3 ม.ค. 2020 เวลา 05:24 • ธุรกิจ
โลกของกองทุน ตอนที่ 13
ทางรอดของ LTF หลังจากลดหย่อนภาษีไม่ได้แล้ว
อย่างที่ทราบกันดีว่า LTF สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้ถึงแค่ปี 2562 เท่านั้น
เมื่อมาถึง 2563 นั้น LTF เมื่อซื้อไปก็ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ถ้าซื้อไปก็ไม่ต่างอะไรกับกองทุนหุ้นธรรมดา
แต่ว่าก็ไม่มีใครอยากจะซื้อเพิ่ม เพราะคนที่เคยซื้อเมื่อปีก่อนหน้าเพื่อลดหย่อนภาษี จะมาซื้อในปีนี้เพิ่มก็จะมีปัญหาว่าขายออกไม่ได้
ถ้าขายออกไปก่อนก็อาจจะโดนค่าปรับจาก บลจ. แถมถ้าเราซื้อ LTF กองนั้นในปีก่อนหน้านั้นไปแล้ว และซื้อเพิ่มในปีนี้
เราจะไม่สามารถขายกองนั้นออกไปได้จนกว่ายอดที่เราซื้อในปีก่อนๆจะครบกำหนดให้ขายได้ เพราะการขายกองทุนนั้นจะเป็นการขายแบบเข้าก่อนออกก่อน
ยอดไหนที่ซื้อมาก่อนจะถูกเอาออกไปก่อน ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าเราขายไปยอดที่เราซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีในปีก่อนๆก็จะถูกขายออกไป ซึ่งผิดเงื่อนไขทางภาษีทันที
บางคนก็อาจจะกลัวว่า ยอด LTF ที่ซื้อไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจะครบกำหนดขายเมื่อปี 2568 เนี่ยกองนั้นจะยังอยู่ดีหรือไม่
เพราะมันมีระเบียบหนึ่งที่เขียนว่าถ้ากองนั้นมีผู้ลงทุนน้อยกว่า 35 รายกองทุนจะถูกปิดทันที
ผมก็อยากจะบอกว่าไม่ต้องกังวลจนเกินไปครับ เพราะ บลจ. เขามีวิธีรับมือเรื่องนี้แล้ว
โดยเมื่อวานนี้ผมเห็น บลจ. บัวหลวงออกประกาศปิดไม่ให้ผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนของ LTF ชั่วคราว
และจะทำการแยกหน่วยลงทุนของ LTF เป็นชนิดที่ลดหย่อนภาษีได้ และชนิดที่ลดหย่อนภาษีไม่ได้
ที่มา : บลจ.บัวหลวง
นั่นก็คือหลังจากที่ LTF ของ บลจ.บัวหลวงกลับมาให้ซื้ออีกครั้งเราสามารถซื้อ LTF ในรูปแบบของกองหุ้นธรรมดาแบบ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) ได้
พูดง่ายก็คือถ้าซื้อ LTF ชนิดหน่วยลงทุนที่ไม่ได้ลดหย่อนภาษีไปแล้ว เราสามารถขายเมื่อไรก็ได้ ไม่มีระยะเวลาในการถือ
ถึงแม้จะเคยซื้อกองนี้ไปก่อนหน้านั้นแต่ถ้าซื้อหน่วยลงทุนประเภทลดหย่อนภาษีไม่ได้เราสามารถขายแยกจากกันได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขของภาษี
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีที่ปีก่อนๆแล้วอยากซื้อเพิ่ม
หรือคนที่ยังติดภาพจำที่ว่า LTF บริหารดีกว่ากองทุนหุ้นธรรมดา ก็สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องถือจนถึง 7 ปีปฎิทินครับ
ส่วนของ บลจ. อื่นผมยังไม่เห็นประกาศออกมานะ แต่ผมคิดว่าก็คงทำตามแหละ
อีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆคนอาจจะไม่รู้ ปีนี้ไม่มี LTF ที่ครบกำหนดที่สามารถขายได้นะครับ
เนื่องมาจากเป็นช่องว่างของช่วงเปลี่ยนผ่านของการถือ LTF จาก 5 ปีปฎิทินเป็น 7 ปีปฎิทิน
เพราะว่าปีสุดท้ายที่ให้ถือ 5 ปีปฎิทินคือ ปี 2558 ซึ่งครบกำหนดในการถือไปเมื่อปี 2562
และในปี 2559 เริ่มหลักเกณฑ์ให้ถือ 7 ปีปฎิทินซึ่งจะครบกำหนดในปี 2565
ดังนั้นในปีนี้และปีหน้าก็จะไม่มี LTF ที่ครบกำหนดที่จะต้องขายครับ
ยกเว้นแต่ว่าจะมีคนที่มียอดที่ครบกำหนดแล้วและยังไม่ขายในปีก่อนหน้า
หากชอบบทความนี้อย่าลืมกดไลก์ กดแชร์ และกดติดตามเพจนี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา