพาะด้าน Climate Change แยกออกมาต่างหาก จากรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมทั่วไปอีกด้วย
และรัฐมนตรีที่มาดูแลวิกฤติ Climate Change คนปัจจุบันของนิวซีแลนด์ คือ นายเจมส์ ชอว์ รัฐมนตรีจากพรรค Green ผู้อยู่เบื้องหลังร่างกฏหมาย Zero Carbon Bill ฉบับนี้นี่เอง
เจมส์ ชอว์ รัฐมนตรีด้าน Climate Change
ซึ่งรัฐมนตรี เจมส์ ชอว์ ก็อุทิศตัวทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาหลายปี โดยมีแรงบันดาลใจมากจากเหตุการณ์ระเบิดเรือ Rainbow Warrior ของ Greenpeace ที่ท่าเรือโอ๊คแลนด์ ตอนปี 1985 ที่เข้าไปประท้วงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ที่เกาะ Mumuroa และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดกฏหมาย Nuclear Free-Zone ของนิวซีแลนด์ ตอนปี 1987 ในเวลาต่อมา
และหลังจากกฏหมาย Zero Carbon ผ่านออกมาแล้ว ทางรัฐบาลก็จะร่างมาตรการที่จะมีผลบังคับใช้กับชาวกีวีราว 5 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายดินแดนปลอดคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050
อ่านถึงตรงนี้ คงมีหลายๆคนขัดใจว่า ทำไมบ้านเราไม่ออกกฏหมาย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเหมือนเขาบ้าง😡
1
แต่ก็ต้องทำความเข้าใจนิดนึง กฏหมายนี้ ไม่ได้ออกมาแค่ให้ฟังดูเท่ๆ แลดูโก้เก๋ กระแสนิยม แต่การจะไปให้ถึงเป้าหมายต้องใช้งบประมาณมหาศาล และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือความเสียสละ และสามัคคี อย่างมากของคนทั้งประเทศ
เพราะในนิวซีแลนด์ นอกจากจะมีคนแล้ว อย่าลืมว่าเขามีแกะ มีวัวด้วย
นิวซีแลนด์ถือว่าเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ใหญ่มาก ในประเทศมีแกะอยู่ราวๆ 38 ล้านตัว วัวอีก 4 ล้านกว่า ยังไม่นับฟาร์มหมู ฟาร์มม้า ฟาร์มกวาง ฟาร์มไก่เลยนะ ซึ่งปศุสัตว์พวกนี้ กินหญ้าเป็นอาหาร กินเสร็จ ก็ตดออกมา กลายเป็นก๊าซคาร์บอน ส่งสู่ชั้นบรรยากาศได้เหมือนกัน
ในปัจจุบัน นิวซีแลนด์มีสัดส่วนรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกอยู่ 0.22% เป็นอันดับที่ 48 ของโลก และเกือบครึ่งเกิดจากการเลี้ยงปศุุสัตว์ในนิวซีแลนด์
ดังนั้นกฏหมาย Zero Carbon ของนิวซีแลนด์จะมีผลต่อเกษตรกรแดนกีวี่อย่างไร?
อันดับแรกเลยคือ เกษตรกรนิวซีแลนด์ผู้เลี้ยงสัตว์ จะต้องปรับปรุงระบบจัดการก๊าซมีเทนภายในฟาร์มไม่ให้เกินมาตรฐานตามที่กฏหมายใหม่กำหนด และจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี เพราะเป้าหมายรัฐบาลตั้งไว้สูง และแน่นอนว่าต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยทีเดียว
หากทำไม่ได้ รัฐบาลจะมีมาตรการ Emissions Tax หรือภาษีคาร์บอน ในผลผลิตจากฟาร์มที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินมาตรฐาน ซึ่งก็จะส่งผลให้สินค้าบางตัวมีราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ โรงงาน ต้องเปลี่ยนระบบการกำจัดคาร์บอนใหม่ แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ต้องเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ ใช้ระบบไฟฟ้าแทนน้ำมันกันทั้งประเทศ
เห็นไหมว่า ทุกการเดินทาง มีค่าใช้จ่ายเสมอ เป้าหมายยิ่งไกล ค่าใช้จ่ายยิ่งแพง
แต่ถ้าประชาชนในประเทศมองเห็นเป้าหมายแล้วคิดว่ามันคุ้ม ยอมเจ็บปวดร่วมกัน เพื่ออนาคตของลูกหลาน ก็ถือว่าเป็นบุญของประเทศที่เขามีสังคมคุณภาพ แต่ถ้าไม่ กว่าจะถึงจุดหมาย ก็จะลำบากหน่อย เหมือนที่ประเทศฝรั่งเศส เจ้าของร่าง Paris Agreement แต่คนในประเทศประท้วงกันแทบเผาหอไอเฟล เพราะเรื่องรัฐบาลเพิ่มภาษีคาร์บอน ทำราคาน้ำมันแพงนั่นเอง
ดังนั้นขอย้ำว่าเรื่องประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ประเด็นที่คุยกันเอาเท่ แต่ทุกคนต้องเห็นเป้าหมายเหมือนกัน และเข้าใจอย่างยิ่งยวดว่า มันต้องลำบาก มันต้องอดทน มันอาจต้องจ่ายแพง และมันไม่มีวิธีลัด
เหมือนอยากผอม ก็ต้องตัดใจงดของหวาน อยากแข็งแรง ก็ต้องออกกำลังกาย อยากลดขยะพาสติก ก็ต้องพกถุงหิ้ว พกปิ่นโตเอง ทีนี้อยากลดภาวะโลกร้อน อยากได้โลกสวยๆคืนมา ก็ต้องสละความสุขส่วนตัว เพื่อส่วนรวม ถ้าทุกคนยอมเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ไม่ต้องรอถึงปี 2050 เราฟื้นฟูโลกได้แน่นอน😀
โฆษณา