5 ม.ค. 2020 เวลา 12:30 • ธุรกิจ
#ไปคนเดียวไปได้ไวแต่ไปหลายคนก็ไปได้ไวและไปได้ไกลได้เหมือนกัน
แนะนำให้อ่านโพสต์ก่อนหน้าที่เกี่ยวกับ Sprint ของ Google Venture ก่อนนะครับ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น
◼นิยามของ Sprint ในโลกของบริษัทผม
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ Sprint ก็เหมือนการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่ทุกคนต้องมาช่วยกัน "ลงมือทำ" เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมา ที่บริษัทผมเราเอามาใช้เวลาที่ต้องออกแบบหรือหาคำตอบในโจทย์ที่มันยากๆ เรื่องใหญ่ที่มี impact กับองค์กร ที่ต้องการความเห็นต่างและความร่วมมือจากคนหลายฝ่าย เช่น การออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่, วัฒนธรรมองค์กรใหม่ หรือแม้แต่ระบบการขายใหม่เพื่อเพิ่มยอดขายของบริษัท เรื่องระดับนี้ "ตบมือข้างเดียวไม่ดัง" เวลาคิดเองทำเองฝ่ายเดียว มักไม่ค่อยรอด หรือไปได้ก็ไม่ไกลเท่าไหร่ และก็ไม่มีทางไปได้ไวแน่นอน เพราะมันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและมักมีคลื่นใต้น้ำตามมาเสมอ เราจึงนำ Sprint มาลองใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบ และเรียกมันว่า Design Sprint เพราะเราเชื่อว่า ความแตกต่างของคนในทีมที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน มักนำไปสู่ผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่ Surprise เราเสมอ
◼ก่อนเริ่ม Sprint
บริษัทผมจะมีทีมที่เรียกว่า Transformation Team หรือทีมกลางที่ทำหน้าที่บริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้มันราบรื่นมากที่สุด ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในทีมนี้ด้วย ก่อนเริ่ม Sprint เราจะมีการวางแผนกันก่อน
โดยหลักๆ จะมี 5 เรื่องที่ต้องเตรียมล่วงหน้า คือ
1. กำหนดโจทย์ โดยตั้งเป็นชื่อทีมของแต่ละ Sprint เช่น Design Culture, Design Structure, Design People Practice
2. กำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะคุยกันใน Sprint ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าอะไร In-scope และอะไร Out-scope จะได้ไม่เสียเวลาทีหลัง ไม่ใช่คุยกันตั้งนานสุดท้ายไม่เอา บอกว่าอยู่นอก Scope เช่น Design People Practice จะคุยแค่เรื่องที่เป็นเชิงระบบและวิธีดำเนินการเท่านั้น จะไม่ลงรายละเอียดที่เป็นตัวเงิน เป็นต้น
3. ตั้ง Key Questions หรือคำถามหลักที่จะนำไปสู่การตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้และเป็นคำถามที่ใช้ในการกระตุ้นไอเดียของคนในทีมด้วย รวมถึงเป็นคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ เช่น Communication Plan, Implementation Plan เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่จะต้องทำในโจทย์นี้ จะสามารถคุยให้จบใน Sprint
4. เลือกคนที่ใช่เข้าทีม 7-9 คน โดยหนึ่งในทีมต้องมีคนที่เป็น Key Decision Maker หรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องนั้นได้ ที่เหลือต้องเป็นคนที่มี impact ในโจทย์นั้น มีทักษะที่ดีทั้งความคิดสร้างสรรค์และการเล่าเรื่อง มีทัศนคติที่กล้าคิด กล้าลอง และกล้าทำ ที่สำคัญต้องมีความตั้งใจจริงที่อยากมาทำสิ่งใหม่ๆ ด้วยกันและมาได้ครบทุกวัน
5. เลือกวันที่เหมาะสมมา 5 วันรวด!
◼Sprint จริง!
5 วันของผมจะแตกต่างจาก Sprint ของ Google Venture โดยเราจะเน้นการรับฟัง Feedback แล้วมาปรับแก้กันตลอดทาง
Day 1
เตรียมพร้อมและสร้างความเข้าใจให้คนในทีม โดยอธิบายข้อมูลทั้งหมดที่เค้าควรจะรู้ เช่น โจทย์, In&Out Scope, แชร์ Best Practice ว่าที่อื่นเค้าทำอะไรกันอยู่บ้าง, Key Questions หรือคำถามหลักที่เราจะต้องช่วยกันหาคำตอบ หลังจากให้ข้อมูลเรียบร้อยจนทุกคนเห็นภาพตรงกัน ก็จะเริ่มแบ่งเป็นกลุ่มละ 3-4 คน เพื่อช่วยกันระดมสมองหาคำตอบจากคำถามที่มีและทำความเข้าใจมันให้ลึกขึ้น
Day 2
ระดมสมอง ช่วยกันโยนไอเดียและเขียนให้มันเป็นรูปเป็นร่าง จากนั้นก็เล่าและฟัง Feedback จากคนในทีม และเอาไปปรับแก้
Day 3
เล่าไอเดียและฟัง Feedback จาก Sponsor หรือผู้ที่เป็นเจ้าของโปรเจคต์นั้น แล้วก็นำไปปรับแก้ต่อ
Day 4
ปรับแก้วนไป (ระดมสมอง เล่า และ Feedback วนไป)
Day 5
สรุปไอเดียที่ได้มาจากทั้ง Sprint พร้อมกำหนดวิธีการสื่อสาร เพื่อไปขอ Feedback จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมดให้ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ลูกค้า ญาติพี่น้องพนักงาน เป็นต้น และนำไปปรับแก้ต่อจนได้ไอเดียสุดท้ายที่จะนำไปใช้จริง
จะเห็นว่า Sprint ในแบบของบริษัทผม หัวใจมันคือสร้างไอเดีย ทดสอบและประเมินไอเดียจากการเล่าให้คนที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายเรียนรู้จาก Feedback ที่ได้รับ เพื่อนำไปปรับแก้ไอเดียให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเราเชื่อว่าทุก Feedback มันทำให้เราพัฒนาต่อยอดได้เสมอ สุดท้ายเราในฐานะทีมที่ทำ Sprint จะเป็นคนตัดสินใจว่าไอเดียสุดท้ายที่จะนำไปใช้จริงเป็นอย่างไร
◼ผู้สร้างสีสันใน Sprint
แน่นอนการทำงานร่วมกันภายใต้โจทย์เดิมตลอด 5 วัน ไม่ใช่เรื่องง่าย มันก็มีทุกรสชาติแหละ ทั้งสนุก ตื่นเต้น ภูมิใจ และมันก็มีด้านมืดเหมือนกัน ทั้งเครียด เหนื่อย อ่อนแรง กดดัน ล้มเหลว หรือแม้แต่ออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง ใน Sprint ของบริษัทผม จึงมีบทบาทเพิ่มเติม เพื่อให้สมาชิกช่วยกันทำหน้าที่ต่างๆ ดังนี้
1. Rabbit Hole Master --> คนที่คอยดึงกลับมาเมื่อเริ่มหลงประเด็น ด้วยคำพูดที่ว่า "Rabbit Hole มั้ยๆ"
2. Scribe --> คนที่ทำหน้าที่จด เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่หลุด Feedback หรือประเด็น ที่มีคุณค่าไป
3. Zen Master --> คนที่คอยสร้างความผ่อนคลาย เมื่อรู้สึกว่า บรรยากาศเริ่มเครียดเกินไปหรือพลังงานของคนในทีมเริ่มตก
4. Challenger --> ง่ายๆ คือ คนที่คอยทิ่ม คอยยิงคำถามมันเข้าไป เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าเดิม
5. Driver --> คนที่คอยกระตุ้นหรือผลักดันให้ไปต่อ
6. Time Keeper --> คนที่คอยควบคุมเวลา เพราะเราทำงานภายใต้เวลาที่จำกัดมาก
บทบาทเหล่านี้แหละครับ ที่เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ Sprint มันไปต่อได้
◼Sprint ในมุมมองของผม
หลังจากที่ได้ลองทำจริง ผมว่า Sprint เป็นเครื่องมือในการทำงานเป็นทีมที่ไม่เลวเลย เพราะมันทำให้เรามานั่งทำความเข้าใจด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ความคิดเห็นที่หลากหลายและได้ความร่วมมือที่มากขึ้น ช่วยกันลงรายละเอียดในทุกขั้นตอน ทุกคำถามที่จะโดนถามโดนทิ่ม ก็เจอกันไปในห้องเกือบหมดแล้ว และที่สำคัญทุก Feedback ที่ได้ มันทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น หลายๆ ครั้งก็เป็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึง ซึ่งด้วยเครื่องมือนี้ กระบวนการแบบนี้ มันเลยทำให้เกิดสิ่งใหม่ได้จริงๆ โดยที่เราไม่สามารถคิดได้เอง ด้วยตัวคนเดียวภายในเวลา 5 วันแน่นอน!
ผมเลยรู้แล้วว่า ที่จริง "ไปหลายคนก็ไปได้ไกลและไปได้ไวได้เหมือนกัน" นะ
#TheSomersault
#TheSomersaulThink
#Sprint
#Teamwork
โฆษณา