14 ม.ค. 2020 เวลา 15:16 • กีฬา
บทความ เรื่อง "จอมเหิรหาว" อัศวิน ธงอินเนตร
แฟนฟุตบอลชาวไทยหลายท่าน คงต้องเคยอยู่บนอัฒจันทร์ เพื่อชมเกมฟาดแข้งของเหล่าขุนพลนักเตะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อเวลา 90 นาทีจบลง บางครั้งเราคงนั่งเมอมองไปยังสนามหญ้าเขียวขจีที่ปราศจากการแข่งขัน ในขณะที่แสงสว่างจากสปอร์ตไลท์จะค่อย ๆ หรี่ดับลง ทีละดวง...ทีละดวง เพียงต้องการซึมซับความรู้สึกที่พึ่งผ่านพ้น ไม่ว่า "ทีมธงไตรรงค์" จะพ่ายแพ้หาก "ภาคภูมิใจ" หรือชัยชนะแต่ "หดหู่" เพราะภาพเหตุการณ์เหล่านั้น กำลังจะกลายเป็น "เสี้ยวหนึ่งแห่งตำนาน"
มีนักฟุตบอลทีมชาติไทยเพียงไม่กี่คน ที่ชื่อพวกเขายังคงกึกก้องอยู่ในความทรงจำของคอลูกหนังสยาม และอีกหลายร้อยคนเช่นกัน ที่อาจถูกลืมเลือนไปบ้างตามกาลเวลา ดังนั้น จึงจะขอย้อนเรื่องราวน่าสนใจของนักเตะทีมชาติไทยที่ได้รับคะแนนเสียงเอกฉันท์จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อประกาศยกย่องให้เป็น "นักฟุตบอลผู้ทรงคุณค่าในรอบศตวรรษ" เจ้าของตำแหน่งผู้รักษาประตูดาราเอเชีย "ALL STARS" คนแรกของ AFC. ถ้ากล่าวกันว่า "มิตร ชัยบัญชา" คือตำนานอมตะแห่งวงการภาพยนตร์ นามของ "อัศวิน ธงอินเนตร" จึงเปรียบเสมือนตำนานอมตะของวงการฟุตบอลไทย
อัศวิน ธงอินเนตร หรือเพื่อน ๆ ร่วมทีมชาติมักจะเรียกกันติดปากว่า "วิน" เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2480 บุตรคนที่สอง ในจำนวนพี่น้อง 8 คนของครอบครัวนายพิสิษฐ์ และนางบังอร ธงอินเนตร วัยเด็กอัศวินชอบเล่นกีฬาแทบทุกประเภท อาธร ธงอินเนตร ผู้เป็นน้องชายและอดีตนักฟุตบอลสโมสรธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า "อัศวินชอบทุ่มเทให้กับการแข่งขัน แม้แต่การฝึกซ้อมก็จะเล่นอย่างจริงจัง มีอยู่ครั้งหนึ่งก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย เคยต้องบาดเจ็บอย่างหนักเพราะการเล่นกีฬา" ด้วยความเป็นห่วงของมารดา จึงขอให้เขาสัญญาว่าจะหยุดเล่นกีฬาชั่วคราว จนกว่าจะเรียนจบ ม. 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ
อัศวิน ก้าวเข้าสู่รั้วลูกแม่โดม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2499 และเริ่มเดินบนเส้นทางกีฬาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกรีฑาประเภทลู่และลาน ด้วยรูปร่างสูงใหญ่พร้อมทั้งการสปิงข้อเท้าอันยอดเยี่ยม เขาก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลกีฬากระโดดสูงแห่งประเทศไทยมาคล้องคอสำเร็จ วิวัฒน์ มิลินทจินดา อดีตทีมชาติชุดโอลิมปิกและผู้ฝึกสอนทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2502 - 2508) ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เคยกล่าวว่า "ถ้าหากสมัยนั้น อัศวินไม่หันมาเล่นฟุตบอล ก็คงเป็นนักกรีฑาทีมชาติไปแล้ว"
เพราะกลิ่นสาปลูกหนังใน พ.ศ. 2504 ระหว่างการเตรียมทีมฟุตบอลประเพณีของธรรมศาสตร์ อัศวิน ได้นั่งเฝ้าติดตามการฝึกซ้อมของเหล่าบรรดาขุนพลนักเตะท่าพระจันทร์ ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ อดีตทีมชาติชุดเมลเบิร์นและประธานชมรมลูกหนังธรรมศาสตร์ รำลึกความหลังให้ฟังว่า "อัศวินเดินมาบอกกับผมว่าอยากเล่นฟุตบอล และขอเล่นเป็นกองหน้า แต่ผมเห็นว่าเขาตัวใหญ่และสูงกว่า 180 จึงแนะนำให้เล่นตำแหน่งผู้รักษาประตูจะดีกว่า" และส่วนหนึ่งที่ทำให้ อัศวิน ธงอินเนตร สามารถผ่านการคัดเลือกจนติดทีมเหลืองแดงในตำแหน่งนายทวาร ซึ่งผลการแข่งขัน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ทีมธรรมศาสตร์เสมอจุฬาฯ 1 - 1
หลังจากนั้น อัศวิน จึงตัดสินใจเลือกที่จะเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง เมื่อเข้าร่วมสังกัดทีมธนาคารกรุงเทพที่พึ่งเริ่มก่อตั้งสโมสร โดยมี สำรวย (สำเริง) ไชยยงค์ อดีตสตาฟฟ์โค้ชเยาวชนของสมาพันธ์ฟุตบอลเยอรมันเป็นผู้ฝึกสอน และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 อัศวิน ธงอินเนตร ขณะมีอายุ 25 ปี จึงสามารถคว้า "ธงไตรรงค์" มาติดหน้าอกเสื้อได้สำเร็จ เพื่อเดินทางไปแข่งขันลูกหนังฉลองเอกราชเวียดนามใต้ เป็นเกียรติประวัติรายการแรกของตนเอง
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 มูลนิธิอานันทมหิดลจัดแข่งขันฟุตบอลการกุศล นัดที่ถือว่ายิ่งใหญ่ของวงการลูกหนังเมืองไทยสมัยนั้น เพราะเป็นการพบกันระหว่างสโมสรทหารอากาศแชมป์ถ้วยใหญ่ 7 ปีซ้อน (พ.ศ. 2500 - 2506) ที่มีนักเตะดังอย่าง เล็ก อมฤตานนท์, ปราณีต ปราณีตบุตร, ล้วน พันธ์งาม, ประกอบ รัศมีมาลา, นักรบ โพธิ์แสง, ทองหล่อ เจริญเดช, ยรรยง นิลภิรมย์ ฯลฯ และทีมธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้เล่นดาวรุ่งอนาคตไกล อาทิ อัศวิน ธงอินเนตร, อัษฎางค์ ปาณิกบุตร, ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง, สมศักดิ์ อ่อนสมา, ยรรยง ณ หนองคาย, ประเดิม ม่วงเกษม เป็นต้น นอกจากนี้ ที่สำคัญเป็นการแข่งขันหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระรามาธิบดีแห่งมาเลเซีย อีกด้วย ก่อนสโมสรบัวหลวงจะพลิกชนะลูกทัพฟ้า 5 - 1 โดยตลอดการแข่งขัน อัศวินได้รับเสียงปรบมือจากแฟนฟุตบอลรอบสนาม เมื่อสามารถพุ่งลอยตัวอยู่ในอากาศเพื่อป้องกันลูกอันตรายไว้ได้หลายครั้งด้วยกัน และภายหลังเกมยังได้รับคำชมจากบรรดานักข่าวหนังสือพิมพ์เกือบทุกสำนัก
ต่อมา เมื่อสโมสรธนาคารกรุงเทพส่งทีมเข้าแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานเป็นสมัยแรก และชนะเลิศถ้วยน้อยประจำปี 2506 (สมัยนั้นมีแค่ถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย) ก่อนจะขึ้นมาคว้าถ้วยใหญ่ในปี พ.ศ. 2507 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของอัศวิน ธงอินเนตร กับทีมจากย่านบางนา
ในขณะที่ผลงานระดับชาติ ทีมชาติไทยเกือบจะกลายเป็นตัวแทนทวีปเอเชียไปเล่นฟุตบอลโอลิมปิก รอบ 16 ทีมสุดท้าย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ค.ศ. 1964) เมื่อปรี-โอลิมปิก รอบแรก ขุนพลนักเตะสยามสามารถสยบทีม "เสือเหลือง" มาเลเซียแชมป์เมอร์เดก้าหลายสมัยมาได้อย่างหวุดหวิด (1 - 1, 3 - 2) โดยส่วนหนึ่งจากฝีมือการป้องกันประตูของอัศวิน ธงอินเนตร ทำให้ทีมไทยต้องพบกับเกาหลีเหนือ เพื่อคัดอีกเพียงทีมเดียว แต่เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่มีสัมพันธ์ด้านการทูตระหว่างกัน FIFA จึงกำหนดให้แข่งขันสนามชาติเป็นกลาง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507 ณ สนามอองซาน ประเทศพม่า แม้ว่านักเตะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะปราชัยผู้เล่นโสมแดงทั้งสองนัด (0 - 2, 0 - 5) หากคือการจุดประกายความหวังของวงการลูกหนังสยาม เพราะอีก 2 ปีต่อมา ทีมเกาหลีเหนือชุดดังกล่าว คือทีมแรกของทวีปเอเชียที่สร้างประวัติศาสตร์ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก ค.ศ. 1966 ณ ประเทศอังกฤษ นั้นเอง
แม้ว่าปีถัดมา ทีมธนาคารกรุงเทพจะประกาศขอถอนทีมจากรอบชิงชนะเลิศ เพื่อต้องการแสดง "น้ำใจนักกีฬา" เนื่องจากกรณีการแข่งขันแบบพบกันหมดนัดสุดท้าย ที่มีผลให้สโมสรทหารอากาศตกรอบแรก และทำให้ทีมตำรวจครองถ้วยใหญ่สมัยแรกใน พ.ศ. 2508 แต่รางวัลนักเตะเสื้อสามารถของสมาคมฟุตบอลฯ ตกเป็นของอัศวิน ธงอินเนตร
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2508 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค SK2469 นายกสมาคมฯ จึงได้ส่งผู้เล่นทีมชาติไปเก็บตัวฝึกซ้อม เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ ณ ทวีปยุโรป โดยทีมไทยลงสนามทั้งหมด 12 นัด และแมตช์หนึ่งที่ถูกกล่าวขานถึง คือวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2508 ทีมไทยลงสนามพบสโมสรไรน์เดอร์ ซาเซ่นคลับ 05 (N.S.C. 05) ทีมอันดับ 5 ทางตอนเหนือของเยอรมัน ในขณะที่เกมกำลังเข้มข้นและดุเดือด ทีมเยือนต้องเสียลูกจุดโทษ นักเตะเยอรมันยิงเต็มแรงแต่ปรากฎว่า อัศวิน ธงอินเนตร สามารถสปิงตัวพุ่งปัดบอลออกไปได้ ท่ามกลางสายตาชื่นชมของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับเสียงปรบมือลั่นสนามเมืองกอต์ททิงเก้น (GOTTINGEN) ก่อนทีมไทยจะชนะสโมสรซาเซ่นคลับ 3 - 1
นายพิสิษฐ์ งามพานิช อดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯ ขณะนั้นเดินทางไปในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทีม กล่าวว่า "อัศวิน สามารถโชว์ฟอร์มได้เด่นมาก จนสโมสรหลายแห่งสนใจในตัวเขา ทั้งที่เขาได้ตอบปฏิเสธไปแล้ว แต่เมื่อกลับมาจากเยอรมัน ก็ยังมีจดหมายสัญญาการเล่นอาชีพและระบุเงินเดือน ๆ ละ 8,000 บาท ส่งมาที่สมาคมฟุตบอลฯ เพื่อให้ช่วยติดต่อกับอัศวิน
ฟุตบอลเมอร์เดก้า ครั้งที่ 9 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 ด่านทดสอบรายการแรกของทีมไทยหลังกลับจากยุโรป ถึงแม้ว่าจะไม่ผ่านถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย แต่สร้างผลงานดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา คือทีมไทยชนะเกาหลีใต้ 3 - 2 แพ้ ทีมไต้หวัน 2 - 3 (แชมป์ของทัวร์นาเม้นต์ร่วมกับเกาหลีใต้ 1 - 1) เสมอ ทีมพม่า 1 - 1 (ทีมอันดับ 1 ของเอเชียระหว่าง พ.ศ. 2500 - 2515) และ เสมอ ญี่ปุ่น 0 - 0 หนังสือพิมพ์ของมาเลเซีย ได้ลงตีพิมพ์ข่าว อัศวิน ธงอินเนตร นายทวารไทยสามารถช่วยเซฟประตูอย่างยอดเยี่ยมให้ทีมรอดพ้นจากความปราชัยมาเกือบทุกนัด ในขณะที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC.) ยังได้ทำการคัดเลือกและประกาศนักเตะยอดเยี่ยมแต่ละตำแหน่ง จำนวน 16 คน (สำรอง 5 คน) โดยตำแหน่งผู้รักษาประตู "ALL STAR" คนแรกของทวีปเอเชีย คืออัศวิน ธงอินเนตร นักฟุตบอลทีมชาติไทย
อัศวิน ธงอินเนตร เป็นนายทวารที่มีความกล้าตัดสินใจ ไม่เคยกลัวต่อการต้องเข้าปะทะกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อปกป้องลูกไม่ให้กระทบตาข่าย นอกจากนี้ยังสามารถอ่านเกมการเล่นได้เป็นอย่างดี และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือมีจิตวิทยาในการกระตุ้นเพื่อนร่วมทีม เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ ให้กลับมาพลิกเกมจนชนะได้หลายครั้ง ที่ทีมไทยต้องเผชิญแข้งกับทีมระดับแนวหน้าของเอเชียยุคนั้น เช่นพม่า, อินโดเซีย, เวียดนามใต้ และมาเลเซีย ซึ่งสมาคมฟุตบอลของแต่ละชาติดังกล่าว จะใช้โค้ชชาวยุโรปควบคุมทีม
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 อัศวิน ธงอินเนตร ได้เข้ารายงานตัวกับสมาคมฟุตบอลฯ เพื่อเตรียมทีมสู้ศึกลูกหนังแหลมทอง ครั้งที่ 3 โดยความตั้งใจของอัศวิน คือการคว้า "เหรียญทอง" กับทีมชาติไทย ก่อนจะอำลาสนาม เพราะ "เซียพเกมส์" เป็นทัวร์นาเม้นต์เดียว ที่อัศวินยังไม่เคยลงสัมผัสบรรยากาศแห่งศักดิ์ศรี เกมของชาติเอเชียตะออกเฉียงใต้มาก่อนเลย เนื่องจากตามวาระแล้วกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 จะต้องจัดให้มีขึ้นใน พ.ศ. 2506 แต่ประเทศเขมรอ้างความไม่พร้อมด้านต่าง ๆ ทำให้ต้องงดการแข่งขัน และเว้นช่วงนานถึง 4 ปีเต็ม
ภายหลังการอุ่นเครื่องอย่างเป็นทางการ ณ สนามศุภชลาศัยฯ ทีมชาติไทยชนะทีมชาติเวียดนามใต้ชุดแชมป์ฉลองเอกราชครั้งล่าสุด ด้วยสกอร์ 2 - 1 ผ่านไปได้เพียง 3 วัน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ทีมชาติไทยลงสนามซ้อมกับสโมสรธนาคารกรุงเทพ ณ สนามบางนา และใน น. 15 ของการแข่งขัน อัศวิน ธงอินเนตร พุ่งตัวออกไปเพื่อทำหน้าที่ป้องกันประตูจากกองหน้าฝ่ายตรงข้าม แต่ทว่าเกิดปะทะกันอย่างแรงโดยไม่ได้ตั้งใจ อัศวินนอนนิ่งอยู่บนกรอบสี่เหลี่ยมหน้าเขตประตู ท่ามกลางความตกใจของเพื่อนนักฟุตบอลสองทีม ต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และช่วยกันนำร่างของเขาส่งโรงพยาบาล แต่ปรากฎว่าไม่ทันการณ์เสียแล้ว ในเช้าวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างลงข่าวการเสียชีวิตของ "ดาราเอเชีย" อัศวิน ธงอินเนตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 พาดหัวข่าวหน้ากีฬาว่า "วงการฟุตบอลสูญเสียครั้งใหญ่ ไม่มีไทยในทีมดาราเอเชียแล้ว"
รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลแหลมทอง ครั้งที่ 3 วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ทีมชาติไทยเสมอกับทีมชาติพม่า 2 - 2 ทำให้ครองเหรียญทองร่วมกันเป็นสมัยแรก พลเอก ประเทียบ เทศวิศาล อดีตผู้ฝึกสอนทีมชาติชุดดังกล่าว เปิดเผยว่า "ก่อนลงสนามวันชิงกับทีมพม่า พวกเราทุกคนต่างระลึกถึง อัศวิน ธงอินเนตร ทำให้นักฟุตบอลต่างก็มีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น จึงพยายามเล่นกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อชื่อเสียงของประเทศไทยและความตั้งใจของอัศวิน ก่อนที่เขาจะจากพวกเราไป คือเหรียญทอง จนพวกเราสามารถชนะเลิศเป็นผลสำเร็จ"
ในหนังสือที่ระลึกวันพระราชทานเพลิงศพ อัศวิน ธงอินเนตร มารดาของเขาเขียนไว้ว่า "ลูกรัก สัญญาระหว่างเราแม่ลูกในปี 2508 ลูกของแม่ทำตามสัญญาจนครบ แต่แม่ก็ไม่มีลูกอยู่ในโลกนี้เสียแล้ว ลูกเคยพูดกับแม่ว่าจะเลิกเล่นในปี 2508 นี้ และลูกย้อนถามแม่ว่าลูกจะเลิกเล่นฟุตบอลแม่ดีใจไหม แม่ก็ไม่คิดว่าลูกจะเลิกแบบที่ประสบอยู่นี้ ลูกรักอีกไม่นานเราคงได้พบกัน ถึงวันนั้นแม่คงเป็นสุข การอยู่ของแม่ทุกวันนี้ทรมานจิตใจเหลือเกิน แม่แทบทนไม่ได้อยู่แล้ว" อีก 3 ปีต่อมา เดือนตุลาคม พ.ศ. 2511 นางบังอร ธงอินเนตร ก็เสียชีวิตลงในขณะที่กำลังติดตามเรื่องขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุตรชายคนโตของตระกูล "ธงอินเนตร"
แม้ว่าช่วงชีวิตของ อัศวิน จะมีวันและเวลาแสนสั้น หากแต่ชื่อเสียงและเรื่องราวของเขา ยังคงคอยย้ำเตือนนักฟุตบอลรุ่นหลัง ให้ก้าวลงสู่สนามด้วยความภาคภูมิใจและเดินออกจากสนามอย่างสมศักดิ์ศรี ตราบที่มีตราสัญญลักษณ์ "ธงไตรรงค์" ติดอยู่บนหน้าอกเสื้อ และร่วมกันสร้าง "เกียรติภูมิของทีมชาติไทย" ให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก แล้วพวกท่านจะไม่มีวันตายไปจากความทรงจำของวงกาลลูกหนังเมืองไทยตลอดกาล ดังเช่นตำนานอมตะของอัศวิน ธงอินเนตร.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ
โฆษณา