7 ม.ค. 2020 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ
5 ประเทศที่อยู่ในตะวันออกกลาง ส่งออกน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 5 ของน้ำมันดิบทั่วทั้งโลก
สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกน้ำมันดิบในปี 2018
ซาอุดีอาระเบีย 16.1% ของโลก
อิรัก 8.1%
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5.2%
คูเวต 4.6%
อิหร่าน 4.5%
แหล่งน้ำมันดิบสำคัญของภูมิภาคนี้ อยู่บริเวณโดยรอบอ่าวเปอร์เซีย
ซึ่งการขนส่งน้ำมันออกมาสู่ลูกค้าประเทศต่างๆ จะใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก
แต่การที่เรือจะเดินทางออกจากอ่าวเปอร์เซีย มาสู่โลกภายนอก จำเป็นจะต้องเดินทางผ่านจุดที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ “ช่องแคบฮอร์มุซ” (Strait of Hormuz)
ช่องแคบฮอร์มุซอยู่ตรงไหน แล้วใครเป็นเจ้าของ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในแง่ภูมิศาสตร์
ช่องแคบฮอร์มุซ เป็นช่องแคบที่กั้นระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน
มีรูปร่างเป็นตัว V ยาวประมาณ 167 กิโลเมตร ในช่วงที่แคบที่สุด กว้างเพียง 34 กิโลเมตร
ซึ่งหากเรือขนส่งเดินทางออกมาจากอ่าวเปอร์เซีย
จะต้องผ่านช่องแคบนี้ ก่อนออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
Cr. Business Insider
ผืนแผ่นดินฝั่งหนึ่ง เป็นดินแดนของโอมาน
ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง เป็นดินแดนของอิหร่าน
ในแง่ประวัติศาสตร์
คำว่า “ฮอร์มุซ” หมายถึง พระอหุระมาซดะ หรือเทพมาซดะ (Mazda)
ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของชาวเปอร์เซียโบราณ
Cr. Wikipedia
บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรฮอร์มุซ ก่อนจะเปลี่ยนผู้ปกครองมาหลายครั้ง
ทั้งโปรตุเกส จักรวรรดิเปอร์เซีย มาจนถึงอิหร่าน
ในปี 1982 นานาชาติได้ร่วมกันลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UNCLOS)
เพื่อให้องค์การสหประชาชาติมีอำนาจในการควบคุมเส้นทางการค้าในช่องแคบฮอร์มุซ
2
แต่อิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่มีกองกำลังทหารแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย
ไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้
จึงเท่ากับว่า อิหร่านอาจใช้ช่องแคบแห่งนี้เป็น “ข้อต่อรอง”
ให้อีกฝ่ายทำตามเงื่อนไขที่ต้องการ
ในแง่เศรษฐกิจ
มีการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซวันละ 15 ล้านบาร์เรล ในเดือนมิถุนายน 2019
คิดเป็นมูลค่าถึงวันละ 27,000 ล้านบาท
โดยการขนส่งน้ำมันดิบของประเทศกาตาร์ คูเวต บาห์เรน และอิหร่าน
จะต้องผ่านช่องแคบนี้ทั้งหมด
ในขณะที่น้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียและอิรัก 90% จำเป็นต้องขนส่งผ่านช่องแคบนี้
ส่วนการขนส่งน้ำมันดิบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ คิดเป็นสัดส่วน 75%
Cr. CNBC
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน
นำมาสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกาต้องการให้เศรษฐกิจของอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุด
แต่สำหรับอิหร่าน ซึ่งส่งออกน้ำมันเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
หากถูกกีดกันการค้าอย่างหนัก ก็อาจเหลือทางเลือกไม่มากนัก
หนึ่งในหนทางที่อิหร่านอาจตอบโต้ก็คือ “การปิดช่องแคบฮอร์มุซ”
ถ้าช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด จะเกิดอะไรขึ้น?
แม้อิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบเป็นสัดส่วนเพียง 4.5% ของโลก
แต่การขนส่งน้ำมันเกือบ 2 ใน 5 ของโลก
จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประเทศไทย ในปี 2019 ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 615,575 ล้านบาท
แม้ไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
แต่ในจำนวนนี้ นำเข้าจากประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย
คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าน้ำมันดิบทั้งหมด ดังนี้
นำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็น 28%
นำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย คิดเป็น 20%
นำเข้าจากกาตาร์ คิดเป็น 7%
นำเข้าจากคูเวต คิดเป็น 2%
หากเทียบเป็นสัดส่วนของน้ำมันดิบที่จำเป็นต้องขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ
ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบนี้เป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าน้ำมันดิบทั้งหมด
พูดง่ายๆ หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด
น้ำมันดิบกว่าครึ่งที่ประเทศไทยนำเข้าจะมีปัญหาในการขนส่ง
ซึ่งนอกจากประเทศไทย ประเทศอื่นทั่วโลกที่ต้องนำเข้าน้ำมันก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
Cr. CSIS
สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซในทันทีก็คือ
ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น
ถึงแม้ว่าราคาสูงขึ้น และเรามีเงินมากพอที่จะซื้อ แต่ถ้ามันขนส่งมาไม่ได้
เราก็อาจเกิดภาวะที่ขาดแคลนน้ำมันดิบ
ภาคการผลิต อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคขนส่งของประเทศไทยยังพึ่งพาน้ำมันเป็นพลังงานเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1
ในที่สุดภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยและทั่วโลกจะสูงขึ้น
เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางทั่วโลกก็จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อ
เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาคเอกชนที่ก่อหนี้ไว้ก็มีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น
และเมื่อไม่มีเงินมาจ่าย ธุรกิจอาจต้องปิดตัวตามๆ กัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจถดถอย
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย
แต่ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนาน
มันอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และตัวเรา
มากกว่าที่คิด..
1
โฆษณา