23 ม.ค. 2020 เวลา 12:29 • กีฬา
แนวทางของโยฮัน ครัฟฟ์ คือสิ่งที่ยึดบาร์เซโลน่ามาตลอดตั้งแต่ปี 1988 จนถึงปัจจุบัน หลักการของครัฟฟ์คืออะไร และทำไมโค้ชบาร์ซ่าไม่ว่าคนไหน ก็ต้องศรัทธาในแนวคิดนี้ วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา บาร์เซโลน่าอยู่ในช่วงตกต่ำอย่างขีดสุด
ช่วงระหว่างปี 1960 ถึง 1988 เป็นระยะเวลา 28 ปี เชื่อหรือไม่ บาร์เซโลน่าได้แชมป์ลาลีกาแค่ 2 ครั้ง คือในฤดูกาล 1973-74 ในยุคของไรนุส มิเชลส์ และ ในซีซั่น 1984-85 ในยุคเทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์
แต่ปีที่เหลือ ผลงานย่ำแย่มาก ยูโรเปี้ยนคัพไม่เคยได้แชมป์ ส่วนลาลีกา ก็อันดับทรงๆ ได้ที่ 2 3 4 5 6 วนๆไปอยู่แบบนี้ โดยแชมป์ส่วนใหญ่ในช่วง 28 ปีนี้ก็คือเรอัล มาดริด จะมีแอตเลติโก้ มาดริด สลับได้แชมป์บ้างในบางปี
บาร์เซโลน่า เป็นทีมใหญ่ ใช่ พวกเขามีสนามฟุตบอลที่อลังการอย่างคัมป์นู แต่ถ้าบอกว่าวันหนึ่งบาร์ซ่าจะกลายเป็นทีมระดับสุดยอดของโลก ในเวลานั้นไม่มีใครเชื่อหรอก เพราะมันเป็นไปไม่ได้
หลังจบฤดูกาล 1987-88 เรอัล มาดริดได้แชมป์ลีกรวม 23 สมัย ส่วนบาร์ซ่าได้ไป 10 สมัย ห่างกันครึ่งต่อครึ่ง
ปัญหาของบาร์เซโลน่าคือ พวกเขาไม่มีสไตล์การเล่น หรือแนวทางอะไรที่ชัดเจนเลย โค้ชแต่ละคนพอย้ายมาก็เอาแผนการเล่นของตัวเองมาด้วย กว่านักเตะจะปรับตัวได้ โค้ชก็โดนปลดแล้ว พอเปลี่ยนโค้ชใหม่ก็นำมาซึ่งแผนใหม่อีก
ยิ่งไปกว่านั้น บรรยากาศในทีมก็ไม่ค่อยดีนัก นักเตะในทีมก็มีอีโก้สูง ใครมาเป็นโค้ชก็เอาไม่ค่อยอยู่
[ Note : อ่านตอนเมื่อวาน เกี่ยวกับมูรินโญ่ แล้วมาอ่านพาร์ทนี้ จะเห็นภาพรวมที่เคลียร์ขึ้นนะครับผม ]
28 เมษายน 1988 หลุยส์ อราโกเนส ผู้จัดการทีมบาร์ซ่า ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังจบฤดูกาล บรรยากาศถือว่าย่ำแย่มาก ขณะที่นักเตะบาร์ซ่า 21 คนรวมกลุ่มกัน เรียกร้องให้ประธานสโมสรโจเซป หลุยส์ นูเนซ ลาออกจากตำแหน่ง ทันทีเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ตามปกติ บาร์เซโลน่าเป็นสโมสรที่จะได้ประธานผ่านการเลือกตั้งของ Socio หรือสมาชิกของสโมสรอยู่แล้ว และ ในเดือนมิถุนายน 1988 อีกเพียงแค่ 2 เดือน ก็จะถึงการเลือกตั้งรอบใหม่ ดังนั้นถ้านูเนซ ปล่อยสถานการณ์ให้เป็นแบบนี้ต่อไป เขาจะไม่ได้รับเลือกแน่นอน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสุดท้ายที่มีในมือ
4 พฤษภาคม 1988 นูเนซ ประกาศว่าในฤดูกาลหน้า 1988-89 บาร์เซโลน่าจะมีผู้จัดการทีมคนใหม่ชื่อ โยฮัน ครัฟฟ์
ข่าวนี้สร้างความตื่นตะลึงให้กับแฟนบอลบาร์เซโลน่าเป็นอย่างมาก นั่นเพราะ ครัฟฟ์ คือนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก ถ้าเขามาเป็นผู้จัดการทีมรับรองได้ว่าไม่มีนักเตะคนไหนกล้าลำพองแน่ เพราะมีใครสักคนเก่งกว่าโค้ชหรือเปล่าล่ะ บอกมาสิ
นอกจากนั้น ครัฟฟ์เคยเป็นผู้เล่นบาร์เซโลน่ามาก่อน เขาอยู่บาร์ซ่าถึง 5 ปี (1973-1978) และช่วยให้ทีมได้แชมป์ลีก 1 สมัย และพอแขวนสตั๊ด ครัฟฟ์ไปทำงานเป็นผู้จัดการทีมอาแจ๊กซ์ ก็ทำให้อาแจ๊กซ์มีทรงดี คว้าแชมป์บอลดัตช์คัพ 2 สมัย และ คัพวินเนอร์สคัพ อีก 1 สมัย
การแต่งตั้งครัฟฟ์ กลายเป็นว่า เป็นเครื่องช่วยหายใจ ที่ทำให้นูเนซ ได้เป็นประธานสโมสรบาร์เซโลน่าต่อ แฟนบอลมองว่าการไปดึงครัฟฟ์มาจากอาแจ๊กซ์ได้ คือผลงานมาสเตอร์พีซ
สำหรับมุมของครัฟฟ์ การย้ายมาคุมบาร์เซโลน่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย ครัฟฟ์เองก็ตั้งคำถามว่า บาร์เซโลน่าซึ่งเป็นสโมสรใหญ่ ฐานะร่ำรวย มีแฟนบอลพร้อมจ่ายเงินค่าตั๋วเกือบแสนคนทุกเกม แถมมีอคาเดมี่ที่แข็งแกร่ง แต่ทำไมสโมสรแห่งนี้ถึงยังไม่ประสบความสำเร็จสักที นี่เป็นเรื่องที่ครัฟฟ์ต้องการเข้าไปแก้ปัญหา
สิ่งแรกที่ครัฟฟ์ทำคือ "สร้างทีมใหม่" เขาขายนักเตะ 15 คนทิ้งในช่วงซัมเมอร์ คือไม่ว่าจะเป็นนักเตะที่มีชื่อเสียงขนาดไหน แต่เมื่อเขามองว่าน่าจะไปกับแนวทางของทีมไม่ได้ เขาโละทิ้งหมด เช่น วิคเตอร์ มูนยอซ หรือ แบรนด์ ชูสเตอร์ เป็นต้น จากนั้นก็จ่ายเงินซื้อนักเตะใหม่ 12 คน ที่เขาชอบเข้ามาเสริมทัพแทน ตัวอย่างเช่น ซิกี้ เบกิริสไตน์ ,โฆเซ่ มารี บาเกโร่ รวมถึง ยูเซบิโอ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังเป็นผู้จัดการทีมคนแรก ที่กล้าออกคำสั่งกับประธานสโมสร ครัฟฟ์บอกว่า "ท่านประธาน ถ้าคุณต้องการจะคุยกับผม บอกผม แล้วผมจะเดินไปหาคุณที่ห้องทำงาน คุณไม่ต้องมาที่ห้องแต่งตัวของนักเตะ หรือห้องทำงานของผม" ซึ่งประธานสโมสรก็ได้แต่ต้องยอมรับไป เพราะคนที่คุณคุยอยู่คือโยฮัน ครัฟฟ์นะ อัจฉริยะที่มีความเป็นศิลปินอย่างที่สุด ถ้าเขาไม่พอใจ ครัฟฟ์ลาออกได้เลยโดยไม่ง้อใครทั้งนั้น แล้วจะเป็นเขาเองที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก
จากนั้นครัฟฟ์ก็เริ่มกระบวนการสร้างทีม ซึ่งหลายๆเรื่อง เป็นรากฐานสำคัญของบาร์เซโลน่าในเวลาต่อมา
1) แผนการเล่น ห้ามตายตัว
การประชุมทีมครั้งแรก เกิดขึ้นในช่วงปรีซีซั่นก่อนฤดูกาลจะเริ่ม ครัฟฟ์แนะนำตัวกับทุกคน ซึ่งจริงๆไม่ต้องก็ได้ เพราะไม่มีใครในโลกฟุตบอลไม่รู้จักเขาอยู่แล้ว จากนั้นก็หยิบกระดานดำ แล้ววาดแผนการเล่นที่เขาจะใช้ในฤดูกาลนี้ขึ้นมา
1
ครัฟฟ์ วาดกองหลัง 3 คน, กองกลาง 4 คน, ปีกซ้าย 1, ปีกขวา 1 และกองหน้าตัวเป้า 1 คน
นักเตะในทีมมองหน้ากันเลิ่กลั่ก คือในยุคนั้นเป็นเทรนด์ฟุตบอลของ 4-4-2 หรืออาจจะเป็น 5-3-2 ถ้าเป็นในอิตาลี แต่แผนของครัฟฟ์ เป็นระบบ 3-4-3 ซึ่งไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน แม้กระทั่งทีมชาติฮอลแลนด์ยุคไรนุส มิเชลส์ ก็ใช้ระบบ 4-3-3
ครัฟฟ์อธิบายว่า กองหลัง 3 คนก็พอแล้ว เพราะในเกมฟุตบอลพื้นที่ที่สำคัญที่สุดคือกองกลาง "ลองคิดดูนะ ถ้าเราใช้กองหลัง 4 คน เพื่อประกบกองหน้าคู่แข่ง 2 คน แปลว่า อีก 6 คนที่เหลือของเรา ก็ต้องไปสู้กับแนวรับอีก 8 คนของคู่แข่ง ซึ่งจำนวนที่มากกว่ากัน 2 คนแบบนั้น คุณไม่มีทางชนะได้หรอก ดังนั้นเราต้องดันกองหลัง 1 ตัวไปเล่นด้านหน้า"
"มีคนวิจารณ์ผมเรื่องการเล่นแผนกองหลัง 3 คน แต่ผมบอกเลยว่า คนวิจารณ์คือคนที่โง่ที่สุดเท่าที่ผมรู้จักมา เราต้องการเติมมิดฟิลด์เข้าไป 1 คน เพราะแผงกองกลางคือพื้นที่ที่ต้องการคนของเรามากที่สุด คือส่งกองหลังเยอะๆ คาดหวังจะให้ผมชนะ 1-0 หรือไง ถ้าเลือกได้ ผมขอชนะ 5-4 ดีกว่าชนะ 1-0"
แผนของครัฟฟ์ จะสลับกันตลอดเวลา ระหว่าง 3-4-3 กับ 4-3-3 นักเตะจำเป็นต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอว่า ครัฟฟ์จะสั่งให้เล่นแผนไหน และต้องสามารถขยับเคลื่อนที่ได้ตลอด ระหว่างเกม
ระหว่างเกม ครัฟฟ์จะสลับแผนอยู่เสมอตามแต่สถานการณ์ ดังนั้นนักเตะที่จะเล่นกับบาร์เซโลน่าของเขา ต้องมีความเข้าใจในการยืนตำแหน่งสูงมาก คือเมื่อเขาสั่งให้เล่นแผนนี้ นักเตะต้องรู้ว่าควรไปยืนตรงไหน เช่นเดียวกัน พอสลับไปอีกแผน นักเตะก็ต้องรู้ว่าควรไปยืนจุดไหน
วิธีการของครัฟฟ์จะเห็นได้ว่า นักเตะบาร์เซโลน่าโดยเฉพาะกลุ่มแผงหลังจะยืดหยุ่นมาก แต่ละคนเล่นได้หลายตำแหน่ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ยืนกองกลางตัวรับก็ได้ ยืนเซ็นเตอร์แบ็กก็ได้
2) สมองสำคัญกว่าร่างกาย
บาร์เซโลน่า ในหลายๆยุค เคยแก้ปัญหาด้วยการทุ่มเงินซื้อนักเตะเข้ามาเสริมทีม ซึ่งตั้งแต่ครัฟฟ์ย้ายเข้ามา เขาเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าในเมื่ออคาเดมี่ของทีมเก่งขนาดนี้ ทำไมต้องไปขวนขวายเอาจากข้างนอก เพราะนักเตะเยาวชนบางคนฝีเท้าไม่ได้เป็นรองตัวที่ซื้อมาเลย
2
มีคนวิจารณ์ว่า เด็กในแคว้นคาตาลันที่เป็นเด็กในอคาเดมี่ ล้วนตัวเล็กๆทั้งนั้น และในยุคฟุตบอลที่เน้นระบบ 4-4-2 ใช้ปีกซ้ายขวา เข้าโจมตี โยนบอลให้กองหน้าโหม่ง ถามว่านักเตะตัวเล็กๆเหล่านี้จะไปแข่งขันอะไรกับเขาได้
"ผมมีนักเตะตัวเตี้ยๆหลายคนในทีมนะ เช่น อัลเบิร์ต เฟร์เรร์, เซอร์กี้ บาร์ฆวน หรือ กุยเยอร์โม่ อามอร์" ครัฟฟ์เผย "แต่รู้ไหมว่านักเตะพวกนี้ แม้จะไม่มีร่างกายที่ใหญ่โต แต่เขาเล่นกับลูกบอลได้อย่างเนียนตามาก แถมยังมีความฟิตในการเพรสซิ่งใส่คู่แข่งอย่างมหาศาลอีกต่างหาก"
"หรืออย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่า เขาก็ไม่ใช่คนที่แข็งแรงอะไรเลย แต่ตอนที่เขาได้สัมผัสบอล เรารู้ได้ทันทีถึงความอัจฉริยะของนักเตะคนนี้ นี่ต่างหากที่ผมต้องการ ความฉลาดไม่ใช่พละกำลัง"
อัลเบิร์ต เฟร์เรร์ คนที่เคยร่วมงานกับครัฟฟ์กล่าว่า สิ่งที่ครัฟฟ์เน้นย้ำเสมอคือ คุณไม่ต้องกระโดดสูง ไม่ต้องโหม่งเก่ง แต่ต้องเร็ว เติมเกมเป็น และที่สำคัญคือยืนตำแหน่งได้ถูกต้องเสมอ
"ครัฟฟ์ไม่เคยสนใจว่าจะเลือกผู้เล่นตัวเตี้ยลงสนาม หรือจะส่งเยาวชนคนไหนลงเล่น แม้จะมีคนคัดค้านมากมาย แต่ครัฟฟ์ยืนยันว่า นี่คือทิศทางที่สโมสรจะเดินหน้าต่อไป ใช้เทคนิคก่อนกำลัง"
โอริโอล โดเมอเน็ค นักข่าวจากมุนโด้ เดปอร์ติโบ ที่ครั้งหนึ่งเคยเล่นในลามาเซีย ยุคที่ครัฟฟ์เป็นผู้จัดการทีมกล่าวว่า "การเข้ามาของโยฮัน ครัฟฟ์ ทำให้นักเตะตัวเล็กๆมีโอกาสขึ้นชั้นทีมชุดใหญ่ ถ้าไม่มีเขา นักเตะแบบชาบี เอร์นันเดซ, อันเดรส อิเนียสต้า หรือ ติอาโก้ อัลกันตาร่า คงไม่มีโอกาสแจ้งเกิดในวงการนี้"
3) เกมฟุตบอลที่สวยงามคือ คือหัวใจของบาร์เซโลน่า
ในช่วงที่เป็นนักเตะ ตอนครัฟฟ์ย้ายมาอยู่บาร์เซโลน่า เป็นยุคที่นายพลฟรังโก้ มีอำนาจเผด็จการ และใช้อำนาจยึดครองคาตาลันอยู่
1
นายพลฟรังโก้ พยายามกดอัตลักษณ์ของชาวคาตาลันเอาไว้ และบีบบังคับให้ทำทุกอย่างเหมือนคนสเปนในภูมิภาคอื่นๆ มีการบังคับห้ามใช้ภาษาคาตาลัน แต่ต้องใช้ภาษาทางการของสเปนเท่านั้น จนเมื่อนายพลฟรังโก้เสียชีวิตในปี 1975 สถานการณ์ก็เบาบางลง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความรู้สึกแบ่งพรรคแบ่งพวก ระหว่างคาตาลัน กับแผ่นดินสเปน ยังคงมีอยู่ชัดเจน
"ผมเคยอยู่ที่นี่ในยุคเผด็จการของนายพลฟรังโก้ ดังนั้นผมเข้าใจดีว่าคนคาตาลันรู้สึกอย่างไร" ครัฟฟ์กล่าว
สิ่งที่คนคาตาลันต้องการมากที่สุดจากทีมบาร์เซโลน่า ไม่ใช่ผลการแข่งขัน ใช่ ชัยชนะก็สำคัญ แต่สิ่งที่มีความหมายมากกว่า คือการได้แสดงอัตลักษณ์ หรือตัวตนของบาร์เซโลน่าออกไปให้ทุกคนได้รู้ต่างหาก
ครัฟฟ์เอาเรื่องนี้มาตีโจทย์ว่าเกมฟุตบอลของเขา ควรจะเป็นอย่างไรกันแน่ เขามองดูว่าในขณะที่เรอัล มาดริด ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของประเทศสเปน มีอัตลักษณ์คือการเดินหน้าสู่ชัยชนะเท่านั้น
เรอัล มาดริด ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเกมต้องสวย หรือครองบอลมากกว่าคู่แข่ง แต่สิ่งที่แฟนบอลเรอัล มาดริดต้องการคือชัยชนะและตำแหน่งแชมป์ เกมจะสวยหรือไม่ ไม่เป็นไร จะใช้นักเตะคนเดียวแหวกกองหลังคู่แข่งเข้าไปยิงก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งสำคัญคือบทสรุปทีมต้องชนะ
ครัฟฟ์ไม่ได้คิดแบบนั้น ครัฟฟ์มองว่าบาร์เซโลน่าเป็นเมืองอันสวยงาม ที่นี่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมในประเทศยุโรป ประชาชนในเมืองรู้สึกภาคภูมิใจกับศิลปะอันวิจิตรจากอันโตนี่ เกาดี้ ศิลปินอัจฉริยะ คือทุกอย่างของบาร์เซโลน่ามันสวยไปหมด
ดังนั้นทำไมเกมฟุตบอลของบาร์เซโลน่า ไม่ดึงเอาความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองออกมาใช้ล่ะ เขาคิดว่า ถ้าหากสร้างบาร์เซโลน่าให้มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เป็นสโมสรที่เล่นฟุตบอลได้สวยเหมือนความงามของเมือง มันจะทำให้แฟนบอลรู้สึกผูกพันกับทีมมากขึ้น และเมื่อทุกอย่างลงตัว ชัยชนะจะตามมาทีหลังเอง
จากในอดีตที่บาร์เซโลน่าไม่มีแนวทางการเล่นชัดเจน แต่เมื่อครัฟฟ์เข้าไป เขาสร้างบาร์เซโลน่าให้เล่นฟุตบอลเกมรุก ให้เล่นเกมฟุตบอลที่สวยงาม แค่ชนะอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องชนะในวิถีทางของสโมสรด้วย
คอนเซ็ปต์ 3 อย่างของครัฟฟ์ ได้เปลี่ยนแปลงบาร์เซโลน่าไปตลอดกาล
- นักเตะของบาร์เซโลน่าต้องฉลาด เมื่อแผนเปลี่ยน ต้องเล่นตามแผนใหม่ได้ นักเตะประเภทแข็งทื่อทำเป็นอย่างเดียว ไม่มีส่วนร่วมใดๆกับเพื่อน แบบนี้ครัฟฟ์ไม่ต้องการ แม้แต่กองหลังก็ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ดูโรนัลด์ คูมัน เขาเป็นตัวรับระดับโลก แต่พอดันขึ้นมาเล่นเกมรุกก็ทำหน้าที่ได้ดี และยิงประตูได้เยอะยังกับกองหน้าเลยด้วยซ้ำ
- เมื่อมีนักเตะตัวเล็กๆถูกดันขึ้นมาจากอคาเดมี่ ครัฟฟ์ก็เลือกใช้ดาวรุ่งเหล่านั้น คนตัวเล็กข้อดีคือ จ่ายบอลเท้าสู่เท้าแม่น พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนตัวใหญ่ เพราะปะทะไปก็กระเด็น ดังนั้นนักเตะตัวเล็กจะจ่ายบอลแล้วหนี จ่ายบอลแล้วฉีกไปรอรับบอลอีกด้าน ซึ่งครัฟฟ์ก็เอาจุดนี้มาใช้ ใช้การต่อบอลสั้นในการโจมตีคู่แข่ง และยืนยันให้เยาวชนในลามาเซียได้มั่นใจว่า ต่อให้นักเตะจะตัวเล็ก แต่ถ้าเทคนิคดี ก็มีโอกาสเลื่อนมาเล่นชุดใหญ่แน่นอน
- ครัฟฟ์เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ปล่อยของเต็มที่ นักเตะอย่างโรมาริโอ, ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ, ชูลิโอ ซาลินาส หรือ ไมเคิล เลาดรู๊ป เป้าหมายคืออยากให้เกมของบาร์เซโลน่าสวยงามที่สุด ถ้านักเตะอยากโชว์ ครัฟฟ์จะไม่ห้ามปรามเลย ถ้ามั่นใจก็ทำได้เลย ยิ่งทำให้แฟนบอลได้ตะลึง และประทับใจเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น
สองปีแรกของครัฟฟ์ ทำให้บาร์เซโลน่ากระโดดจากอันดับ 6 ยุคหลุยส์ อราโกเนส มาอยู่อันดับ 2 ในซีซั่น 1988-89 และ อันดับ 3 ในฤดูกาล 1989-90
และในที่สุด เมื่อทีมทั้งหมดลงตัว ทุกคนเข้าใจแผนของครัฟฟ์ ทำให้บาร์เซโลน่า ก้าวไปสู่แชมป์ลีกได้สำเร็จในซีซั่น 1990-91 ปีที่ 3 ของครัฟฟ์กับทีม และจากนั้นมาก็ไม่มีอะไรหยุดครัฟฟ์อยู่อีก บาร์ซ่าได้แชมป์ลีกอีก 3 หนติดกัน รวมเป็นคว้าแชมป์ลีก 4 สมัยซ้อน
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรที่คว้าแชมป์ได้ติดกันถึง 4 หนขนาดนี้ ขณะที่ในยูโรเปี้ยนคัพ ที่บาร์เซโลน่ารอคอยมาตลอด ครัฟฟ์ก็พาทีมคว้าแชมป์ได้ครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร
การคว้าแชมป์ลีก 4 สมัย มันทำให้คนเชื่อมั่นว่าแนวทางของครัฟฟ์ คือแนวทางที่ถูกต้องของสโมสร กล่าวคือเมื่อก่อนบาร์เซโลน่าเล่นไม่มีอัตลักษณ์ โค้ชคนไหนมา ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามแนวทางของโค้ชใหม่ ถ้าอย่างนั้นเมื่อเห็นกันชัดๆแล้วว่า แนวทางของครัฟฟ์ถูกต้อง ทำไมไม่ยึดเส้นทางนั้นมาเป็นหัวใจหลักของสโมสรล่ะ
ครัฟฟ์ แยกทางกับบาร์เซโลน่า ในปี 1996 หลังจากมีความขัดแย้งกับประธานสโมสร และพลาดแชมป์ลีกมา 2 ปีติดกัน ซึ่งจากนั้น ครัฟฟ์ก็เลิกทำงานไปเลย ทั้งๆที่มีอายุแค่ 49 ปีเท่านั้น คือสามารถคุมทีมได้อีกเป็นสิบปีแท้ๆ แต่เขาก็ไม่สน
ครัฟฟ์พอแล้ว เขายุติแค่นี้ และบาร์ซ่าคือสโมสรสุดท้ายที่เขาทำหน้าที่ผู้จัดการทีม
แต่สิ่งที่เขาวางโครงสร้างของบาร์เซโลน่าเอาไว้ ก็ยังคงอยู่ และผู้จัดการทีมหลายๆคนต่อมา ทั้งเป๊ป กวาร์ดิโอล่า, ติโต้ วีลาโนว่า และ หลุยส์ เอ็นริเก้ ก็ล้วนยึดแนวทางของครัฟฟ์กันทั้งนั้น
"โยฮัน ครัฟฟ์ เป็นคนวาดภาพบนวิหารแห่งนี้ และโค้ชที่จะมาคุมบาร์เซโลน่า ก็มีแค่ 2 ทางเลือก คือคุณจะใช้แผนของเขาต่อ หรือ เอาแผนของเขามาประยุกต์ทำให้ดีขึ้น" เป๊ป กวาร์ดิโอล่ากล่าว
แฟนบอลบาร์เซโลน่า ไม่โอเคแน่นอน ถ้าโค้ชคนใหม่ จะโละแนวทางทั้งหมดที่ครัฟฟ์สร้างเอาไว้ เพราะในโลกฟุตบอลนั้น การที่คุณจะสร้างอัตลักษณ์อะไรบางอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อสโมสรคุณสามารถสร้างสิ่งที่ไม่เหมือนใครได้แล้ว ทำไมไม่ยึดสิ่งนั้นเอาไว้ ทำไมต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ให้สโมสรตัวเองไปเหมือนสโมสรคนอื่น
สรุปคือสิ่งที่ครัฟฟ์ ได้วางโครงสร้างให้บาร์เซโลน่าเอาไว้
1) นักเตะที่ผ่านกระบวนการของลามาเซียมาจะฉลาดมาก ดังนั้นคนเป็นโค้ชต้องฉลาดกว่านักเตะ บาร์เซโลน่าในแนวทางของครัฟฟ์ ไม่เหมือนทีมอื่น เขาจะสร้างสรรค์แผนใหม่ตลอด คือใน 1 เกมคุณอาจต้องพลิกแพลงหลายแผน
ครัฟฟ์เคยใช้มาหมดแล้วทั้ง 3-4-3 , 4-3-3 หรือ 3-5-2 ถ้าแผนไหนไม่ดีระหว่างเกม เขาก็เปลี่ยน ให้นักเตะหมุนไปตามตำแหน่งที่เขาต้องการ
ด้วยอคาเดมี่ของลา มาเซีย จะสอนให้นักเตะรับมือกับการเปลี่ยนตำแหน่งระหว่างเกมอยู่แล้ว ดังนั้นนักเตะจะสามารถปรับตัวได้ง่ายมาก ขอแค่โค้ชสั่งเท่านั้นว่าจะให้ยืนอย่างไร ซึ่งคนที่จะเป็นโค้ชบาร์ซ่านั้น ก็ต้อง แอคทีฟ และคิดแก้เกมตลอดเวลาในหัว ไม่ใช่ส่งแผน A มาต้นเกม แล้วก็ยึดมั่นมันแบบนั้นจนจบเกม ครัฟฟ์ไม่ทำแบบนั้น เช่นเดียวกับกวาร์ดิโอล่าก็ไม่เคยทำแบบนั้นด้วย
2) ฟุตบอลต้องเน้นเรื่อง Possession หรือการครองบอล ด้วยความที่นักเตะจากลา มาเซีย มีจุดเด่นที่ความเข้าใจเกมอยู่แล้ว บอลเท้าสู่เท้าของบาร์เซโลน่ารวดเร็ว งดงาม ไม่มีใครเหมือน ดังนั้นคนเป็นโค้ชก็ควรดึงเอาจุดเด่นตรงนี้ มาใส่ไว้ในทีมให้มากที่สุด
ครั้งหนึ่งอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยกล่าวสดุดีโยฮัน ครัฟฟ์ หลังแมนฯยู แพ้บาร์ซ่า 4-0 ในแชมเปี้ยนส์ลีกว่า "นี่เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของผม พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการครอบครองบอล ผมไม่เคยเข้าใจจนกระทั่งวันนี้ ผมได้รู้ว่า ในเกมยุโรปมันสำคัญแค่ไหนที่เราต้องเก็บบอลเอาไว้กับตัวให้ได้"
บาร์เซโลน่าไม่ใช่ทีมที่เล่นเคาน์เตอร์ แอทแท็ก ไม่ใช่ทีมที่เปิดบอลด้านข้างแล้วโยนให้กองหน้าโหม่ง สไตล์ฟุตบอลของที่นี่คือจ่ายแล้วเคลื่อนที่ จ่ายแล้วขยับ ถ้าหากคนที่มาเป็นโค้ชไม่คิดจะเน้น Possession Game ก็คือไม่เดินตามแนวทางของครัฟฟ์
3) ความงดงาม สำคัญกว่าชัยชนะ แค่คว้าแชมป์มันไม่พอ เพราะมันไม่ได้แสดงความเป็นตัวตนของบาร์เซโลน่าออกมาเลย คือถ้าแค่คว้าแชมป์ด้วยศักยภาพของนักเตะ มันก็ไม่ต่างอะไรกับเรอัล มาดริด ที่มีเป้าหมายสำคัญสุดคือโทรฟี่ แต่บาร์เซโลน่า ต้องเล่นฟุตบอลสวยด้วย นักเตะต้องมีโอกาสได้โชว์ของ และทีมต้องมีโอกาสได้โชว์ทักษะทีมเวิร์ค
1
นี่เป็นแนวทางของโยฮัน ครัฟฟ์ ที่เขาวางโครงสร้างเอาไว้ ตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งมาจนถึงปัจจุบันแม้ครัฟฟ์จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่มันก็ยังคงอยู่
จริงๆประเด็นนี้ก็เกิดคำถามขึ้นเช่นกันว่า บาร์เซโลน่ายังจำเป็นต้องเดินตามแนวทางของครัฟฟ์จริงๆหรือไม่
ฝ่ายที่สนับสนุนก็บอกว่า การเล่นฟุตบอลสวยงาม และเข้าใจความเป็นบาร์เซโลน่าไม่ดีตรงไหน และที่ผ่านมาโค้ชที่ตามรอยของครัฟฟ์ ก็พาทีมไปถึงแชมป์ยุโรปได้ทั้งนั้น อย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่า หรือหลุยส์ เอ็นริเก้ คือถ้าไม่มีครัฟฟ์วันนั้น บาร์เซโลน่าจะอยู่ตรงไหนของแผนที่ฟุตบอลยุโรปก็ยังไม่รู้
แต่ก็มีฝ่ายที่ต่อต้านเช่นกัน ว่าการคาดหวังให้บาร์เซโลน่าต้องเล่นฟุตบอลแบบครัฟฟ์ มันเป็นการปิดกั้นโอกาสของโค้ชที่จะเข้ามาทำงานคนใหม่ คือจะรู้ได้ไง ว่าวิธีที่โค้ชคนใหม่สร้างขึ้น อาจทำทีมประสบความสำเร็จยิ่งกว่ายุคครัฟฟ์ก็ได้ นอกจากนั้น พอมีครัฟฟ์เป็นเกณฑ์ ก็ทำให้ใครก็ตามที่มาคุมบาร์ซ่ามีแต่ความกดดันเพราะต่อให้ได้แชมป์แต่เล่นไม่สวย ก็โดนไล่ออกได้เหมือนกัน คล้ายๆอย่างเคสของ เอร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ เป็นต้น
เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นว่า แล้วสุดท้ายบาร์เซโลน่า ควรเดินตามทางของครัฟฟ์ต่อไปอีกหรือเปล่า และโค้ชคนใหม่จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเป็น Cruyff's disciple หรือผู้บูชาแนวทางครัฟฟ์ ถ้าแบบนี้สมมุติ โค้ชเก่งๆอย่างเมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ หรือ เจอร์เก้น คล็อปป์ บอกว่าอยากคุมบาร์ซ่า แต่ไม่ขอเดินตามแนวทางครัฟฟ์ สโมสรจะทำอย่างไร?
เรื่องนี้เราก็ต้องดูทิศทางของบาร์เซโลน่าต่อไปในอนาคตว่า จะจัดการกับ "แนวทางของครัฟฟ์" แบบไหน จะสนับสนุนต่อหรือจะบอกว่าพอได้แล้ว
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราเห็นอีกอย่างก็คือ ชายที่ชื่อโยฮัน ครัฟฟ์นี่ช่างสุดยอดจริงๆ
แม้เขาจะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่สิ่งที่เขาสร้างเอาไว้ มันยังทำให้ผู้คนต้องมาถกเถียงกันจนถึงวันนี้
#Cruyff
1
โฆษณา