11 ม.ค. 2020 เวลา 16:05 • ประวัติศาสตร์
ถนนเมืองบางกอก - จากสายน้ำสู่เมืองบก (1)
แต่ไหนแต่ไรมา วิถีชีวิตของชาวไทยผูกพันอยู่กับสายน้ำจนเรียกได้ว่าเป็น 'อารยธรรมแห่งชาวน้ำ' ดังจะเห็นได้จากการสร้างบ้านแปลงเมืองของชาวไทย มักจะเลือกชัยภูมิริมแม่น้ำใหญ่และขุดคูคลองเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายในการคมนาคม
ด้วยสภาพทางภูมิศาตร์ของบางกอก หรือ กรุงเทพมหานคร เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง การใช้ 'ถนน' เป็นการเดินทางหลักจึงไม่เอื้ออำนวย เพราะในฤดูฝนจะทำให้ถนนหนทางเป็นเลนตม สร้างความลำบากให้กับผู้ใช้มาก
การสร้างถนนขึ้นใช้ในกรุงเทพฯ สมัยก่อน จึงเป็นเพียงการใช้งานประกอบเกียรติยศของบ้านเมืองเท่านั้น เช่น ใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน และกระบวนแห่แหนในพระราชพิธีสำคัญ
ถนนสายแรกๆ ที่สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ จึงเกิดภายในพระบรมมหาราชวัง ได้แก่ ถนนอมรวิถี ถนนจักรีจรัล ถนนเขื่อนขัณธ์นิเวศน์
ตามธรรมเนียมการสร้างวังสมัยโบราณ ก็จะมีการสร้างถนนรอบพระราชวังด้วยเช่นกัน จึงเกิดถนนขึ้นอีก ได้แก่ ถนนหน้าพระลาน ถนนท้ายวัง ถนนมหาราช ถนนสนามไชย เป็นต้น
ถนนเหล่านี้ก่อให้เกิดทางเดินแคบๆ เชื่อมต่อไปยังเขตภายนอกพระราชวัง คือ ชุมชนการค้าต่างๆ เช่น ถนนเสาชิงช้า ถนนโรงม้า เป็นต้น แต่ถนนเหล่านี้ก็เป็นเพียงถนนดิน เมื่อถึงฤดูแล้งก็เต็มไปด้วยฝุ่น พอถึงฤดุูฝนก็เฉอะแฉะเป็นโคลนตม
จึงพูดได้ว่าถนนในกรุงเทพฯ สมัยแรกๆ นั้น ยังห่างไกลจาก 'ถนน' ที่เราเห็นในปัจจุบันมาก ซึ่งเป็นแบบที่รับมาจากตะวันตกโดยตรง
แล้วจุดเปลี่ยนของ 'ถนน' ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเมื่อใด?
โฆษณา