14 ม.ค. 2020 เวลา 11:36 • ประวัติศาสตร์
พระอานนท์เถระ ตอนที่1
ก่อนอื่นต้องขอเลือกประวัติพระอานนท์ก่อนนะครับ เพราะท่านเป็นเอตทัคคะคือผู้เป็นเลิศ5ประการ แต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ ด้านความจำเป็นเลิศ จนทำให้ศาสนาพุทธมีเรื่องราว และมีพระธรรม วินัย ให้สาธุชนได้ประพฤติปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน...
พระอานนท์ ก่อนจะผนวชนั้น ทรงเป็นเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ โดยท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดา พระมารดาของท่านทรงพระนามว่านางกีสาโคตมี พระอานนท์จึงถือว่าเป็นลูกผู้น้องของเจ้าชายสิทธัตถะ ตาม...คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี ระะบุว่าท่านประสูติวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ จึงเป็นหนึ่งในสหชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ คือ มารดาพระราหุล 1, พระอานนท์ 1, นายฉันนะ 1, กาฬุทายีอำมาตย์ 1, ม้ากัณฐกะ 1, ต้นมหาโพธิพฤกษ์ 1 และหม้อขุมทรัพย์ทั้ง 4 ขุม
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดา และพระญาติวงศ์ศากยะ ณ นครกบิลพัศดุ์ ในครั้งนั้นบรรดาศากยราชได้ทรงเลื่อมใสศรัทธา ต่างได้ถวายพระโอรสของตนให้ออกบวชตามเสด็จ ยังเหลือแต่ศากยกุมารบางพระองค์ อาทิ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัต ที่ยังมิได้ออกบวช
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงกบิลพัศดุ์พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น ศากยกุมารทั้ง 6 องค์ มีพระอานนท์ เป็นต้น รวมทั้งอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา ได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท และได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่อนุปิยอัมพวัน เขตอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ลำดับนั้น พระพุทธองค์โปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน แล้วให้ ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ
ท่านพระอานนท์ครั้นอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาธรรมจากสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร ไม่นานก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล เพราะได้ฟังธรรมจากพระปุณณมันตานีบุตร ซึ่งมีใจความว่า เพราะบุคคลยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5คือ รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเกิดตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า "เรามี" เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 จึงไม่เกิดตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า "เรามี" ...เมื่อบุคคลเข้าใจว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยงแล้วจึงจบกิจได้
ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2562
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ตรัสรู้แล้วถึง 20 พรรษา แต่ยังไม่มีผู้ใดเป็นพุทธอุปัฎฐากประจำ ซึ่งได้สร้างความลำบากแก่พระองค์เป็นอย่างมาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุผู้อุปัฏฐากพระองค์บางรูปทอดทิ้งพระองค์ไปตามทางที่ตนปรารถนา บางรูปวางบาตรจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไปเสีย จึงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ" คณะสงฆ์เห็นว่าควรจะมีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งคอยสนองงานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในครั้งนั้นพระสงฆ์ทั้งหลายนำโดยพระสารีบุตรมหาเถระ ได้กราบทูลขอเป็นพุทธอุปัฎฐาก แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย แม้พระเถระรูปอื่นๆ จะกราบทูลเสนอตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก แต่พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามเสียทุกรูป คงเว้นแต่พระอานนท์ที่มิได้กราบทูลด้วยถ้อยคำใด เหล่าพระภิกษุจึงได้ทูลให้พระอานนท์ขอโอกาสนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า...
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นข้าพเจ้าเลยกระนั้นหรือ? ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวข้าพเจ้าแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด"
ในกาลต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า "ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถให้ท่านพระอานนท์เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้หรอก แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง" เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก จึงให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์ท่าน
พระอานนท์จึงได้กราบทูลขอพร 8ประการ หากพระองค์ทรงประทานพร 8ประการนี้ ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก
ข้อ1.ขออย่าให้พระพุทธเจ้าประทานจีวรอันประณีตแก่ท่าน
ข้อ2.ขออย่าให้พระพุทธเจ้าประทานอาหารอันประณีตแก่ท่าน
ข้อ3.ขออย่าให้ท่านอยู่ในที่ประทับของพระพุทธเจ้า
ข้อ4.คือ ขออย่าให้พระพุทธเจ้าพาท่านไปยังที่นิมนต์ด้วย
ข้อ5.ที่พระอานนท์ขอคือหากท่านรับนิมนต์ที่ไหนไว้ก็ขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปตามนั้น
ข้อ6.เมื่อมีผู้ใดต้องการมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ขอให้ท่านมีโอกาสนำคนเหล่านั้นเข้าเฝ้า
ข้อ7.เมื่อพระอานนท์สงสัยในเรื่องใด ขอให้ท่านมีโอกาสได้กราบทูลถามปัญหาได้ทุกเมื่อ
และข้อสุดท้าย 8. ขอให้พระพุทธองค์นำหลักธรรมที่ไปเทศน์ที่อื่นกลับมาเทศน์ให้ท่านฟังทุกครั้ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร 8 ประการนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า "ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 1-4 ก็จักมีคนพูดได้ว่า ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น และเพื่อป้องกันท่านจากการกล่าวหา ท่านจึงได้ทูลขอพร 4 ข้อนี้ ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 5-7 ก็จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เลย และหากท่านไม่ทูลขอพรข้อ 8 เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน? ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาของพระองค์อยู่เป็นเวลานาน ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?
ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่พระอานนท์กราบทูลขอทุกประการ ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา 25 พรรษา
ตั้งแต่วันที่ได้ตำแหน่งอุปัฏฐาก ท่านพระอานนท์ก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้าคือ
1.ถวายน้ำ 2 อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
2.ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด
3.นวดพระหัตถ์และพระบาท (มือและเท้า)
4.นวดพระปฤษฏางค์ (หลัง)
5.ปัดกวาดพระคันธกุฏี
ไปไหนก็ไม่ไกลพระศาสดา คิดอยู่เสมอว่า เวลานี้พระศาสดาควรจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เราควรทำสิ่งนี้ๆ
 ในเวลากลางคืนท่านก็ถือด้านประทีปดวงใหญ่ เดินตรวจไปรอบๆบริเวณพระคันธกุฏีที่ประทับ ด้วยคิดว่า ถ้าเราง่วงนอน นอนหลับก็จะไม่อาจขานรับเมื่อพระศาสดาเรียกหาได้ ท่านจึงไม่ปล่อยด้ามประทีปจากมือตลอดคืนยันรุ่ง ด้วยเหตุนี้ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาแล้ว จึงไม่มีใครทำได้เสมอเหมือนท่าน
กุฎิพระอานนท์ ใกล้กับพระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏิ เมืองราชคฤห์
พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5ประการคือ
1.มีสติ รอบคอบ
2.มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
3.มีความเพียรดี
4.เป็นพหูสูต
5.เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมาก ความเป็นพหูสูตของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา กล่าวคือภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว มีภิกษุบางพวกกล่าวติเตียนพระศาสนา ทำให้พระมหากัสสปเถระเกิดความสังเวชในใจว่า ในอนาคตพวกอลัชชี(พวกนอกจารีต)จะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา จำต้องกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ จึงได้นัดแนะพระภิกษุสงฆ์ให้ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ 3 รูป ที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา กล่าวคือ
1.พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งได้รับประทานพรข้อที่ 8 ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย
“เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา.....” อันหมายถึง “ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า...”
2.พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักกรุงกบิลพัสดุ์ และออกบวชพร้อมศากยราชกุมาร ท่านได้จดจำพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่พระภิกษุทั้งหลาย และสรรเสริญพระวินัยและสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี ในการสังคายนาครั้งนี้ท่านจึงได้รับหน้าที่วิสัชชนาเกี่ยวกับพระวินัย
3.พระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นเลิศทางธุดงวัตรและเป็นผู้ชักชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย เป็นผู้ถามทั้งพระธรรมและพระวินัย
ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้งเดียว ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็น 15,000 คาถา โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น
ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ คือท่านเรียนจากพระพุทธองค์ 82,000 พระธรรมขันธ์และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก 2,000 พระธรรมขันธ์ แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา 8 เท่า คือคนเราพูด 1 คำ ท่านพูดได้ 8 คำ
ในตอนต่อไปจะเอารายละเอียด ในส่วนอื่นๆของพระอานนท์ มาแชร์อีก
ฝากติดตามด้วยนะครับบบ.....^^
โฆษณา