3 ม.ค. 2020 เวลา 14:02 • การศึกษา
“มาตรา 157 คืออะไร และทำไมใคร ๆ ถึงชอบอ้างถึงกันนัก?”
ใครที่ดูข่าวบ่อย ๆ อาจจะเคยได้ยินเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนโต้เถียงกัน ตอนขอตรวจใบขับขี่และคนที่ถูกเรียกไม่ยอมให้ตรวจสอบ โดยมักจะอ้างว่าตำรวจไม่มีสิทธิทำแบบนี้และระวังจะมีความผิดมาตรา 157...
ซึ่งมาตรา 157 ที่หลายคนมักจะยกขึ้นอ้างกันบ่อย ๆ นั้น ที่จริงแล้วใช้สำหรับเรื่องอะไร และเพราะเหตุใดคนส่วนใหญ่ถึงชอบยกมาตรานี้ขึ้นอ้าง วันนี้เรามารู้ถึงที่มาของเรื่องนี้กันครับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น เป็นบทลงโทษเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต (แสวงหาประโยชน์) เช่น...
เจ้าหน้าที่ A เรียกรับเงินจากนาย ก. ที่นำเข้าของหนีภาษีเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจะได้ทำเป็นไม่รู้เห็น หรือ
เจ้าหน้าที่ B แกล้งจับกุมนาย ข. และแจ้งข้อหาจำหน่ายยาเสพติด ทั้งที่นาย ข. ไม่ได้กระทำความผิดนั้น
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ไม่ว่ากรณีเจ้าหน้าที่ A ที่เรียกรับเงินนาย ก. โดยทุจริต หรือเจ้าหน้าที่ B ที่แกล้งจับกุมนาย ข. ทั้งที่ไม่มีความผิดและทำให้ได้รับความเสียหาย
ทั้ง 2 กรณีนี้ต่างก็เป็นความผิดตามมาตรา 157 เหมือนกัน
3
จริง ๆ แล้วมาตรา 157 นำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ประเภทใดบ้าง?
คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามาตรา 157 จะนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำไม่ถูกต้องตามหน้าที่เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วมาตรานี้นำมาใช้กับบุคคล (ทุกคน) ที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
เช่น พนักงานดับเพลิง, ข้าราชการในกระทรวง หรือกรมต่าง ๆ เป็นต้น
เรียกได้ว่าเป็นมาตราที่นำมาใช้ครอบจักรวาลกันเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่ที่รู้กฎหมาย (บ้าง) มักจะหยิบยกมาตรานี้ขึ้นมาอ้างเวลามีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่
คำถามต่อไปคือ ถ้าไม่อ้างมาตรา 157 แล้วจะอ้างอะไร?
คำตอบก็คือ เมื่อมาตรา 157 เป็นบทกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวกับความผิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายจะต้องมีมาตราเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความผิดนั้นโดยตรงและมีโทษหนักกว่า เช่น
- ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามมาตรา 149
- ความผิดฐานเจ้าพนักงานกระทำหรือไม่กระทำการในตำแหน่งโดยเห็นแก่ทรัพย์สินที่ได้เรียกรับไว้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ตามมาตรา 150
- ความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี โดยทุจริตลงรายการเท็จใน
บัญชี หรือละเว้นการลงรายการในบัญชี ตามมาตรา 156
ซึ่งมาตราที่ยกขึ้นเป็นตัวอย่างนี้จะมีบทลงโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต เลยทีเดียว
1
ในความเห็นส่วนตัว แม้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานอาจทำให้ประชาชนอย่างเราไม่ได้รับความสะดวกสบายไปบ้าง แต่เชื่อเถอะครับว่าเจ้าหน้าที่ (ส่วนใหญ่) ต่างก็ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อดูแลให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยอย่างทั่วถึง
ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เกิดความไม่พอใจการกวดขันของเจ้าหน้าที่และปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือได้
ดังนั้น สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ เข้าใจในวิธีการทำงาน โดยยอมเสียสละความสะดวกเพียงชั่วครู่ ดีกว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เคียงข้าง (ยามเกิดปัญหา) นะครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา