18 ม.ค. 2020 เวลา 15:05 • ความคิดเห็น
เราพร้อมกันหรือยังในการทำสงครามกับ "ฝุ่น" 😔
กรุงเทพฯ เมืองในหมอกอีกปี
วันนี้อีกหนึ่งปีที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลับมาหลอกหลอนกัน ได้เห็นโพสของลงทุนแมนว่าฝุ่น PM 2.5 กำลังจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
และเมื่อบ่ายได้เห็นมิตรสหายท่านหนึ่งแชร์บทความจาก FB: China Report ASEAN - Thailand เรื่อง "รัฐบาลจีนจะชี้ขาดการต่อสู้กับมลพิษในปี 2020"
ปฐมบทแห่งสงครามกับฝุ่นพิษที่ปักกิ่ง
เรื่องราวน่าสนใจ ย้อนรอยตั้งแต่ที่ ปักกิ่งต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันพิษอย่างรุนแรงเป็นข่าวดังไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2013
ถ้าเราเดินออกไปข้างนอกแล้วต้องเจอหมอกควันพิษขนาดที่หนาจนมองไม่เห็น "ลายมือบนฝ่ามือตัวเอง" ก็คงป่วยถึงสุขภาพจิต 😅
ช่วงของการเริ่มทำสงครามกับฝุ่นอย่างจริงจัง
สงครามเพื่อทวงคืนเอาฟ้าใสกลับสู่ปักกิ่งดำเนินไปอย่างดุเดือด เสียหายอย่างหนักทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ไม่ทำให้รัฐบาลจีนลดละความตั้งใจ
ช่วงท้ายของสงคราม หรือปักกิ่งกำลังจะทวงคืน "ฟ้าใส" กลับมาได้
จนมาถึงปีนี้ ความพยายามอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มส่งผล 240 วันที่ฟ้าใสได้กลับมาสู่มหานครแห่งนี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 มีค่าเฉลี่ยดีขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปี 2015
ไม่ใช่แค่ปักกิ่ง แต่ทุกมณฑลในจีนก็กำลังมีความคืบหน้าในการควบคุมค่าฝุ่น
ในปักกิ่งค่าฝุ่น PM 2.5 มีค่าเฉลี่ยเพียง 53% ของค่าฝุ่นเมื่อปี 2013 ที่เริ่มเกิดปัญหา
น่าชื่นชมใช่ไหมครับ แต่เดี๋ยวก่อนก่อนที่จะรีบไปด่าลุง กด Pause แล้วย้อนไปดูกันว่าจีนต้องแลกอะไรไปในสงครามครั้งนี้
250,000 ล้ายหยวน คิดเป็นเงินไทยก็ 1.25 ล้านล้านบาท อีกรอบ 1 ล้าน ล้าน บาท
ไม่รวมค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ หลายกิจการต้องปิดตัว นักลงทุนต่างประเทศถอนการลงทุนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
แล้วทำไมจีนยังเลือกจะทำสงคราม??
หล่อได้โลห์แบบนี้เลย?? แค่นั้นเหรอ 🤔
ลองอ่านบทความของลงทุนแมนนี้ดูครับ ก็พอจะได้ไอเดียว่าถ้าไม่สู้ ความสูญเสียนั้นจะใหญ่หลวงมากขนาดไหนจากพิษร้ายของเจ้ากองทัพฝุ่นควันพิษ
ความเสียหายด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว สินค้าที่ผลิตในจีนเผลอโดนหาเรื่องแบนด้วยข้ออ้างการผลิตที่ก่อให้เกิดมลพิษ มันคงเป็นเรื่องของการชั่งประเมินแล้วของรัฐบาลจีนว่าคุ้ม
การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น ยังเป็นการผลักดันนโยบาลปลดแอกชาติจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนกว่า
แล้วจีนทำอะไรไปบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ?
สิ่งหนึ่งที่จีนทำได้แต่บ้านเราอาจจะทำไม่ได้ คือการแก้กฏหมายให้ไม่มีค่าปรับขั้นสูง ปรับเท่าไหร่ก็ได้จนกิจการเจ๊งไปเลยก็ได้ ถ้าพิจารณาแล้วว่าได้สร้างความฉิบหายให้กับประเทศชาติมากจริง
ปัจจุบันดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 13,000 คดี รวมค่าปรับแล้วกว่า 150 ล้านหยวน หรือราวๆ 750 ล้านบาท
และนี่คือสารพัดมาตราการที่จีนนำมาใช้ โดยเฉพาะที่ปักกิ่ง
- เปลี่ยนการใช้พลังงานจากถ่านหินมาใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นตามที่พักอาศัย การคมนาคม ขนส่งมวลชนสาธารณะ รถแท๊กซี่ไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้ามีสัดส่วนมากขึ้น
- รถยนต์เก่าที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ถูกจำกัดการนำมาใช้งาน
- โรงงานเก่าที่มีปัญหาด้านมลพิษถูกสั่งปิดถาวรหรือให้ปรับปรุง
- จีนทำฝนเทียมซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาหมอกควันมลพิษ เคลียร์ท้องฟ้าให้ใสล้างหมอกควันออกไป
- ห้ามจุดประทัด พลุ ห้ามเผา ในช่วงที่ระดับควันพิษพุ่งสูง
- เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปักกิ่งตอนนี้มีพื้นที่สีเขียวเกิน 50% แล้ว
- ข้อนี้สำคัญมาก: ปลุกจิตสำนึกให้คนในประเทศเคารพกฎระเบียบ ช่วยกันลดมลพิษ
สิ่งหนึ่งที่ทำได้เลยตอนนี้วันนี้ คือป้องกันตัวเองจากฝุ่น
สิ่งที่น่าสนใจมากอีกประเด็นคือรัฐบาลจีนหลีกเลี่ยง "วิธีเดียวสำหรับทุกปัญหา" หรือ One-sized-fits-all Approach ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ใช้หลากหลายวิธีที่ได้ผลแม่นยำด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์
นี่คือปัญหาคลาสสิคของบ้านเรา ชอบอยากจะได้วิธีแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จวิธีเดียวบังคับใช้ทุกรูปแบบอย่างไม่ต้องคิด
"ฝุ่น PM2.5 เหรอ เลิกใช้รถมันให้หมด" นี่เป็นเพียงตัวอย่างแบบสุดโต่งนะครับ
แล้วบ้านเราจะไหวเหรอ กับการแก้ปัญหาฝุ่นนี้
บริบทของบ้านเมืองเราก็ยังมีความแตกต่างกับจีนอยู่เยอะ ด้วยสาเหตุของฝุ่นควันนี้ยังมีปัญหาจากการเผาพืชการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว และไม่ได้เป็นแค่บ้านเรา เพื่อนบ้านด้วย
รูปแสดง Heat Spot ในภูมิภาคอินโดจีน
และควันมันไม่ติด ตม. มันลอยข้ามประเทศมาได้ อย่างที่เห็นปัญหากันอยู่ทั้งควันจากพม่า กัมพูชา และไฟป่าอินโดฯ
แผนภาพแสดงจุดความร้อน และทิศทางลม
จีนทำได้เพราะเขาสามารถควบคุมกิจการภายในประเทศได้เบ็ดเสร็จ ประชาชนก็ทนทุกข์กับปัญหาสุขภาพย่อมอยากที่จะหลุดพ้นจากสภาพเมืองในหมอกเต็มที
ย้อนขึ้นไปดูสารพัดมาตราการที่จีนใช้ มันไม่ใช่แค่ใครหน่วยงานใดทำ ทั้งราษฏ์ทั้งรัฐต้องทำด้วยกันหมด ยุ่งยากมาถึงประชาชนมีเงินก็ซื้อรถมาใช้ไม่ได้ กิจการก็ต้องยอมลงทุนกับการแก้ปัญหามลพิษถ้าอยากอยู่ต่อ
กลับมาบ้านเราแม้รัฐบาลไทยตั้งมั่นว่าจะประกาศสงครามกับฝุ่น แต่สงครามครั้งนี้ต้องเป็นการร่วมมือกันทั้งภูมิภาค จะทำอย่างไรที่จะลดการเผาพืชผลการเกษตรหรือเผาป่าในพื้นที่คาบสมุทรอินโดจีน
เกษตรอาจมองว่าเป็นต้นทุนเพิ่มในการจัดการซากพืชผลการเกษตรเมื่อต้องแลกกับไม่ขีดก้านเดียว เราอยู่ตรงนี้จะไปบอกว่าก็ไถกลบซิหรือเอาไปหลักก๊าซชีวภาพ มันก็กลายเป็นเพียงคนพูดไม่ได้ทำครับ ต้นทุนใครจ่าย
นั่นคือมันมีราคาที่ต้องจ่าย ทุกคนต้องจ่าย จะโบ้ยไปให้ใครกลุ่มใดไม่ได้
ย้อนกลับมาที่ตัวเราต้องถามว่า แล้วเราพร้อมกันหรือยังกับการทำสงครามกับ "ฝุ่น" ในครั้งนี้ ?
ถ้าต้องต้องได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิต ห้ามขับรถส่วนตัวไปทำงาน ห้ามจุกพลุ เผากงเต๊ก รับได้ไหม ?
เหนื่อยนะทุกคน ราคาที่จ่ายไม่ถูกถ้าจะแลกกับ ฟ้าใส ๆ 😔
ปล. ปีนี้สื่อเล่นข่าว PM 2.5 น้อยกว่าปีที่แล้วมาก ดูคนไม่ค่อยตระหนัก วันนี้คนเดินถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งค่าอากาศแดงแปร๊ดกว่าร้อยละ 90 แต่คนเดินถนนกว่าร้อยละ 90 ไม่ใส่หน้ากาก ป่วยขึ้นมาทำไง??

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา