Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Jamez Shengzu 聖祖
•
ติดตาม
15 ม.ค. 2020 เวลา 08:00 • ประวัติศาสตร์
ฌิจี้กวง...ขุนพลผู้สยบโจรสลัดญี่ปุ่นแห่งต้าหมิง
จักรวรรดิจีนสมัยราชวงศ์หมิง ในอาณาจักรญี่ปุ่นนั้นอยู่ในยุคมุโรมะจิ { 室町時代 ; Muromachi } สมัยแห่งความแตกแยกระหว่างราชสำนักฝ่ายเหนือ-ฝ่ายใต้ มีรัฐบาลโชกุนนำโดยตระกูลอาชิกางะ { 足利幕府 ; Ashikaga bakufu } แล้วต่อด้วยยุคเซ็นโกคุ { 戦国時代 ; Sengoku } ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งลี้ภัยสงครามแลปัญหาทางการเมืองไปร่อนเร่ตามเกาะต่างๆ กลางทะเล หลังราชวงศ์ใต้ของญี่ปุ่นถูกราชวงศ์ฝ่ายเหนือผนวกเข้าด้วยกันแล้ว กลุ่มนักรบศักดินาสมคบคิดกับพวกพ่อค้าผิดกฎหมาย ตั้งพรรคพวกเข้าระรานอธิปไตยบริเวณชายฝั่งของจีน หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “วอโค่ว { 倭寇 ; Wo Kou }” แปลว่า ‘โจรไอ้ยุ่น’ ในอาณาจักรสุโขทัย รัชสมัยกษัตริย์พ่อขุนรามคำแหง มีเอกสารกล่าวถึงราชทูตจากดินแดนสุวรรณภูมิไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนแล้วแวะที่ท่าเรือบนเกาะญี่ปุ่น มีการเรียกถึงกลุ่มโจรสลัดพวกนี้ว่า “วาโก้ { わこう ; Wakō }” นอกจากนั้นกลุ่มวาโก้หรือวอโค่วยังเป็นผู้นำถ้วยชามสังคโลกจากกรุงสุโขทัยไปเผยแพร่ ณ อาณาจักรญี่ปุ่นอีกด้วย ผ่านพ่อค้าจีนและดัตช์ (ฮอลันดา , วิลันดา : เนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน)
ฌิจี้กวง ตัวเอกของเรื่อง มีชื่อจีน (courtesy name) ว่า “หยวนจิ่ง” และสมญานาม (art name) ว่า ‘หนานถัง’ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1528 ณ เมืองเติงโจว ตรงกับปีเจียจิ้งที่ 7 รัชสมัยจักรพรรดิหมิงซื่อจง หรือฮ่องเต้จูโฮ่วชง ตระกูลของเขารับใช้เบื้องยุคลบาทตั้งแต่บรรพชน เริ่มที่ “ฌิเสียง” ขุนศึกคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้จูหยวนจางสามารถสถาปนาจักรวรรดิต้าหมิงขึ้นมาได้ มาถึงผู้สืบทายาทรุ่นที่ 4 “ฌิจิ่งทง” เขาได้รับความไว้วางใจจากราชสำนัก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารภาคมณฑลซานตง [ Shandong ; 山东 ] โดยฌิจี้กวงเป็นบุตรของฌิจิ่งทง ถ้านับวงศาคณาญาติแล้วเขาเป็นทายาทรุ่นที่ 5 หรือ “ลื่อ (โหลน)” นั่นเอง
บิดาของฌิจี้กวงถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุได้ 17 ปี ในปีเจียจิ้งที่ 23 ค.ศ. 1544 ทางการพิจารณาเห็นพ้องแล้วว่าเขานั้นมีสายเลือดนักรบเฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ เป็นชายชาติทหารที่แท้ทรู แม้ยังเยาว์วัยแต่ก็มีความรับผิดชอบสูง เขารับตำแหน่งเว่ยจื่อฮุยเชียนซื่อ สืบทอดจากบิดา มีหน้าที่คอยปราบพวกโจรสลัดทะเลจีนภาคเหนือ
ก่อนที่ฌิจิ่งทงจะลาโลก มิตรสหายของเขาได้ถามไว้ว่า....ตระกูลฌิ เป็นข้ารับใช้ราชสำนักมานาน ไยถึงมิได้มีสมบัติพัสถานเฉกเช่นข้าราชการชั้นสูงในรุ่นราวคราวเดียวกัน แล้วจะเหลือมรดกอะไรให้ทายาทสืบต่อไปล่ะ เขาตอบด้วยความทระนงว่า สิ่งที่เหลือไว้ให้สืบไปนั้นก็คือแผ่นดินจีนที่ลูกหลานต้องมีรักษาเอาไว้ไง ฌิจี้กวงยึดมั่นในคำสอนของพ่อ เมื่อรับตำแหน่งก็โชว์พาว มีความชอบในการกำราบโจรสลัดโปรตุเกสที่เป่ยไห่ สามารถล่มเรือพวกฝรั่งหลายลำที่ท่าเรือหนิงปอ [ Ning bo ; 宁波 ]
ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ในปีเจียจิ้งที่ 32 ฌิจี้กวงพบปัญหาหนักใจเพราะเผชิญกับการต่อต้านของพวกหัวโบราณคร่ำครึซึ่งโต้โผไม่ใช่ใครอื่นก็คือ น้าชายของเขาเอง แม่ทัพหนุ่มสั่งกักบริเวณน้าตัวเองอย่างไม่ไว้หน้าแต่ลับหลังก็ไปขอขมาลาโทษที่ล่วงเกิน เพราะมีความจำเป็นต่อการบังคับบัญชาเหล่าทหารทั้งหลาย
2 ปีต่อมา ราชสำนักย้ายให้เขาไปประจำตำแหน่ง ณ มณฑลเจ้อเจียง ทางตอนใต้เพื่อบัญชาการศูนย์สงครามส่วนหน้า พวกโจรสลัดวอโค่วเข้าคุกคามเขตเมืองเซ่าซิ่ง ไถโจว แต่แล้ว ทุกอย่างไม่ได้ง่ายดายเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ กองกำลังของฌิจี้กวงก็ประสบกับกลุ่มชาวบ้านที่ไม่พอใจราชสำนักเป็นทุนเดิม ประกาศตนเป็นอิสระ ตั้งชุมโจรที่ปะทะกับทหารอยู่บ่อยครั้ง รังโจรอยู่ที่ภูเขาปาเป่าซาน ตำบลอี้อู มีกำลังถึง 4000 คน ฌิจี้กวงแก้ปัญหาโดยการเดินทางไปฐานที่มั่น จับเข่าพูดคุยเกลี้ยกล่อมให้เห็นถึงประโยชน์ต่อส่วนรวม ผลประโยชน์ของชาวจีนด้วยกันเองทั้งนั้น พร้อมรับปากว่าทหารหลวงในบังคับของตนจะไม่ข่มเหงราษฎรเป็นอันขาด ในที่สุดแกนนำโจรก็เข้าสวามิภักดิ์กับฌิจี้กวง ได้มาเป็นกำลังหนุนสำคัญอย่างยิ่งยวด
ฌิจี้กวง ใช้ยุทธวิธี “ยวนยางเจิ้น” โดยใช้ 12 คนประกอบขึ้นเป็นหน่วยรบ 1 หน่วย มีหัวหน้าหมู่พร้อมทั้งพลปืนไฟ แบ่งกันถืออาวุธยาว-สั้นตามความสามารถตน เขาคัดแยกทหารตามสภาพสังขาร กล่าวคือ ผู้ที่มาจากฝูเจี้ยน มักเป็นคนกำยำแข็งแรง ก็ให้ใช้โล่เขนขนาดใหญ่และทวนยาว ชาวกว่างตง (กวางตุ้ง) ถนัดใช้ดาบใหญ่ ชาวเหอหนานเหมาะกับหอกสั้น คอยประจัญบานกับพวกกลุ่มโจรสลัดวอโค่ว ในกระบวนทัพ ให้พลปืนไฟเปิดฉากระดมยิงก่อน เมื่อข้าศึกประชิดมาก็เปลี่ยนเป็นพลธนู ครั้นระยะเห็นตัวก็ใช้หน่วยทวนยาว จากนั้นค่อยตะลุมบอนกับหน่วยอาวุธสั้น ในโอกาสเดียวกัน เขาได้สรรหาอาสาสมัครจากชาวประมงระดมสร้างเรือรบใหญ่เล็กกว่า 40 ลำ ช่วยประสานทั้งภาคพื้นดินและพื้นน้ำไปด้วยกัน สร้างชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน จนมีฉายาว่า....ฌีเจียจวิน-กองทัพตระกูลฌี
กองทัพฌีเจียนี้ได้หมุนเวียนกันไปในสมรภูมิชายฝั่งตามมณฑลฝูเจี้ยน เจ้อเจียง กวางตุ้ง
1
ค.ศ. 1561 ปีเจียจิ้งที่ 40 โจรสลัดวอโค่วยกพลเป็นจำนวนถึง 20000 คนพร้อมเรือรบ เข้าปล้นสะดมเมืองเวินโจว เมืองไถโจว แถบตะวันออกของเจ้อเจียง ฌิจี้กวงรีบนำกำลังพลสู้รบกันอย่างดุเดือด เข่นฆ่าโจรสลัดญี่ปุ่นตายไปถึง 1400 คน ผู้คนถูกเผาตายแลจมน้ำหายมีมากนับไม่ถ้วน เป็นเวลาเดือนกว่า ‘รบ 9 ครั้ง ชนะ 9 ครั้ง’ กลุ่มวอโค่วพบกับความสูญเสียหนักหนาสาหัส จึงเบนเข็มไปก่อความวุ่นวายทางใต้อีก ณ มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) สร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรชาวจีนตามชายฝั่งเมืองฝูซิง ฝูอาน ฝูหนิง หนิงเต๋อ หย่งหนิง โจรวอโค่วตั้งชุมโจรอยู่ที่เกาะเหิงอวี่ ยากต่อการเข้าโจมตี ทางการส่งแม่ทัพหลายคนไปทลายรังโจรแต่ก็ปราชัยทุกครั้งไป จึงต้องมีคำสั่งถึงฌิจี้กวงให้มาทำหน้าที่แม่ทัพปราบญี่ปุ่นในครานี้
ฌิจี้กวงนำกองทัพฌิเจียกว่า 6000 คน เดินทางมาถึงเมืองหนิงเต๋อในเดือน 7 ระยะทางประมาณ 300 หลี่ (ลี้ ; 1 ลี้ เท่ากับ 500 เมตร) จากเจ้อเจียงมายังฝูเจี้ยน เขาแบ่งกองกำลังเป็น 2 สาย สายแรกให้ก่อกวนข้าศึกทางด้านข้าง ส่วนอีกสาย ฌิจี้กวงจะนำทัพเองคอยบุกจากด้านหน้า เขาวางแผนให้ทหารบกเป็นหน่วยหลัก ทหารเรือเป็นกำลังเสริม การที่เขาเลือกใช้ทหารบกนับเป็นไม้เด็ด เพราะพื้นเพเหล่าทหารหาญนั้นก็คือชาวนา ย่อมคุ้นชินกับการลุยโคลนปลูกข้าว เมื่อเปลี่ยนมารบทัพจับศึก ย่อมมีความสามารถเฉพาะบางอย่างที่เป็นประโยชน์ ทัพบกฌิเจียมีการบรรทุกหญ้าฟางไปด้วย ใช้ฟางแห้งปูทางไปตามโคลนเลน ค่อยๆ บรรจงเคลื่อนทัพอย่างไม่กระโตกกระตาก
ช่วงเวลานั้นอยู่ในฤดูใบไม้ร่วง ใกล้กับเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ กลุ่มวอโค่วคอยตระเตรียมเฉลิมฉลองอย่างรื่นเริง โดยไม่เอะใจสักนิดว่า มัจจุราชกำลังจะมาเยือนถึงที่แล้ว
กว่าโจรสลัดญี่ปุ่นจะรู้ตัว ทหารฌิเจียก็รุกพรวดโจมตีไล่ฆ่าอย่างสนุกมือ สุราอาหารเครื่องเซ่นที่พวกญี่ปุ่นได้เตรียมไว้ กลายเป็นเสบียงสำหรับกองทัพฌิเจียผู้มาเยือนแทน แต่อย่างไรเสีย ฌิจี้กวงก็ไม่ปล่อยเวลาให้พวกญี่ปุ่นในเมืองไหวตัวทันว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น เขาทำศึกแบบใช้นาทีทองอย่างคุ้มค่า นำทัพบุกทลายซ่องโจรที่เหลือได้ถึง 60 แห่งภายในคืนเดียว
อย่างไรก็ตาม ฌิจี้กวงก็ต้องใช้เวลานับสิบปีทีเดียวในการสยบโจรวอโค่วได้อย่างราบคาบ ในปีเจียจิ้งที่ 44 ค.ศ. 1565 โจรสลัดญี่ปุ่นกระเซอะกระเซิงล่องใต้ หนีการบดขยี้กองทัพต้าหมิง ทว่าก็ยังไประรานดินแดนอื่นๆ อีกเช่นกัน นั่นคือ อานหนาน (เวียดนาม)
เสร็จศึกญี่ปุ่นไม่ทันไร ปีหลงชิ่งที่ 2 ค.ศ. 1568 จักรวรรดิหมิงมีการผลัดแผ่นดิน ฮ่องเต้เจียจิ้งสวรรคต องค์ชายจูไจ่จี้ รับราชสมบัติขึ้นเป็นจักรพรรดิหมิงมู่จง หรือฮ่องเต้หลงชิ่ง ราชสำนักหมิงก็มีคำสั่งให้ฌิจี้กวงยกพลขึ้นทางเหนือไปรับมือศึกกับตาตาร์ ณ กรุงปักกิ่ง เขาปรับปรุงระบบกองทัพของพระนครให้แข็งแกร่งทันตาเห็น เพื่อความไม่ประมาท ยังสั่งให้เร่งบูรณะกำแพงเมืองจีนจากตะวันออกไปตะวันตก ระยะความยาว 2000 หลี่ แบ่งระยะสร้างป้อมให้ห่างพอประมาณ รวมเบ็ดเสร็จ 1200 ป้อม แต่ละป้อมสูง 5 จ้าง โดย 1 จ้าง เท่ากับ 3.3333 เมตร ทุกป้อมจะมีทหารประจำการคราวละ 100 คน ผลัดเปลี่ยนเวรยามทุก 24 ชั่วโมง
ฌิจี้กวงตั้งหลักในกรุงปักกิ่ง ป้องกันศึกจากพวกนอกด่านทะเลทรายนานถึง 16 ปี สามารถทำให้ชาวตาร์ตาหลายเผ่า โดยเริ่มจากเผ่าต่งหูหลี หันมาสวามิภักดิ์ ให้สัตย์ปฏิญาณไม่รุกล้ำอาณาเขตจักรวรรดิหมิงอีก ยอมส่งบรรณาการให้แต่โดยดี นอกจากนั้นยังพบว่า หากเป็นมิตรกับจีนแล้ว เป็นประโยชน์มหาศาลกว่าเป็นศัตรูที่แลกทั้งชีวิตขุนทหาร เชลย ทรัพย์สิน การผูกมิตรมีแต่ได้มากกว่าการเดินดุ่ยๆ ไปแย่งปล้นสะดมด้วยซ้ำ เขาใช้หลักจิตวิทยาในการเปลี่ยนศัตรูให้มาเป็นมิตร เพราะเห็นว่าแม้เป็นพวกป่าเถื่อนถนัดใช้กำลัง แต่ก็มีน้ำใจสัตย์ซื่อมั่นคง เหมาะกับการใช้ไมตรีเป็นสะพานเชื่อมเข้าหากัน
จีนในยุคสมัยนั้น ราชวงศ์หมิงเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรม จักรพรรดิไร้ความสามารถ ข้าราชบริพารมีแต่พวกกังฉินที่เป็นใหญ่คอยชักใยศูนย์กลางการปกครอง มาถึงรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเสินจง หรือ ฮ่องเต้ว่านลี่ (จูอี้จวิน) ซึ่งในประวัติศาสตร์เป็นฮ่องเต้ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของต้าหมิง แต่ท้ายรัชกาลกว่า 20 ปี ทรงเก็บตัวปล่อยปละละเลยจากราชกิจแทบทั้งปวง เมื่อฌิจี้กวง เป็นขุนศึกที่มีความดีความชอบมาตลอดชีวิต ย่อมมีกังฉินขี้อิจฉาตัวแสบไม่ยอมให้เขาเป็นดาวรุ่งตระหง่านในแวดวงราชการได้ จึงคอยหาเรื่องใส่ไฟเพ็ดทูลใส่ความต่างๆ นานา
จนท้ายที่สุด น้ำหยดลงหินทุกวันยังกร่อนลงได้ จักรพรรดิว่านลี่หลงเชื่อคำยุแยงตะแคงรั่วของกังฉินว่า ฌิจี้กวงเป็นชาวใต้ หาได้มีสติปัญญาสมกับชาวภาคเหนือไม่ จึงถูกลงอาญา เนรเทศไปที่กวางตุ้ง ปีถัดมาฌิจี้กวงเสียใจมาก ตัดสินใจขอลาออกจากราชการ แต่กังฉินกัดไม่ปล่อย ยุยงเป่าหูฮ่องเต้ให้ลงโทษให้หนักอีก ถึงขนาดตัดบำนาญทั้งหมด เขาช้ำใจนักที่ได้รับการตอบแทนเยี่ยงนี้ ทั้งที่ทั้งชีวิตเขาอุทิศเพื่อพิทักษ์คุ้มครองจักรวรรดิให้คงอยู่ปราศจากผู้รุกราน ปี ค.ศ. 1587 ปีว่านลี่ที่ 15 เขาล้มป่วยลงขณะใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ เมืองเผิงหลาย มณฑลซานตง จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1588 สิริอายุย่างเข้าปีที่ 60
ผลงานที่เขาฝากไว้ที่สำคัญ คือ ตำราพิชัยสงครามฌิจี้กวง เป็นผลิตผลที่ตกผลึกจากประสบการณ์อันโชกโชนที่เขารับหน้าที่เป็นแม่ทัพตั้งแต่หนุ่มด้วยวัยไม่ถึง 20 ปี ตำรามี 2 เล่ม เขียนขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิตเขา มีเนื้อหาการจัดกระบวนทัพและระเบียบวินัยในการฝึกทหารให้พร้อมรบอยู่เสมอ ทั้งยามสงบและยามสงคราม สถาบันการทหารชั้นสูงหลายแห่ง ก็หยิบยกตำราฌิจี้กวงมาเป็นแนวทางอบรมกองทัพจวบจนปัจจุบัน
สมัยเขาประจำการอยู่เมืองไถโจว ทำหน้าที่กำราบโจรสลัดญี่ปุ่น เขารจนาบทกวีท่อนหนึ่งไว้ว่า
“…ตำแหน่งที่สูงส่งใหญ่โตไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนา ขอแค่ภัยจากทะเลถูกขจัดไปได้ ก็พอใจแล้ว...”
นอกจากนั้น ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเข้มงวดของเขา ถึงขนาดที่ว่า
.....ครั้งหนึ่ง บุตรชายของเขานำรองแม่ทัพไปออกรบแล้วพ่ายแพ้กลับมา เมื่อสอบสวนถึงสาเหตุแล้ว พบว่าเกิดจากความสะเพร่าของผู้บัญชาการทหารสูงสุด จากนั้นก็สั่งลงโทษตามกฎทหารทันที ลูกชายรับโทษประหาร แม้เหล่าขุนนางก็อ้อนวอนขอความเมตตา ฌิจี้กวงก็เอาแต่นิ่งเฉย ภรรยาฌิจี้กวงถึงขนาดส่งคนไปช่วยเจรจาขอไว้ชีวิตลูก แต่กว่าจะไปถึงที่นั้น ลูกชายฌิจี้กวงก็ถูกสำเร็จโทษ หัวหลุดจากบ่าเสียแล้ว.....
และนี้ก็คือเรื่องราวของ ฌิจี้กวง [ Qi Jiguang ] ยอดขุนพลผู้ต่อต้านโจรสลัดญี่ปุ่น อีกหนึ่งวีรบุรุษผู้พิทักษ์จักรวรรดิต้าหมิง
รวบรวมเนื้อหาและเขียนคอนเทนต์โดย
เจมส์ เซิ่งจู่
แฟนพันธุ์แท้ ราชวงศ์จีน
ชอบกดไลก์ ถูกใจกด'ติดตาม' เพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับผมมม
ขอบคุณครับ
Qi Jiguang
2 บันทึก
5
7
2
5
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย