17 ม.ค. 2020 เวลา 02:05 • ประวัติศาสตร์
จักรพรรดิเจียชิ่ง ฮ่องเต้เลือดผสม
ทำความรู้จักโอรสสวรรค์พระองค์นี้กันเสียหน่อย
..
ในจักรวรรดิต้าชิงโดยชาวแมนจู สมัยศตวรรษที่ 18
...
ฮ่องเต้เจียชิ่ง หรือจักรพรรดิชิงเหรินจง (Jiaqing Emperor / Qing Renzong) 《嘉慶 ;仁宗》
ประสูติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1760 พระราชโอรสลำดับที่ 15 ของจักรพรรดิเฉียนหลง หรือฮ่องเต้ชิงเกาจง (Qianlong Emperor / Qing Gaozong) 《乾隆 ;高宗》
มีพระนามเดิมว่า อ้ายซิน-เจว๋หลัว หย่งเหยียน (Aisin-Gioro Yongyan : 愛新覺羅 顒琰)
ราชวงศ์ชิงในรัชกาลเฉียนหลง ฮ่องเต้รัชกาลที่ 6 ของจักรวรรดิต้าชิง เป็นยุคสมัยที่ยาวนานเนื่องด้วยฮ่องเต้เฉียนหลงมีพระชนมายุที่ยืนยาวพอสมควร แลมากกว่าบรรดาพระราชโอรสขององค์เองหลายพระองค์ด้วยซ้ำ ทำให้ปัญหาการสรรหาไท่จื่อ รัชทายาทผู้สมควรได้บัลลังก์ต่อเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆ อย่างไรก็ตาม องค์ชายที่มีพระปรีชาสามารถและเป็นที่ต้องพระทัยเสด็จพ่อนั้นมีอยู่ไม่กี่องค์เท่านั้น
เดิมทีนั้น เฉียนหลงฮ่องเต้โปรดปรานพระโอรส องค์ชาย 5 อ้ายซิน-เจว๋หลัว หย่งฉี ถึงขนาดตั้งความหวังไว้ว่าจะให้เป็นรัชทายาท แม้ว่าเฉียนหลงจะไม่สบอารมณ์กับพระมารดาของหย่งฉีเท่าไรนัก ทว่าในที่สุด องค์ชาย 5 หย่งฉีก็ด่วนสิ้นพระชนม์ไปก่อนในปี ค.ศ. 1766 พระชนมายุเพียง 25 พรรษา โดยตอนนั้นองค์ชาย 15 หย่งเหยียน พึ่งมีอายุได้ประมาณ 6 ขวบ
การแต่งตั้งองค์ชาย 15 หย่งเหยียน ให้เป็นรัชทายาท เนื่องด้วยพระเชษฐาของหย่งเหยียน องค์ชาย 11 อ้ายซิน- เจว๋หลัว หย่งซิง ตัวเต็งไท่จื่ออีกพระองค์ มีใจฝักใฝ่ซูฮกชาวฮั่นอย่างออกหน้าออกตา ทำให้เฉียนหลง พระบิดาไม่พอพระทัยอย่างแรง น้องชาย 15 จึงบุญหล่นทับได้เป็นไท่จื่อนั่นเอง ทั้งที่เป็นคนโลเลและใจอ่อน
จักรพรรดิเฉียนหลงเคารพพระอัยกา ซึ่งก็คือ จักรพรรดิคังซี หรือฮ่องเต้ชิงเซิ่งจู่ เป็นอย่างมาก (Kangxi Emperor / Qing Shengzu) 《康熙 ;聖祖》
1
เมื่อเฉียนหลงเจริญพระชนมพรรษาถึง 85 พรรษา ก็ไม่อยากครองราชย์ให้นานกว่าคังซีฮ่องเต้ เสด็จปู่ ก็สละราชสมบัติให้รัชทายาท แล้วองค์เองก็ดำรงในตำแหน่งฐานันดรศักดิ์ไท่ซ่างหวง สถานะพระชนกนาถแห่งจักรพรรดิ (Retired Emperor) แต่ก็ยังกำกับราชการ ฎีการาชสำนักทุกฉบับต้องทูลเกล้าถวายให้ทอดพระเนตร ลงความเห็นชอบเหมือนยังเป็นฮ่องเต้ทุกประการ
หลังพระบิดา เฉียนหลงฮ่องเต้สละราชย์ องค์ชาย 15 หย่งเหยียน ขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อเป็น จักรพรรดิเจียชิ่ง ฮ่องเต้รัชกาลที่ 7 แห่งต้าชิง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1796 ขณะมีพระชนมายุ 36 พรรษา ในรัชกาลเจียชิ่ง 3 ปีแรก ไท่ซ่างหวงหรืออดีตจักรพรรดิเฉียนหลงยังกุมอำนาจแผ่นดิน กว่าฮ่องเต้หนุ่มจะได้บริหารราชการบ้านเมืองได้อย่างเต็มพระหัตถ์ ก็หลังจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1799 ซึ่งเป็นวันที่เฉียนหลงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา สิริพระชนมายุถึง 88 พรรษา
ทำไมต้อง 'เลือดผสม'...
จักรพรรดิเจียชิ่ง มีพระมารดาเป็นสตรีชาวฮั่น หากใครเคยดูซีรี่ส์องค์หญิงกำมะลอจะพอจำได้ว่า พระนางนั้นก็คือ "พระอัครมเหสีหลิงอี้หวงกุ้ยเฟย" เรื่องราวของพระนางเริ่มดังนี้
4
จากนางกำนัลในวังต้องห้ามที่ต้องตาต้องใจของฮ่องเต้เฉียนหลง ในปีเฉียนหลงที่ 10 (ค.ศ. 1744) ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระสนมเอกหลิงกุ้ยเหริน ปีถัดมาก็เลื่อนเป็น พระชายาหลิงผิน ต่อมามีพระประสูติกาลโอรส-ธิดาให้กับเฉียนหลง ก็เป็นที่โปรดปรานยิ่งขึ้น ในปีเฉียนหลงที่ 14 ได้เป็น พระมเหสีหลิงเฟย แล้ว 10 ปีต่อมาก็เลื่อนขึ้นเป็น พระมเหสีเอกหลิงกุ้ยเฟย จนกระทั่งปีเฉียนหลงที่ 30 6 ปีหลังจากนั้น เฉียนหลงโปรดเกล้า แต่งตั้งให้เป็นพระอัครมเหสีหลิงหวงกุ้ยเฟย มีบทบาทในการดูแลวังหลังทั้งหมด สุดท้ายหลังพระนางสิ้นพระชนม์ไป 1 เดือน เฉียนหลงฮ่องเต้ตั้งพระนามใหม่ให้เป็น 'หลิงอี้หวงกุ้ยเฟย'
2
แม้ว่าเฉียนหลงจะรักหลิงอี้หวงกุ้ยเฟยปานใด พระนางก็มีชาติกำเนิดเป็นชาวฮั่นแซ่เว่ย บิดาของพระนางเป็นองครักษ์กรมวัง ตำแหน่งขุนนางขั้น 5 พระนางจึงถูกบรรดาราชนิกูลชาวแมนจูดูแคลน ทำให้พระองค์ไม่สามารถอัพพระนางให้เป็นถึง จักรพรรดินี (Empress) หรือฮองเฮาได้ เพราะกฎบรรพชนราชวงศ์ชิงได้ตราเอาไว้ว่า ห้ามสตรีฮั่นอยู่เหนือกว่าแมนจู หลังจักรพรรดินีจี้หวงโฮ่ว (ฮองเฮาจี้จอมเฮียบ) ผู้มากด้วยริษยา มีพระอาการสติฟั่นเฟือน ถูกจักรพรรดิเฉียนหลงปลดออกจากฐานันดรจักรพรรดินี ปลายรัชกาลเฉียนหลงจึงไม่มีนางในใดๆ ได้รับการเถลิงให้เป็นฮองเฮาอีก
พอจักรพรรดิเจียชิ่งครองราชย์เป็นประมุขแล้ว โปรดแต่งตั้งพระมารดาให้เป็นฮองเฮาย้อนหลัง พระนาม "จักรพรรดินีเสี้ยวอี้ฉุนหวงโฮ่ว" แม้ว่าพระนางจะสิ้นพระชนม์ไปด้วยพระชนมายุ 48 พรรษา เมื่อปี ค.ศ. 1775 (ปีเฉียนหลงที่ 40) อย่างไรนั้นก็ยังมีเชื้อพระวงศ์แมนจูบางกลุ่มไม่พอใจในความที่มีเลือดฮั่นอยู่ นี่เป็นปมในใจที่สร้างความหงุดหงิดให้เจียชิ่งตลอดเวลา แม้ว่าจะเปลี่ยนราชสกุลพระมารดาให้เป็นแมนจูชื่อ 'เว่ยเจีย' (จีนฮั่น) หรือ 'เว่ยจียา' (จีนแมนจู) แล้วก็ตาม
จักรวรรดิต้าชิงรัชสมัยเจียชิ่ง เป็นยุคสมัยที่มีกบฏอยู่เนืองนิจ ท้องพระคลังเริ่มร่อยหรอ ชาวฮั่นที่ไม่ไหวไม่ทนกับการโกงกินของขุนนางราชสำนักเริ่มแสดงท่าทีกระด้างกระเดื่อง ใช้สโลแกน "ต้านชิงกู้หมิง" มีจุดประสงค์ขับไล่ไสส่งเผ่าแมนจูออกจากแผ่นดินจีนแล้วให้ชาวฮั่นกลับมาปกครองตนเองเฉกเช่นสมัยราชวงศ์หมิง กลุ่มขบถชาวฮั่นที่มีชื่อเสียงในรัชกาลนี้ ได้แก่ กบฏพรรคบัวขาว กบฏพรรคเที่ยงธรรม (ฟ้าดิน) กลุ่มโจรสลัดไต้หวัน กว่าจะถูกทางการปราบราบคาบก็ใช้เวลาหลายปี นอกจากนั้น ในรัชสมัยดังกล่าวนี้เองก็เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ชนิดไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้
แค่นี้ก็ยังไม่พอ ฝิ่น พืชสารเสพติดฤทธิ์กดประสาท เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วแผ่นดินจีนในปลายรัชกาลเจียชิ่ง เพราะชาวยุโรปต้องการกอบโกยผลประโยชน์ สูบเลือดสูบเนื้อไปจากแผ่นดินมังกรแดนตะวันออก ซึ่งจะกลายเป็นเค้าลางที่จะเกิดสงครามฝิ่นในรัชกาลต่อไป
จักรพรรดิเจียชิ่ง แม้จะทรงขยันขันแข็งตรากตรำราชกิจ แต่ตลอดพระชนม์ชีพก็ประสบกับเรื่องปวดร้าวพระทัยทำให้ขาดกำลังใจในการดำเนินชีวิต ประชวรอยู่บ่อยครั้งจนท้ายที่สุด สวรรคตเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1820 ปีเจียชิ่งที่ 25 สิริพระชนมายุได้ 61 พรรษา พระราชโอรส องค์ชายรอง (ชาย 2) อ้ายซิน-เจว๋หลัว เหมียนหนิง รับราชสมบัติต่อเป็น จักรพรรดิเต้ากวง หรือฮ่องเต้ชิงซวนจง
(Daoguang Emperor / Qing Xuanzong) 《道光 ;宣宗》
.....และนี้ก็คือเรื่องราวของเจียชิ่งฮ่องเต้ โอรสสวรรค์ลูกครึ่งระหว่างฮั่นกับแมนจู.....
รวบรวมเนื้อหา เขียนถ้อยคำสำนวน โดย
เจมส์ เซิ่งจู่
แฟนพันธุ์แท้ ราชวงศ์จีน
เฉียนหลงฮ่องเต้ (แมนจู) กับ หลิงอี้หวงกุ้ยเฟย (ฮั่น) มีโอรสด้วยกันคือ ฮ่องเต้เจียชิ่ง (ลูกครึ่งฮั่น-แมนจู)
**หมายเหตุ สระเอียของไทย มีการเขียนเหมือนกันในระบบพินอิน สระ -ia , -ie แม้ในความจริง -ia คล้ายเสียง อี+อา แต่ -ie เสียงคล้ายกับ อี+เอ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นหนังสือไทยยุคสมัยเก่า เขียนพระนามจักรพรรดิเจียชิ่งว่าเป็น "พระเจ้าจยาชิ่ง" ก็สามารถเขียนได้ ไม่ได้ผิดแผกไปจากข้อเท็จจริงแต่อย่างใดนะครับ**
โฆษณา