9 ม.ค. 2020 เวลา 09:25 • ครอบครัว & เด็ก
News...ของเล่นเด็กกับสารก่อมะเร็งพทาเลท (Phthalates)
ของเล่นเด็กกับสารก่อมะเร็งสารพทาเลท (Phthalates)
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สุ่มตรวจของเล่นเด็กจากห้างสรรพสินค้า ท้องตลาดและหน้าโรงเรียน พบว่า มีของเล่น 18 ชิ้น โดยเฉพาะกลุ่มตุ๊กตายางบีบ ปนเปื้อนสารพทาเลท (Phthalates) เกินมาตรฐานสากลสูงถึง 378 เท่าจากมาตรฐานสากล ที่น่าตกใจคือ พบสารพทาเลท (Phthalates) ทั้งของเล่นที่มีเครื่องหมาย มอก. และ ไม่มีเครื่องหมาย มอก.
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก ให้ข้อมูลว่า
สารพทาเลท (Phthalates) เป็นส่วนผสมที่ใช้กับพลาสติกชนิดพอลิไวนิลคลอไรด์ หรือ PVC เป็นสารที่ทำให้พลาสติกอ่อนตัว ทำให้ของเล่นที่มีสารชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นของเล่นที่มีลักษณะอ่อนนิ่ม บีบจับและนำเข้าปากง่าย
ของเล่นเด็กที่นำมาตรวจสอบสารพทาเลท
คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคของสหรัฐ มีคำสั่งห้ามการใช้สาร Phthalates สามประเภทในของเล่นเด็ก
เนื่องจาก เมื่อปี พ.ศ. 2553 นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมิกา พบว่า สาร Phthalates ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนของร่างกาย อาจทำให้เป็นโรคมะเร็ง และก่อผลเสียต่อการเจริญพันธุ์ได้
Richard Denison นักวิทยาศาสตร์อาวุโสขององค์กร Environmental Defense Fund กล่าวว่า สารพทาเลท (Phthalates) สามารถขัดขวางการเจริญเติบโตในตอนแรกเริ่มของคนเราได้ ซึ่งหมายความว่า เด็กเกิดใหม่นั้น รับถ่ายทอดสารเคมีมาจากมารดาในการติดตามภาวะสุขภาพประชาชนในอเมริกา พบว่า เด็กมีสารพทาเลท (Phthalates) สะสมในร่างกาย เนื่องจากสารชนิดนี้อยู่ในผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น สบู่ ยาสระผม ซึ่งจากการวิจัยกับสัตว์ทดลองในต่างประเทศ หากรับสารพทาเลท (Phthalates) เข้าไปจะมีผลต่อ
1. การทำงานของตับ
2. เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนเพศผิดปกติ
3. สารพทาเลท (Phthalates) บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
จึงได้ออกมาตรการควบคุมปริมาณสารพทาเลท (Phthalates) โดยเริ่มจากของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ให้มีสารพทาเลท (Phthalates) ได้ไม่เกินร้อยละ 0.1 แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณสารชนิดนี้
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า ก่อนหน้านี้มีการจัดทำร่างมาตรฐานของเล่น มอก. ที่ระบุการตรวจสอบและควบคุมปริมาณสารเคมีสารพทาเลท (Phthalates) ไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กและของใช้พลาสติกที่ผลิตและนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยยังมีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานสากลอยู่ จึงอยากให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมเร่งออกประกาศข้อบังคับควบคุมมาตรฐานสารพทาเลท (Phthalates) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ผู้ออกมาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการตรวจสอบหาสารพทาเลท (Phthalates) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งโดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารพทาเลท (Phthalates) สำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ และของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1%โดยมวล
ซึ่งหากการผลิตของเล่นมีการใช้สารพทาเลท (Phthalates) ที่มีคุณภาพต่ำ ก็มีโอกาสที่สารพทาเลท (Phthalates) จากพลาสติกจะหลุดออกมาและเมื่อมีการสัมผัสโดยตรงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สมอ.จึงต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้
นอกจาก “สารพทาเลท” ในของเล่นเด็ก ยังมีสารอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่น “สารโบรมีน” ซึ่งตรวจพบในของเล่น “รูบิก” ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเป็นอันตรายทำลายระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา (ไอคิว) ของเด็ก และยังก่อให้เกิดมะเร็งในตับ
ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรเลือกของเล่นที่มีมาตรฐาน สำหรับของเล่นพลาสติก หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง หรือมองหาฉลาก “ปลอดพีวีซี PVC - Free” หรือ “ปลอดสารทาเลต Phathalate - Free” ส่วนของเล่นไม้ ที่ใช้กาวเป็นส่วนประกอบ มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ ตะกั่ว และสารโลหะหนักอื่นๆ ควรเลือกของเล่นไม้แบบเรียบๆ ที่ไม่ได้ทาสีและเคลือบเงา หรือมีส่วนที่ติดกาวให้น้อยที่สุด
1
โฆษณา