16 ม.ค. 2020 เวลา 10:52 • กีฬา
บทความ เรื่อง “สิงห์สนามศุภ” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อนนั้น แฟนลูกหนังชาวไทยต่างตะโกนเชียร์นักเตะทีมชาติปีกขวาร่างเล็ก ด้วยความสูงเพียง 155 เซนติเมตร แต่ฝีเท้าแกร่งเกินตัว คราวใดที่กระชากบอลหลบฝ่ายตรงข้าม ทุกคนในสนามศุภชลาศัยฯ เป็นต้องระทึกใจและได้ส่งเสียงเฮลั่น จนถูกขนานนามว่าเขา คือ "สิงห์สนามศุภ"
นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ หรือ "ต๋อง" เกิดวันที่ 19 สิงหาคม 2490 ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยครูฝึกคนแรก คือนายเดือน ดารา หรือ “เหงียน วัน เดื๊อก” อดีตนักเตะทีมชาติเวียดนามใต้ เป็นผู้ฝึกสอนชั้นเชิงลูกหนัง แต่ตำแหน่งที่เล่นครั้งแรก คือนายทวารของทีมโรงเรียนจ่าการบุญ ก่อนเปลี่ยนมาเล่นศูนย์หน้าที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จนสามารถพาทีมครองแชมป์รุ่นจิ๋วของจังหวัดถึง 3 ปีซ้อน
ประมาณปี พ.ศ. 2507 นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนพลานามัย (วิทยาลัยพลศึกษา) และลงเล่นให้กับสถาบันในรายการฟุตบอลอุดมศึกษา แต่ปีถัดมาพลานามัยงดส่งทีมเข้าแข่งขัน ทำให้ต้องย้ายไปเล่นให้กับทีมดังลูกหนังขาสั้นสมัยนั้น คือ "โรงเรียนปานะพันธ์" จนมีชื่อเสียงเตะตาต้องใจคอลูกหนัง
ภายหลัง นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมบุกเบิก “ทีมชาววัง” สโมสรราชวิถี รุ่นเดียวกับ “นายพันลูกหนัง” อำนาจ เฉลิมชวลิต, พิทักษ์ ศิลป์ประสิทธิ์, สิทธิพร ผ่องศรี, ปรีชา กิจบุญ ฯลฯ โดยมี “ปรมาจารย์ฟุตบอลเมืองไทย” อ.สำเริง ไชยยงค์ ช่วยขัดเกราเพลงแข้ง ก่อนจะย้ายเข้าสังกัดสโมสรราชประชานุเคราะห์ และ “สิงห์เจ้าท่า” สโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตามลำดับ
นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ คว้าธงไตรรงค์ติดหน้าอกเป็นครั้งแรก ในลูกหนังเยาวชนแห่งเอเชีย ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. 2509 และคว้าตำแหน่งที่ 3 ร่วมกับทีมไต้หวัน (0 - 0) ปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2510 จึงก้าวขึ้นสู่ทำเนียบทีมชาติชุดใหญ่พร้อมเพื่อนเยาวชน อาทิ ชัชชัย พหลแพทย์, อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค และเกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถนา โดยลงสนามเคียงข้างนักเตะรุ่นพี่ “เจ้าตีนระเบิด” ยรรยง ณ หนองคาย, สุพจน์ พานิช ฯลฯ ในรายการฉลองเอกราชที่เวียดนามใต้ และทัวร์นาเม้นต์นี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2510 อ.พิสิษฐ์ งามพานิช ผู้จัดการทีมได้ลองเปลี่ยนตำแหน่งการเล่นของเขาจากหน้าต่ำให้ไปเล่นเป็นปีกขวา จนกระทั่งยิงประตูแรกได้ในนามชุดใหญ่ แม้ว่าทีมไทย แพ้ ทีมเกาหลีใต้ 1 - 2 จึงทำให้กลายเป็นตำแหน่งถาวรตลอดมาถึง 12 ปี จนแขวนสตั๊ด
หลังจากนั้น รายชื่อทีมชาติเกือบทุกชุด จะต้องปรากฏชื่อของเขา นอกจากจะขอถอนตัว เพราะบาดเจ็บเท่านั้น นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เคยกล่าวว่าความประทับใจและเกียรติประวัติสูงสุดในการลงเล่นให้ทีมชาติไทย คือการเป็น 1 ในขุนพลลุ่มเจ้าพระยาชุดโอลิมปิก ครั้งที่ 19 รอบ 16 ทีมสุดท้าย ณ ประเทศเม็กซิโก เมื่อ ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511)
อนึ่ง ก่อนจะคว้าตั๋วเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายนั้น "แมตช์ชิงดำ" เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2511 ณ สนามศุภชลาศัยฯ ฟุตบอลปรี-โอลิมปิก รอบคัดเลือก ทีมไทย พบ ทีมอินโดนีเซีย (2 - 1) ทีมชวามี “ดาราเอเชีย” สุจิ๊ปโต้ นำทัพ แต่สกอร์แรกของเกมเกิดขึ้น โดยเข็มนาฬิกายังเดินไปไม่ถึงนาที ด้วยการขึ้นโหม่งของ "สิงห์สนามศุภ" นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ อาจถือว่าเป็นการยิงประตูเร็วที่สุดของทีมชาติไทยอีกด้วย
นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เคยผ่านสงครามแข้งในทวีปเอเชีย เช่น เยาวชนชิงแชมป์เอเชีย, แหลมทอง, เอเชียนเกมส์, เมอร์เดก้า, คิงส์คัพ, ปรี-โอลิมปิก, ปรี-เวิล์ดคัพ ฯลฯ แต่มาประสบความสำเร็จคว้าครองแชมป์ฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2522 รอบชิงชนะเลิศ ทีมไทย ชนะ ทีมเกาหลีใต้หวุดหวิด 1 - 0 จากการยิงของ “เพชฌฆาตหนวดหิน” ดาวยศ ดารา น้องชายต่างบิดาที่ได้ลูกมาจากการส่งของ “สิงห์สนามศุภ” เมื่อก้าวขึ้นรับถ้วยพระราชทานคิงส์คัพในฐานะกัปตันทีมชาติลงมาแล้ว จึงประกาศเลิกเล่นให้ทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการ ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ โดยไม่มีใครคาดคิดกันมาก่อน
อีกหนึ่งตำนานของทีมธงไตรรงค์ แม้จะอำลาสนามไปนานกว่า 3 ทศวรรษ ท่ามกลางนักเตะอีกหลายร้อยคนได้ก้าวขึ้นมาแทนที่คลื่นลูกเก่า ทว่าจะมีสักกี่คนที่ถูกกล่าวขานถึง ด้วยความภาคภูมิใจปนเปื้อนรอยยิ้มแห่งความทรงจำ…และกาลเวลาที่ผ่านไป ดังเช่นเรื่องราวของ “สิงห์สนามศุภ” ที่ได้มาเพราะศรัทธาของแฟนฟุตบอลชาวไทย.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ
โฆษณา