Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จิรัฏฐ์ จันทะเสน
•
ติดตาม
13 ม.ค. 2020 เวลา 16:22 • กีฬา
บทความ เรื่อง "เพชฌฆาตหน้าหยก" ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน
ตำนานยอดศูนย์หน้าตลอดกาลของวงการฟุตบอลเมืองไทย นักเตะผู้มีลีลาการยิงประตูที่เฉียบคม อีกทั้งลูกไขว้อันลือลั่น จนสร้างความประทับใจแก่คอลูกหนังแดนสยาม ในปัจจุบันยังคงครองสถิติดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของทีมชาติไทย ด้วยจำนวน 103 ประตู เจ้าของฉายา "เพชฌฆาตหน้าหยก"
ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2502 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนมาเติบโตจนเรียนจบมัธยม 3 ที่โรงเรียนศรีวิชัย จังหวัดนครปฐม ก่อนสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนจ่าอากาศ ในโควตานักฟุตบอลของสถาบัน
ในเส้นทางลูกหนังเมืองหลวง ฤดูกาลแรก เมื่อปี พ.ศ. 2522 ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ก็สามารถระเบิดสกอร์ได้ถึง 15 ประตู โดยช่วยให้สโมสรทหารอากาศครองชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนแห่งประเทศไทย ทำให้ถูกดึงขึ้นชั้นเล่นชุดใหญ่ของ “ทีมทัพฟ้า” ทันที เพื่อลงฟาดแข้งศึกลูกหนังชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ในฐานะแค่ตัวสำรอง แต่กลับซัลโวให้กับทีมต้นสังกัด รวม 2 ประตู การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก ประจำปี พ.ศ. 2523 ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน จึงได้รับโอกาสทอง เมื่อถูกส่งลงสนามแทน “อุเทน ตรีนาวา” ศูนย์หน้าตัวจริงที่เกิดอาการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นที่มาของฉายา "เจ้าหนูแข้งทอง" สมญานามแรกของเดอะตุ๊ก เพราะสามารถคว้าตำแหน่งดาวยิงประจำทัวร์นาเม้นท์ รวม 12 ประตู ต่อมา มีส่วนนำทัพสโมสรทหารอากาศเถลิงถ้วยพระราชทาน ก รวม 2 สมัย (พ.ศ. 2530, 2539)
ด้วยพรสวรรค์และทักษะการทำประตูแบบหวังผลอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ร้อนแรง ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน จึงถูกเรียกติดธงเยาวชนทีมชาติไทยชุดเดินทางไปแข่งขัน ณ ประเทศมาเลเซีย โดยมีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ สมปอง นันทประภาศิลป์, นราศักดิ์ บุญเกลี้ยง, ภักดี โชยะสิทธิ์, มาด๊าด ทองท้วม, เฉลิมวุฒิ สง่าพล, บุญนำ สุขสวัสดิ์, ศักดรินทร์ ทองมี ฯลฯ ก่อนที่ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน จะก้าวขึ้นสู่ทำเนียบทีมชาติไทยชุดใหญ่ ในรายการเพรสซิเด้นท์คัพ ณ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2524 ในขณะนั้นมี “โค้ชจอมคาถา” นายประวิทย์ ไชยสาม เป็นหัวหน้าสตาฟฟ์โค้ช พร้อมทั้งประเดิมสกอร์แรกทันที 1 ประตู ในแมตช์ ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติอินโดนีเซีย 3 - 1
ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 14 รอบชิงชนะเลิศ ณ สนามศุภชลาศัย ฯ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2424 ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติเกาหลีเหนือ 2 - 1 นักเตะผู้ทำประตูทั้งหมดของเกมส์ให้กับทีมธงไตรรงค์ คือนักฟุตบอลหมายเลข 9 “ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน” จนกลายเป็นที่มาของฉายาอันเป็นอมตะ "เพชฌฆาตหน้าหยก" และการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวบนสารบบทีมชาติไทย พร้อมกับความสำเร็จระดับชาติทัวร์นาเมนท์แรกของดาวซัลโวตลอดกาล
ในปี พ.ศ. 2525 ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยังคงสามารถโชว์ฟอร์มการเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม จนได้รับการคัดเลือกจากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC) ให้เป็น "ดาราเอเชีย" ในตำแหน่งกองหน้า นอกจากนี้ ยังต้องเดินทางไปแข่งขันลูกหนังนัดพิเศษ ทีมออลสตาร์ กับ สโมสรโบคาร์จูเนียร์ (อาร์เจนติน่า) ณ ประเทศมาเลเซีย โดยสามารถถล่มประตูทีมของ "เสือเตี้ย" ดีเอโก้ มาราโดน่า ได้อีกด้วย
ก่อนจะกลับมาเซ็นสัญญาเข้าสังกัดสโมสรลักกี้ โกล์สตาร์ ของประเทศเกาหลีใต้ เป็นเวลา 2 ปี ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ใช้ฝีเท้าขั้น “เทพ” สร้างชื่อเสียงจนสนั่นแดนโสม ก่อนคว้ารางวัลรองเท้าทองคำในฐานะดาวซัลโว พร้อมรางวัลนักฟุตบอลผู้ยิงประตูดีที่สุดของเคลีก เมื่อหมดสัญญากับต้นสังกัดเดิมแล้ว จึงกลับมาเล่นในเมืองไทยช่วงสั้น ๆ ก่อนขึ้นเครื่องไปโชว์เพลงแข้งในลูกหนังเล่นเอ็มลีก ให้กับสโมสรปาหัง ของประเทศมาเลเซีย แม้จะเกิดมรสุมครั้งใหญ่ในชีวิตลูกหนัง เมื่อรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลซีเกมส์ ครั้งที่ 15 (พ.ศ. 2532) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทีมชาติมาเลเซีย ชนะ ทีมชาติไทย 1 - 0 ทำให้ไม่ได้เข้าไปชิงเหรียญทอง พร้อมโดนข้อกล่าวหาว่า “เล่นไม่เต็มที่” แต่ในที่สุด จึงต้องมีการสาบานต่อพระแก้วมรกต
การลงสนามรับใช้ทีมชาติไทย ของปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 - 2540 ประสบความสำเร็จระดับชาติ 2 รายการ คือครองถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ รวม 5 สมัย (พ.ศ. 2524, 2525, 2526, 2532, 2535) และชนะเลิศเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ รวม 6 สมัย (พ.ศ. 2524, 2526, 2528, 2536, 2538, 2540) พร้อมสร้างสถิติการยิงประตูระดับชาติ รวมทั้งหมด 103 ประตู (ข้อมูล สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย) และเป็นการทำแฮททริก จำนวน 6 ครั้ง ในปัจจุบันยังคงเป็นสถิติสูงสุดของทีมชาติไทย
ตำนานหมายเลข 9 ของทีมธงไตรรงค์ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน จะแขวนสตั๊ดไปนานกว่าทศวรรษ แต่สำหรับแฟนฟุตบอลชาวไทยแล้ว ก็ยังคงไม่มีใครที่จะลืมลีลาการซัลโวประตูที่เร้าใจ และลูกไขว้อันลือลั่นของยอดศูนย์หน้าตลอดกาลคนนี้ไปได้ ตราบเท่าที่มีการกล่าวถึงฟุตบอลทีมชาติไทย.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย