6 ม.ค. 2020 เวลา 12:01 • การเมือง
อิหร่านเขย่า "อ่าวเปอร์เซีย" สงครามตัวแทนประเทศเพื่อนบ้าน
งานนี้ดูเหมือนว่า เพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศอิหร่าน ต่างรู้สึกเป็นกังวลต่อการประกาศทำสงคราม “ล้างแค้น” สหรัฐ โดยเฉพาะอิรัก ที่มีพรมแดนติดกับอิหร่าน และมีทหารของกองทัพของสหรัฐประจำการอยู่เป็นจำนวนมา ก ได้ลงมติรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายให้รัฐบาลขับกองกำลังต่างประเทศออกจากดินแดน โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 59 และ 109 และเป็นความรับผิดชอบของสมาชิกสภาในฐานะผู้แทน เพื่อปกป้องความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศ
โดยนายอเดล อับดุล มาห์ดี นายกรัฐมนตรีอิรัก ได้เข้าร่วมการประชุมวาระพิเศษของรัฐสภา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และกล่าวต่อสมาชิกรัฐสภาว่า “การถอนกำลังทหารสหรัฐฯ จากอิรักจะส่งผลดีต่ออิรักและสหรัฐฯ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ล่าสุด”
ขณที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่คว่ำบาตรอิรัก “ขั้นรุนแรง” ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรัฐสภาอิรักลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ที่กำหนดให้รัฐบาลอิรักยุติการประจำการของกองกำลังต่างประเทศในอิรัก รวมถึงไม่อนุญาตให้ใช้น่านน้ำและน่านฟ้าของอิรัก
“ถ้าพวกเขาขอให้พวกเราออกจากประเทศ ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามอย่างเป็นมิตร เราจะคว่ำบาตรพวกเขาให้หนักอย่างที่พวกเขาไม่เคยพบเจอมาก่อน ชนิดที่ทำให้การคว่ำบาตรอิหร่านดูเป็นเรื่องเบาะๆ ไปเลย เรามีฐานทัพอากาศที่ราคาสูงมากถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่นั่น … เราจะไม่ย้ายไปไหนทั้งนั้น นอกจากพวกเขาจะจ่ายเงินคืน”
ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ รู้สึก “ผิดหวัง” กับการตัดสินใจของรัฐสภาอิรัก พร้อมระบุว่า “เรากระตุ้นให้ผู้นำอิรักทบทวนความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และการประจำการของสมาชิกระดับโลกเพื่อการต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม (Global Coalition to Defeat ISIS) ในอิรัก”
1
สหรัฐฯ ได้ส่งกำลังทหารกว่า 5,000 นาย มาประจำการในอิรัก เพื่อสนับสนุนกองกำลังอิรักในการต่อสู้กับกองทหารกลุ่มไอเอส โดยช่วยฝึกอบรมและให้คำแนะนำกับกองทหารอิรักเป็นหลัก แต่แน่นอนว่าการโจมตีท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด สังหารนายพลคาเซม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม และการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเตหะราน ทำให้หลายประเทศทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีทหารและฐานทัพสหรัฐอยู่ในประเทศ เริ่มแสดงความวิตกกังวลต่อปฏิกิริยาดังกล่าวนี้ ซึ่งอิหร่านถือว่ามีกองกำลังทหารใหญ่อันดับ 13 ของโลก เพียบพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ และมีกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรของตนหลากหลายในตะวันออกกลาง เช่น กลุ่มติดอาวุธฮิซบุลลอฮ์ ในเลบานอน และ กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน รวมถึงกองกำลังรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดด้วย
ซึ่งล่าสุด ซาย์เยด ฮัสซัน นาสรัลลาห์ หัวหน้ากลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ได้ออกมาเคลื่อนไหว สนับสนุนรัฐบาลอิหร่านในการล้างแค้นกับสหรัฐ โดยกล่าวกระตุ้นบรรดานักรบร่วมโจมตีทหารสหรัฐฯ ในภูมิภาค โดยนาสรัลลาห์กล่าวว่า
“การต่อต้านนี้จะขับทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักและภูมิภาคของเราได้ นี่เป็นปฏิบัติการระดับต่ำสุดในการตอบโต้อาชญากรรมครั้งร้ายแรง เมื่อใดที่บรรดาทหารสหรัฐฯ กลับคืนสู่มาตุภูมิในโลงศพ เมื่อนั้นโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะตระหนักว่าเขาได้สูญเสียอิรักและภูมิภาคนี้ และเขาจะต้องแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี”
นาสรัลลาห์เสริมว่าทรัมป์เลือกใช้ความรุนแรงด้วยการสังหารโซเลมานี เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ของตนในสายตาประชาชนสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี พร้อมอธิบายว่าอิสราเอลมองว่าโซเลมานีเป็นบุคคลที่มีความอันตรายสูงสุดในอิหร่านและเป็นภัยคุกคามอิสราเอล
1
ทั้งนี้กลุ่มฮิซบุลลอฮ์เป็นพรรคการเมืองและกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ในเลบานอน โดยสหรัฐฯ และอิสราเอลกล่าวอ้างว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและซีเรีย ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นกลุ่มก่อการร้าย
แน่นอนว่าคนอิรักจำนวนไม่น้อยกลัวว่า การกระทำของทรัมป์ ที่ทำตัวเป็นอันธพาล สั่งฆ่าคนในบ้านคนอื่นหน้าตาเฉย และไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการดึงเอาอิรักเข้าไปสู่วงจรสงครามรอบใหม่ และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแบกแดดว่า กำลังชักศึกเข้าบ้าน สหรัฐใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการละเมิดอธิปไตยอิรัก อีกทั้งยังละเมิดข้อตกลงในการให้ทหารอเมริกันมาประจำการในประเทศอิรักอีกด้วย
มีมุมมองจากทั้งนักวิชาการด้านต่างประเทศ และสำนักข่าวต่างประเทศ ได้วิเคราะห์ถึงพัฒนาการของสงครามครั้งนี้ว่าอาจจะมีโอกาสเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียขึ้นมาอีกครั้ง แต่อาจจะไม่ลุกลามจนถึงขั้นเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ด้วยเงื่อนไขของประเทศมหาอำนาจโลกหลายไปเทศทั้งจีน รัสเซีย และยุโรป ต่างมีท่าทีไม่สนับสนุนและเข้าร่วมในการก่อให้เกิดสงคราม แต่ลักษณะสงครามที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จะเป็นลักษณะของสงครามตัวแทน จากทั้งประเทศที่สนับสนุนสหรัฐอย่างซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศที่อิหร่านให้การสนับสนุนเช่น เยเมน และซีเรีย โดยเป็นลักษณะการต่อสู้แบบกองโจรจากกลุ่มกบฏและกลุ่มติดอาวุธ
1
ฉะนั้นแล้วอิรักดูท่าว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดและลำบากใจที่สุด เพราะทั้งอิรักและอิหร่านต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดของรัฐบาลอิรักที่นำโดยมุสลิมชีอะห์ แต่ก็มีความสัมพันธ์กับสหรัฐในฐานะที่กองทัพอเมริกาเข้ามาตั้งอยู่ในประเทศของตัวเองและมีปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายกลุ่มไอเอส พร้อมกับเป็นครูฝึกฝีมือการรบให้กองทัพทหารอิรักเช่นกัน ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกพอสมควร
1
สุดท้ายมันจะดำเนินไปสู่สงครามหรือไม่นั้น ผมเชื่อว่ามันอาจเกิดขึ้นแน่นอน หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปิดฉากโจมตีก่อน แต่จะลุกลามบานปลายใหญ่โตไปมากกว่าสงครามภูมิภาคหรือไม่ ก็คงอาจจะไม่ เพราะหลายประเทศมหาอำนาจโลกเองก็ไม่พร้อมที่จะสู้รบรบมืออย่างเอาเป็นเอาตายอีกต่อไป เพราะลำพังประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาภายในจนเกือบเอาตัวเองไม่รอดเช่นกัน
โฆษณา