14 ม.ค. 2020 เวลา 11:32 • การศึกษา
📝 หนังสือบอกกล่าวทวงถาม
 
วัตถุประสงค์ในการทำหนังสือบอกกล่าว หรือหนังสือทวงถามนั้น ก็เพื่อทำการบอกกล่าวแจ้งสิทธิ ให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และทนายความมักจะออกหนังสือบอกกล่าวทวงถามก่อนฟ้องคดีทุกครั้ง โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ในการบอกกล่าวในครั้งนั้นว่าเป็นเรื่องใดและมีเหตุให้ต้องกำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา ด้วยหรือไม่ หากเป็นเพียงการแจ้งสิทธิให้คู่กรณีทราบตามขั้นตอน ก็ไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขลงไปในหนังสือ เช่น การแจ้งเตือนการครบกำหนดเวลาตามสัญญา ในการจัดทำหนังสือบอกกล่าวประเภทนี้ไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขเพราะเป็นการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น
แต่ถ้าเป็นการแจ้งสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด หรือ การแจ้งเตือนให้หยุดกระทำการหรือให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือการเรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญา ตลอดจนเป็นการแจ้งต่างๆก่อนการฟ้องคดีตามเงื่อนไขที่กฎหมายได้กำหนด เหล่านี้จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามลงในเอกสารดังกล่าวด้วย
✏หลักทั่วไปในการทำหนังสือบอกกล่าวทวงถาม
 
- การทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ทำในรูปแบบหนังสือราชการ
- ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ กระชับรัดกุม
- ไม่มีถ้อยคำหรือรูปแบบที่ต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ข้อห้ามในการทวงถามหนี้ตาม พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ. ศ. 2558 ฯลฯ
 
 
✏เนื้อหาสำคัญที่ควรต้องมีในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม
 
- นิติสัมพันธ์หรือนิติเหตุ เช่น มีสัญญาต่อกันอย่างไร หรือ เกิดเหตุละเมิดใดขึ้นอย่างไร
- เหตุโต้แย้งและความเสียหาย เช่น เกิดเหตุผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ตลอดจนเหตุแห่งความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นแล้ว หรือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีจำนวนค่าเสียหายเท่าใด
- ข้อบังคับและกรอบระยะเวลาที่กำหนดให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตาม เช่น กำหนดให้ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด หรือ กำหนดให้ชำระค่าเสียหายต่างๆ ทั้งนี้ ภายในกำหนดระยะเวลาใดเวลาหนึ่งตามสมควรหรือระยะเวลาตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
เนื้อหาข้างต้นนี้เป็นหลักการเบื้องต้นในการร่างหนังสือบอกกล่าว(ทวงถาม) ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านที่ประสงค์ร่างหนังสือบอกกล่าวด้วยตนเองได้ศึกษา
แต่อย่างไรก็ดี หากไม่มั่นใจในการร่างหนังสือว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ท่านสามารถติดต่อผู้รู้หรือนักกฎหมาย ตลอดจนทนายความใกล้บ้านเพื่อดำเนินการให้ก็ได้อีกทางหนึ่งค่ะ
⚖️ J.S.Law Office.
ทนายสุภาวดี(จุ๊ฟ)
โทร061-2708044. Line ID : jooplaw
"กฎหมายใกล้ตัวรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม"
โฆษณา