Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จิรัฏฐ์ จันทะเสน
•
ติดตาม
14 ม.ค. 2020 เวลา 00:37 • กีฬา
บทความ เรื่อง "มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง" เฉลิมวุฒิ สง่าพล
เกมส์ฟุตบอลยุคปัจจุบัน นักเตะทุกคนมีส่วนสำคัญต่อผลการแข่งขัน โดยเฉพาะตำแหน่งกองกลาง ถือว่าเป็นขุมกำลังในการควบคุมพื้นที่กลางสนาม เพื่อความได้เปรียบของฝ่ายตนเอง ในขณะที่บางจังหวะอาจจะต้องขึ้นสูงช่วยทำประตูจากแถวสอง ในบรรดาเหล่ามิดฟิลด์ของทีมธงไตรรงค์ เขาคือคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น "ดาราเอเชีย" ของวงการฟุตบอลเมืองไทย
เฉลิมวุฒิ สง่าพล เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2501 ที่กรุงเทพฯ เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ (บางเขน) และมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา ก่อนได้รับวุฒิ คบ. วิทยาลัยครูพระนคร, ปกศ.ต้น วิทยาลัยครูจันทร์เกษม และภาคบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นอนุทินลูกหนังขณะอายุเพียง 10 ขวบ เนื่องจาก “ชวลิต สง่าพล” พี่ชายเป็นนักฟุตบอลตำแหน่งกองหลังทีมชาติ ช่วยฝึกสอนเบสิกพื้นฐานให้ "เจ้าหนุ่ย" จนประมาณ พ.ศ. 2515 เมื่อได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนปทุมคงคา "มหาอำนาจลูกหนังขาสั้น" จากย่านเอกมัย เฉลิมวุฒิ สง่าพล ลงเล่นทีมเดียวกับ ณรงค์ อาจารย์ยุตต์ และมาด๊าด ทองท้วม (ติดทีมชาติรุ่นเดียวกันทั้งหมด) ลงแข่งขันฟุตบอลกรมพลศึกษาชุดชนะเลิศตั้งแต่รุ่นเล็ก, รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ ใน พ.ศ. 2519
เฉลิมวุฒิ สง่าพล เข้าสังกัดสโมสรธนาคารกรุงเทพ โดยนำทีมคว้าถ้วย พระราชทาน ประเภท ค ความสำเร็จรายการแรกของตนเอง ก่อนจะร่วมกับพลพรรค "ตราบัวหลวง" อาทิ ศิริศักดิ์ แย้มแสง, ทวีวัฒน์ อัครเสลา, วิชัย ไวทยางกูร, ชลิต สัตตบรรณ, พิชัย คงศรี ฯลฯ ครองถ้วยชนะเลิศรายการสำคัญอีก 7 ทัวร์นาเมนท์ คือ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ประเภท ก รวม 4 สมัย (พ.ศ. 2524, 2527, 2529, 2537), ควีนส์คัพ (พ.ศ. 2525), F.A. CUP (พ.ศ. 2528), อาเซียน คัพ รวม 2 สมัย (พ.ศ. 2528, 2529), อากาข่าน คัพ ที่บังคลาเทศ (พ.ศ. 2526), โตโยต้า คัพ (พ.ศ. 2530) และซูเปอร์แชมป์ (พ.ศ. 2531) รายการสุดท้าย เป็นการนำทีมชนะเลิศรายการต่าง ๆ ของเมืองไทยเข้าร่วมชิงชัย
โดย เฉลิมวุฒิ สง่าพล สวมเสื้อติดธงผื้นแรกกับเยาวชนทีมชาติไทยชุดชนะเลิศแห่งอาเซี่ยน (พ.ศ. 2520) และสามารถพัฒนาฝีเท้าก้าวขึ้นสู่ทำเนียบทีมชาติชุดใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2522 เพื่อเดินทางไปแข่งขันฟุตบอล ปัค จุง ฮี คัพ (เพรสซิเด้นท์คัพ) ณ ประเทศเกาหลีใต้ รายการเดียวกันปีต่อมา วันที่ 29 สิงหาคม 2523 ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติมาเลเซีย 4 - 1 จึงมีชื่อเป็นทำประตูแรก (1 ประตู) ในนามทีมชาติสำเร็จ ระหว่างปี พ.ศ. 2524 - 2529
เฉลิมวุฒิ สง่าพล คือมิดฟิลด์หมายเลขหนึ่งของเมืองไทย เนื่องจากสามารถครองตำแหน่งกองกลางทีมชาติไทยอย่างถาวร ด้วยสไตล์การเล่นแบบใช้สมองและเปิดลูกที่แม่นยำ จนได้รับการขนานนามจากคอลูกหนังว่า "มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง" นอกจากนี้ “นายเอกชัย นพจินดา” (ย.โย่ง) หรือคัมภีร์ฟุตบอลไทยถึงกับตั้งสมญานามให้เป็น "เกลน ฮอทเดิ้ล เมืองไทย" (ฮอทเดิ้ล เป็นอดีตนักเตะมิดฟิลด์ของสโมสรสเปอร์และทีมชาติอังกฤษ ยุคทศวรรษ 80) เลยทีเดียว
สำหรับเกียรติประวัติระดับชาติของ เฉลิมวุฒิ สง่าพล เคยคว้าแชมป์คิงส์คัพ รวม 4 สมัย (พ.ศ. 2524, 2525, 2526, 2532) และชนะเลิศกีฬาซีเกมส์ รวม 3 สมัย (พ.ศ. 2524, 2526, 2528) นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยม ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, นักฟุตบอลรองเท้าทอง ของ ADIDAS และนักฟุตบอลยอดนิยม ของสื่อมวลชนสายข่าวกีฬา
การแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ ครั้งที่ 13 รอบชิงชนะเลิศ ณ สนามศุภชลาศัยฯ วันที่ 17 ธันวาคม 2528 ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติสิงคโปร์ 2 - 0 นั้น ผู้ทำทั้ง ๒ ประตูของเกมส์ คือ เฉลิมวุฒิ สง่าพล โดยเขากล่าวว่า "โค้ชชาวเยอรมัน มร.โบการ์ด ซีเซ่ รู้ดีว่าทีมสิงคโปร์คงจะต้องวางแผนประกบ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อย่างแน่นอน จึงมอบหน้าที่ให้ผมคอยหาจังหวะยิงประตูแทน และด้วยความช่วยเหลือของเพื่อน ๆ ผมทำได้สำเร็จนอกจากความภูมิใจ ที่สามารถช่วยให้ทีมไทยคว้าเหรียญทองในบ้านของเราเองแล้ว ยังทำให้เหรียญทองรวมของทีมนักกีฬาไทย ขึ้นเป็น ๙๓ เหรียญทอง ลบสถิติเก่าของอินโดนีเซียที่เคยทำเอาไว้อีกด้วย"
ภายหลัง สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC.) จึงพิจารณาคัดเลือกและประกาศให้ผู้เล่นกองกลางและกองหน้าของทีมชาติไทย คือ เฉลิมวุฒิ สง่าพล และพิชัย คงศรี เป็น "ดาราเอเชีย" ก่อนออกเดินทางเพื่อไปร่วมทีม ASIAN ALL STAR ลงแข่งขันนัดพิเศษ ณ ประเทศกาตาร์ เมื่อ พ.ศ. 2529 ในช่วงปลายชีวิตพ่อค้าแข้ง เฉลิมวุฒิ สง่าพล ยังคงได้รับความไว้วางใจจาก มร.คาร์ลอส อัลเบอร์โต้ คาวัลโย โค้ชชาวบราซิเลี่ยนให้ติดทีมชาติลงเล่นฟุตบอลสี่เส้าอินโดจีน กรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2532 ก่อนสามารถนำทัพสายเลือดใหม่คว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ เป็นทัวร์นาเมนท์สุดท้ายของการเล่นให้ทีมชาติไทย โดยการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา - ธรรมศาสตร์ นั้น เฉลิมวุฒิ สง่าพล ลงเล่นให้กับทีมลูกแม่โดม และประสบอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า ทำให้ต้องประกาศขอถอนตัวจากทีมชาติไทยชุดคิงส์คัพ ครั้งที่ 21 (พ.ศ. 2533) ภายหลัง จึงรูดม่านปิดฉากถนนลูกหนังทีมชาติไทย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2533
เฉลิมวุฒิ สง่าพล ผ่านทัวร์นาเมนท์สำคัญของทวีปเอเชียมาแล้วอย่างโชกโชน กว่า 10 ปี อาทิ ฟุตบอลเมอร์เดก้า ที่มาเลเซีย, เกรทวอลคัพ ที่จีน, ปรี-โอลิมปิก, ปรี-เวิลด์คัพ, เอเชี่ยน คัพ, เอเชี่ยนเกมส์ ฯลฯ พร้อมสถิติลงเล่นในนามทีมชาติไทย (พ.ศ. 2522 - 2532) ประมาณ 180 นัด และซัลโวสกอร์ระดับชาติ รวม 18 ประตู แต่ เฉลิมวุฒิ สง่าพล ยังคงลงสนามให้ทีมบัวหลวง ก่อนเข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนที่สำคัญ คือโค้ชขั้นสูง "ADVANCE" ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ต่อมาถูกขอยืมตัวไปเป็นผู้เล่นและโค้ชให้กับสโมสรยาสูบ โดยสามารถสร้างทีมจากถ้วยพระราชทาน ประเภท ข ไต่ชั้นขึ้นมาเล่นฟุตบอลไทยแลนด์ลีก ประจำปี พ.ศ. 2540 เป็นผลสำเร็จ หลังจากสร้างผลงานดังกล่าว เฉลิมวุฒิ สง่าพล จึงถูกดึงกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรธนาคารกรุงเทพ เมื่อ “วิทยา เลาหกุล” โค้ชคนเก่าต้องไปทำหน้าที่หัวหน้าสตาฟฟ์โค้ชทีมชาติไทย โดยรายการแรกก็นำสโมสรชนะเลิศ F.A. CUP ประจำปี พ.ศ. 2542 และอันดับ 3 "CUP WINNER CUP" ของทวีปเอเชีย พ.ศ. 2543
ในปัจจุบัน เฉลิมวุฒิ สง่าพล จะไม่ได้โลดแล่นบนสนามหญ้าเขียวขจี แต่ยังคงยืนหยัดด้วยมาดสุขุมอยู่ข้างสนามในฐานะของผู้ฝึกสอน นอกจากนำประสบการณ์ที่ผ่านมาถ่ายทอดให้กับนักฟุตบอลรุ่นหลัง เพื่อการเดินสู่เส้นทางสายทีมชาติ ดังเช่นอดีตดาราเอเชีย คนที่ 4 ของวงการลูกหนังเมืองไทย เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว นั้นเอง.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย